×

รวม 5 ทริกเข้ามิวเซียมอย่างไรให้คุ้มค่ามากที่สุดในปฐพี

ธีรดา มูลศิริ | Editorial Manager | 19 September 2018

ไปให้สุดแล้วอย่าหยุดที่หน้าประตูมิวเซียม! เราเชื่อว่าพิพิธภัณฑ์ หรือที่เรียกติดปากกันว่า มิวเซียม (Museum) ต้องเป็นจุดหมายที่คนส่วนใหญ่ปักหมุดไว้ไปเยี่ยมเยือนอย่างน้อยๆ ก็ 1-2 แห่งแน่ๆ โดยเฉพาะทริปเที่ยวประเทศหรือเมืองที่ไม่เคยไปมาก่อน หนึ่งในทางลัดที่ทำให้รู้จักเมืองนั้นได้มากขึ้นก็คือการเรียนรู้ผ่านพิพิธภัณฑ์นี่แหละ

มิวเซียมดังๆ ระดับโลกต่างก็มีค่าผ่านประตูเพื่อเข้าชมคอลเล็กชันเด็ดๆ กันทั้งนั้น เช่น Metropolitan Museum of Art ที่นิวยอร์กเก็บค่าเข้า 25 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ Musée d’Orsay ที่ปารีสก็เก็บค่าเข้า 14 ยูโร บางทีมีบุญบินไปถึงแต่กรรมมาบังให้ต้องรัดเข็มขัด ประหยัดเงินสุดฤทธิ์สุดเดช จนต้องตัดบัดเจตแล้วเดินตาละห้อยอยู่หน้าประตูมิวเซียม เอ๊ะ...ถ้าฟังแล้วเกิดอาการเดจาวูฉับพลันเหมือนสถานการณ์นี้เกิดขึ้นกับฉันมาก่อน จงตั้งสติและปาดน้ำตาให้แห้ง เพราะเพื่อนเดินทางได้รวบรวม 5 ทริกดีๆ ในการเข้ามิวเซียมฟรี (หรือจ่ายน้อยมากๆ) มาให้แล้ว


1. เลือกไปมิวเซียมในวัน Free Day
ข้อดี: ได้เข้าฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ
ข้อเสีย: ต้องเบียดเสียดกับมวลมหาประชาชนมากมาย

มิวเซียมบางแห่งคืนกำไรสู่สังคมด้วยการเปิดประตูให้เข้าชมฟรีๆ ในวันที่กำหนด บางที่อาจมีสัปดาห์ละครั้ง เดือนละครั้ง เช่น Musée d’Orsay ที่ปารีสเปิดให้ทุกคนเข้าฟรีในวันอาทิตย์แรกของเดือน และ Museu Berardo ที่ลิสบอนเปิดให้เข้าฟรีทุกวันเสาร์ หรือแม้กระทั่งตามโอกาสสำคัญๆ อย่างวันชาติ หรือวันพิพิธภัณฑ์สากล เป็นต้น อย่างไรก็ตามจงทำใจไว้เลยว่าคนเยอะแน่ๆ และอาจจะไม่ได้เดินชมอย่างสงบเท่าไรนัก
 

2. เลือกไปมิวเซียมในช่วงเย็น
ข้อดี: ได้เข้าฟรี หรือมีส่วนลดค่าเข้าชม 
ข้อเสีย: คิวยาวเป็นหางว่าว กว่าจะได้เข้าก็เหลือเวลาเดินชมน้อยเต็มที

นักท่องเที่ยวอย่างเราๆ มักไปมิวเซียมกันในช่วงเช้าและบ่าย เพราะจะได้ไปดื่มด่ำกับมื้อค่ำและแสงสีต่อในช่วงเย็น แต่ขอบอกว่าช่วงเย็นนี่แหละคือ Golden Hour ที่แท้จริงสำหรับคนที่อยากเข้าชมพิพิธภัณฑ์แบบประหยัด เพราะมิวเซียมหลายแห่งทั่วโลกมีข้อเสนอพิเศษมาล่อใจ เช่น Museo Nacional del Prado ที่มาดริดเปิดให้เข้าฟรีทุกวันหลัง 18.00 น. วันเสาร์-อาทิตย์ขยับขึ้นมาเป็น 17.00 น.

มิวเซียมหลายแห่งในนิวยอร์ก เช่น Museum of Modern Art หรือ MoMA ก็เปิดให้เข้าฟรีทุกวันศุกร์ในช่วง 16.00-18.00 น. National September 11 Memorial & Museum ก็เปิดให้เข้าฟรีทุกวันอังคาร เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป รวมถึง Brooklyn Museum ก็เปิดให้เข้าฟรีทุกวันเสาร์แรกของเดือนในช่วง 17.00-23.00 น. เป็นต้น
 

ถ้าคิดจะไปช่วงเข้าฟรีตอนเย็น จงเตรียมใจต่อคิวยาวเหยียด (เราเคยต่อคิวที่มาดริดเป็นชั่วโมงมาแล้วจ้า) และพอเข้าไปแล้วอาจต้องทำตัวชะโงกหน้าทัวร์นิดหนึ่ง เพราะมิวเซียมบางแห่งอาจใกล้เวลาปิดแล้ว

จากซ้ายไปขวา: International Student Identity Card (ISIC) และ Muse Pass

3. ใช้บัตรนักเรียน-นักศึกษาให้เป็นประโยชน์
ข้อดี: ได้เข้าฟรี หรือมีส่วนลดค่าเข้าชม 
ข้อเสีย: บางที่ต้องใส่เครื่องแบบไปด้วย

