ธีรดา มูลศิริ | Editorial Manager | 14 June 2018
แอร์แขก
พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินของสายการบินในตะวันออกกลาง ประสบการณ์ 6 ปี
“จริงๆ แล้วเป็นเรื่องดีนะที่คนเลือกเสพด้านดี ด้านบวกของอาชีพเรา ถึงคนจะมองว่าอาชีพเราได้ Benefit ดี เดินลากกระเป๋าไปบินสวยๆ ได้ตั๋วฟรี ได้นอนโรงแรมฟรี แต่ความจริงแล้วภายใต้การทำงานก็มีความยากลำบากเหมือนกัน อย่างสายการบินที่เราทำงานอยู่ตอนนี้มีลูกเรือกว่า 100 สัญชาติจากทั่วโลก เราต้องทำงานกับคนหลายเชื้อชาติ ร้อยพ่อพันแม่ ถูกเลี้ยงดูและเติบโตมาในวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนกัน เลยเป็นเรื่องง่ายมากๆ ที่จะเกิดความขัดแย้งขึ้นตอนทำงาน On Board ตัวเราเองต้องมีสติในการทำงาน หลีกเลี่ยง และพยายามให้เกิดความขัดแย้งน้อยที่สุด
“เรื่องสุขภาพร่างกายก็เริ่มมีปัญหา เราใส่ส้นสูงตลอดทำให้ปวดเท้า ตอนเข็น Cart หนักๆ ในชั้นประหยัดก็ทำให้ปวดหลัง พอได้เลื่อนไปเสิร์ฟในชั้นธุรกิจ ถือถาดหนักๆ ก็ทำให้ปวดข้อมือ
“เรื่องเที่ยวเราได้เที่ยวก็จริง แต่อย่างไฟลต์บินไปอเมริกา 15 ชั่วโมง เราต้องคอยดูแลผู้โดยสารตลอด ต้องยืน ต้องเดินไปเดินมาตลอดเวลา ได้แปะมือกับเพื่อนร่วมงานเพื่อไปนอนพักแค่ 4 ชั่วโมง พอแลนด์แล้วบางทีก็ Layover คืนเดียว ถึงจะออกไปเที่ยวได้ก็ต้องออกไปทั้งๆ ที่ร่างกายมันเหนื่อย มันเพลีย ต้องแบกรับให้ไหว แต่ยังไงเราก็รักอาชีพนี้ ชอบทำ และมีความสุขกับการทำงานในทุกๆ วัน ถ้าเลือกได้ก็จะยังเลือกทำงานกับสายการบินเช่นเคย”
What’s Your Companion? “เราจะพกกล้องถ่ายรูปไปด้วยทุกครั้ง เพราะคิดว่าตัวเองมีโอกาสได้ไปเห็นสิ่งสวยๆ ทั่วโลก เลยอยากเก็บไว้เป็นความทรงจำ แล้วอีกอย่างเพจของเราแชร์ทั้งเรื่องชีวิตของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินและเรื่องท่องเที่ยวไปด้วยในตัว เราก็อยากให้ทุกคนได้เห็นในสิ่งที่เราเห็น ได้เห็นว่าโลกนี้มันสวยนะ มันแตกต่างนะ ซึ่งภาพถ่ายนี่แหละถ่ายทอดเรื่องราวได้ดีที่สุด” - แอร์แขก (พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน)
“ถ้าไปเที่ยวเองก็จะไม่พกอะไร ไม่ติดอะไรเลย ทิ้งตัวมาก แล้วตั้งใจดื่มด่ำทุกอย่างของโรงแรมให้มากที่สุด” - สุนิสา พลสิทธิ์ (พีอาร์โรงแรม)
สุนิสา พลสิทธิ์ (จูบี้)
Communications Manager, Delivering Asia Communications ประสบการณ์ 13 ปี
“เราทำงานพีอาร์ให้กับหลายๆ โรงแรมทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย ข้อดีก็คงอย่างที่ใครๆ อิจฉาคือได้เดินทางท่องเที่ยวตลอด ได้ทำงานท่ามกลางบรรยากาศที่ดี ทะเล ภูเขา แม่น้ำลำธาร ได้นอนโรงแรมดีๆ กินอาหารดีๆ มีรูปให้เช็กอินสวยๆ แต่รูปที่เห็นสวยๆ ความจริงเป็นแค่เสี้ยวนาทีของทั้งทริปที่ว่างมาทำอะไรแบบนั้น เพราะทุกครั้งที่ไปทำงานออกทริปจะวุ่นวายมากๆ แทบไม่มีเวลาเป็นของตัวเอง ข้าวของ เตียงนอนนุ่มๆ ในโรงแรมไม่เคยได้ดื่มด่ำ บางทริปเรียกได้ว่าผ้าปูที่นอนเรียบกริบ ไม่ได้นอน อยู่นอกห้องตลอด ต้องคอยประสานงานโน่นนี่เพื่อความเรียบร้อยของทริป
“เริ่มตั้งแต่ก้าวแรกที่นักข่าวมาถึงโรงแรม ต้องดูแลการเช็กอิน คนไหนอยู่ห้องไหน ชั้นอะไร ต้องการเตียงคู่หรือเตียงเดี่ยว รับประทานอาหารอะไรได้บ้าง แพ้อะไรบ้าง ใครถูกกับใคร ไม่ถูกกับใคร ต้องวางแผนการทำกิจกรรมที่ต้องทำร่วมกันให้ดีๆ ไม่ให้เกิดข้อพิพาท ต้องมีการประชุมงาน สำรวจพื้นที่ สแตนด์บายก่อนการทำกิจกรรม ไหนจะงานเอนเตอร์เทนสื่อมวลชน บางทีถึงตีห้า (จนได้ฉายาว่า จูบี้ตีห้า) นักข่าวบางคนกลัวผี กลัวจิ้งจก กลัวบลา บลา บลา ต้องหอบข้าวของไปนอนเป็นเพื่อนก็มี
“บางทีก็ต้องไปตามล่าหารูปภาพ หาข้อมูลที่นักข่าวต้องการมาให้ได้ เช่น ‘พี่อยากได้ภาพกิจกรรมทางทะเล เอาตอนนี้ (ตอนเที่ยง) ส่งข่าวก่อนบ่ายสอง’ เราก็ต้องตาลีตาเหลือก ตากแดดแผดเผาไปว่ายน้ำ พายเรือแคนู ตะเกียกตะกายปีนเซิร์ฟบอร์ดอยู่ในทะเล อะไรก็ว่ากันไปกลางแดดเปรี้ยง เพื่อให้ได้ภาพมาให้ทันเวลา เคยมียากสุดคืออยากได้ภาพปะการังใต้น้ำ เอาเดี๋ยวนี้!”
What’s Your Companion?
“ถ้าเป็นทริปทำงาน สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือ แบตเตอรี่สำรอง หรือ Power Bank เนี่ยแหละ ต้องพกติดตัวตลอดเวลา โทรศัพท์มือถือรุ่นไหนที่ว่าแบตทนๆ แล้วยังต้องแพ้ให้กับงานพีอาร์ เพราะเราต้องติดต่อสื่อสาร ประสานงานตลอดเวลา ถ่ายรูป ส่งเมล พิมพ์ข่าว หาข้อมูลอะไรต่อมิอะไรก็ทำในมือถือหมด เราต้องเดินไปตรงนั้นตรงนี้ ไม่ได้อยู่ในห้องหรือนั่งชาร์จแบตนิ่งๆ เลยต้องพกไว้ตลอด เคยแบตหมดอยู่ครั้งหนึ่งประมาณ 30 นาที แล้วลืมเอาแบตเตอรี่สำรองมา โอ้โห เปิดมาอีกที 20 กว่ามิสคอล
“แต่ถ้าไปเที่ยวเองก็จะไม่พกอะไร ไม่ติดอะไรเลย ทิ้งตัวมาก แล้วตั้งใจดื่มด่ำทุกอย่างของโรงแรมให้มากที่สุด เหมือนเก็บกดที่ตอนทำงานไม่ได้ใช้ ก็จะลองใช้ Amenities ในห้องทุกอย่าง ใช้บริการ Facilities ของโรงแรม โดยเฉพาะเตียงอาบแดดหน้าชายหาดกับ Pool Bar ใฝ่ฝันมากว่าจะได้อยู่ตรงนั้นทั้งวันโดยไม่ทำอะไรเลยค่ะ”