ขึ้นชื่อว่าเป็นมิวเซียมก็ต้องมีจุดประสงค์เพื่อการศึกษาอยู่แล้ว เราขอยืนยันว่าช่วงเวลาที่ยังมีสถานะเป็นนักเรียน-นักศึกษาอยู่นี่แหละหอมหวานที่สุด เพราะไม่ว่ามิวเซียมไหนๆ ในโลกต่างก็มี Student Discount ให้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นส่วนลดตามเปอร์เซ็นต์ ส่วนลดครึ่งราคา หรือดีไม่ดีก็ได้ดูฟรีไปเลย รู้แบบนี้แล้วน้องๆ ทั้งหลายจงพกบัตรนิสิตติดตัวไว้ตลอดนะ เชื่อเถอะว่ามีประโยชน์แน่นอนตอนไปเที่ยว อย่าลืมเช็กไปก่อนด้วยว่าแต่ละที่มีข้อกำหนดให้ใส่เครื่องแบบไปหรือไม่ (จริงๆ ต่างประเทศเขาไม่ค่อยซีเรียสกันหรอก มีแต่ที่ในประเทศไทยเท่านั้นแหละที่เราเคยเจอ)

นอกจากนี้เราอยากแนะนำให้น้องๆ นักเรียน-นักศึกษาไปทำบัตร International Student Identity Card หรือ ISIC เอาไว้ด้วย เพราะบัตรนี้มีส่วนลดครอบจักรวาลให้สมาชิกใช้ได้ทั่วโลก ไม่ว่าเป็นมิวเซียม คอร์สเรียนระยะสั้น เว็บไซต์จองตั๋วเครื่องบินและที่พัก ร้านค้าต่างๆ ฯลฯ สมัครสมาชิกเพียง 400 บาทที่เว็บไซต์ www.isic.org หรือไปสมัครด้วยตนเองผ่านตัวแทนอย่างเป็นทางการ STA Travel ได้ทั้งที่กรุงเทพฯ และเชียงใหม่ บัตรมีอายุประมาณ 16 เดือน
 

4. บัตรเครดิตและธนาคาร (บางเจ้า) ก็ช่วยได้
ข้อดี: ได้เข้าฟรีถ้าถือบัตรนั้นๆ
ข้อเสีย: มักจะมีเฉพาะเจ้าใหญ่ๆ เท่านั้น และจำกัดวัน-เวลาในการเข้าชม

ถ้าอายุเกินเลยวัยเรียนมาเสียแล้ว บัตรเครดิตหรือบัตรธนาคารที่ถืออยู่ก็มีประโยชน์เช่นกัน เช่น ผู้ถือบัตรเครดิต Mastercard สามารถเข้าชมนิทรรศการถาวรของ Museo Thyssen-Bornemisza ที่มาดริดได้ฟรีทุกวันจันทร์ตลอดทั้งปี รวมถึงผู้ถือบัตรเดบิต/เครดิตของ Bank of America ก็สามารถเข้าชมมิวเซียมทั่วสหรัฐอเมริกาได้ฟรีในวันเสาร์-อาทิตย์แรกของทุกเดือน ใครที่กำลังจะไป Work & Travel หรืออาศัยอยู่ที่อเมริกาอยู่แล้วนี่โชคดีสุดๆ ไปเลย


5. ลงทุนซื้อมิวเซียมพาสไปเลย
ข้อดี: เสียเงินครั้งเดียวได้เที่ยวทุกมิวเซียม
ข้อเสีย: ถ้าไม่ตั้งใจเที่ยวมิวเซียมจริงจังอาจจะไม่คุ้มราคา

ถ้ารู้ตัวว่ามีความสุขกับการเยี่ยมชมมิวเซียมและถลำลึกเข้ามาในเส้นทางสายพิพิธภัณฑ์เรียบร้อยแล้ว จงลงทุนซื้อ Museum Pass ไปเลยให้รู้แล้วรู้รอด บัตรพาสส่วนใหญ่จะจัดกลุ่มมาให้ตามเมือง เช่น Paris Museum Pass, Museum Pass Berlin, Museum Istanbul อีกประเภทคือครอบคลุมทั้งประเทศไปเลยอย่าง Muse Pass ของไทยเราเอง ราคาเพียง 299 บาท เที่ยวได้ 63 พิพิธภัณฑ์ทั่วไทยตลอด 1 ปีนับจากวันที่ซื้อ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.museumthailand.com/musepass.php) ยังไงก็พึงระลึกไว้ด้วยว่าพาสอื่นๆ ไม่ได้ราคาสบายกระเป๋าเหมือนของไทย ถ้าไม่วางแผนดีๆ อาจเที่ยวไม่คุ้มเสียก็เป็นได้

สุดท้ายนี้ถ้าดวงไม่สมพงศ์กับทริกเหล่านี้จริงๆ ยังมีมิวเซียมดีๆ อีกมากมายที่เปิดให้เข้าชมฟรีแบบไม่มีข้อผูกมัดใดๆ ตั้งแต่มิวเซียมใหญ่ระดับโลกอย่าง The British Museum และ The National Gallery, London ที่กรุงลอนดอน, The Smithsonian Institution ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และ National Museum of China ที่กรุงปักกิ่ง ไปจนถึงมิวเซียมเอกชนอย่าง The Getty Center ที่ลอสแอนเจลิส เป็นต้น