วชิรา พงศ์พยัคฆ์
มัคคุเทศก์ ประสบการณ์นำเที่ยวกว่า 10 ปี
“ก่อนอื่นเราต้องแบ่งภาระงานของมัคคุเทศก์มืออาชีพเป็น 2 ประเภท ประเภทแรกคือทำงานในประเทศ ต้อนรับต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวในประเทศไทย หรือพาคนไทยเที่ยวในประเทศ หน้าที่ของไกด์ไม่ใช่แค่เล่าประวัติศาสตร์ในอดีต เพราะเดี๋ยวนี้ต่างชาติเขาอ่านประวัติศาสตร์ เปิดวิกิพีเดีย หาข้อมูลมาก่อนทั้งนั้น เพราะฉะนั้นไกด์ต้องสามารถบอกได้ด้วยว่าสิ่งที่หลงเหลืออยู่คืออะไร สามารถโต้ตอบได้เมื่อเขาตั้งคำถาม หมายความว่าเราต้องทำการบ้าน ต้องอ่านให้เยอะขึ้น ต้องคิดนอกกรอบให้เป็น
“นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเป็นรอบที่ 2, 3 หรือ 4 ขึ้นไปเขาก็ไม่อยากไปวัด วังซ้ำๆ แล้ว เราที่รับหน้าที่มัคคุเทศก์ต้องรู้จัก Create สร้างสรรค์เส้นทางและประสบการณ์ใหม่ๆ ที่แตกต่างออกไปเพื่อมอบให้กับเขา ใครที่เป็นมัคคุเทศน์มานานจนชำนาญก็อาจนำทัวร์เฉพาะเส้นทาง Unseen หรือ Indy ไปเลยก็มี
“ภาระงานอีกประเภทคือหน้าที่ Tour Leader เมื่อพาลูกทัวร์คนไทยไปต่างประเทศ เราต้องเข้าใจหรืออย่างน้อยๆ ก็สื่อสารกับคนท้องถิ่นได้ คอยชี้แนะและแทรกเสริมความรู้ให้กับลูกทัวร์ของเรา (ในกรณีที่หัวหน้าทัวร์ท้องถิ่นดูแลไม่ทั่วถึง) อะไรอยู่ที่ไหนเราต้องรู้ ร้านนู้นอยู่ตรงนี้ ร้านนั้นอยู่ตรงโน้น ชอปปิงที่ไหน ปลั๊กใช้ยังไง ก๊อกน้ำเปิดยังไง เราต้องรู้ บางครั้งลูกทัวร์เปิดกระเป๋าไม่ได้ จำรหัสไม่ได้ เราก็ต้องช่วยแก้ปัญหา เหมือนเป็นพหูสูตในต่างแดนอย่างไรอย่างนั้น พอส่งลูกทัวร์เข้านอนแล้วก็ยังต้องเช็ก ต้องคอนเฟิร์ม ต้องประสานงาน เพื่อเตรียมการในวันต่อไป”
What’s Your Companion?
“เราจะมีกระเป๋า 2 ใบติดตัวไปทุกครั้ง ใบแรกเป็นพวกแก็ดเจ็ต มีมีดพับ ปลั๊กต่อพ่วง สายต่อกล้อง ไฟฉาย อะไรก็ว่าไป ส่วนอีกใบคือล่วมยา จัดยาจำเป็นไปด้วย เพราะร้านขายยาในต่างประเทศจะไม่จ่ายยาโดยไม่มีใบสั่งยาจากแพทย์ แต่เรารู้ตัวว่าถ้าป่วยเล็กๆ น้อยๆ เท่านี้กินยาประมาณไหนก็ทุเลา บางทีลูกทัวร์ป่วยก็ต้องเข้าไปดูแล เช่น ปวดเมื่อย โดนฝนเป็นไข้ ยาบางตัวก็พกไปเองได้ และเราเป็นมัคคุเทศก์ ตัวเราต้องห้ามป่วย ดังนั้นจึงจำเป็นมากๆ ที่ต้องรักษาสุขภาพตัวเอง เพราะคนทั้งกลุ่มฝากความสนุกไว้ที่เรา”