
ย้อนอดีตจักรวรรดิรัสเซียโบราณ บนเส้นทาง “วงแหวนทองคำ”
อรุณี ชูบุญราษฎร์ | writer | 09 December 2018
อรุณี ชูบุญราษฎร์ | writer | 09 December 2018
เมื่อพูดถึงรัสเซีย เมืองที่อยู่ในลิสต์ของนักเดินทางท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่ต้องไปคือมอสโกกับเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก สองเมืองใหญ่ที่มีจุดท่องเที่ยวมากมายจนต้องใช้เวลาเที่ยวหลายวันกว่าจะครบ แต่สำหรับคนที่มีเวลาขอแนะนำว่าให้ลองเพิ่มจุดหมายของการเดินทางเข้าไปอีกเมือง เป็นเมืองเล็กๆ ในเส้นทางวงแหวนทองคำ (Golden Ring) ที่มีความสำคัญมาแต่อดีต เพราะวงแหวนทองคำเป็นเส้นทางการค้าโบราณที่เก่าแก่ที่สุดสายหนึ่งของจักรวรรดิรัสเซียโบราณ สามารถเดินทางด้วยรถไฟได้
ทริปรัสเซียของฉันเป็นการมากับคณะอาศรมสัญจรที่เน้นเรื่องราวของประวัติศาสตร์เป็นหลัก เส้นทางการเดินทางของเราจึงซอกแซกไปตามเมืองเล็กๆ มากกว่าใช้เวลาในเมืองใหญ่ โดยเมืองแรกที่ปักหมุดกันเมื่อไปถึงรัสเซียคือเมืองเซอร์กิเยฟโปซาด (Sergiev Posad) ซึ่งชื่อเมืองเคยถูกเปลี่ยนเป็น “ซากอสก์ (Zagorsk)” อยู่ช่วงหนึ่งเพราะต้องการตั้งเป็นเกียรติแก่ วลาดิมีร์ มิคาอิโลวิช ซากอร์สกี (Vladimir Mikhailovich Zagorsky) สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ที่เป็นชาวเมืองนี้โดยกำเนิดและไปมีบทบาทสำคัญในแวดวงการเมือง ที่นี่เป็นหนึ่งในเมืองแห่งเส้นทางวงแหวนทองคำที่เจริญมาก่อนมอสโกเสียอีก แต่มีความสำคัญยังไงเดี๋ยวมาว่ากัน ตอนนี้มาทำความรู้จักคำว่าวงแหวนทองคำก่อน
ถ้าจะให้เข้าใจง่ายๆ ก็เหมือน เส้นทางสายไหม แต่เส้นทางนี้ใช้เรียกเส้นทางค้าขายเก่าแก่ที่ตัดผ่านกลุ่มเมืองโบราณและหมู่บ้านน้อยใหญ่ที่อยู่รายรอบมอสโก เป็นประตูที่เชื่อมยุโรปตะวันตก จักรวรรดิไบแซนไทน์ และเอเชียกลางเข้าด้วยกัน นอกจากนี้วงแหวนทองคำยังเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายแพรไหม สายทุ่งหญ้าที่ต่อไปยังประเทศจีนอีกด้วย
เซอร์กิเยฟโปซาดอยู่ห่างจากมอสโกไปทางตะวันออกของเมืองเพียง 70 กิโลเมตร นั่งรถไปไม่นาน มีเวลาค้นหาประวัติศาสตร์อ่านเป็นการปูพื้นไปก่อน ความน่าสนใจของเซอร์กิเยฟโปซาดในปัจจุบันคือเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีความโดดเด่นด้านสถาปัตยกรรมเกี่ยวเนื่องกับศาสนาซึ่งสร้างมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 15-18 ที่นี่ถือเป็นศูนย์กลางแห่งการแสวงบุญของคริสตจักรนิกายรัสเซียออร์ทอดอกซ์ที่สำคัญที่สุดของจักรวรรดิรัสเซียโบราณ เพราะเมืองนี้เป็นที่ตั้งของมหาวิหารพระตรีเอกานุภาพ (Trinity Cathedral) สถานที่ฝังศพนักบุญเซอร์เจียส
เมื่อเสิร์ชข้อมูลจะเห็นภาพที่เป็นนางเอกของเมืองซึ่งใครๆ ก็มุ่งไปยลโฉม คือ กลุ่มสถาปัตยกรรมของทรินิตี เซอร์จิอุส ลาฟรา (Trinity Sergius Lavra) ฉันเองเห็นรูปแล้วก็อยากไปเห็นด้วยตามาก คำว่า ลาฟรา (Lavra) เป็นคำห้อยท้ายที่บอกอันดับตำแหน่งของอาราม และลาฟราคือขั้นสูงสุด ซึ่งในรัสเซียมีอยู่เพียง 4 แห่ง ด้วยความที่หมู่อารามออร์ทอดอกซ์ของที่นี่เป็นหนึ่งในโบสถ์ที่สวยที่สุดในรัสเซีย จึงได้รับการคัดเลือกจากองค์การยูเนสโกให้เป็นมรดกโลกในปี 1993
เมื่อรถบัสของคณะเราแล่นเข้าสู่เขตเมือง ทุกคนตื่นตาตื่นใจมากเมื่อมองเห็นยอดโดมสีฟ้าทองสลับลดหลั่นกันไปอยู่ไม่ไกล แต่ที่ทำเอาเราตื่นกว่าคือมหาชนทั้งเหล่าคริสต์ศาสนิกชนและที่ไม่ใช่ ซึ่งหลั่งไหลมาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์และมาชมความงามของศาสนจักรนี้ ช่วงนี้คงเป็นเวลาที่รถบัสมาจอดส่งนักท่องเที่ยว นอกจากรถใหญ่นับสิบคันที่ทำให้การจราจรติดขัดแล้วมหาชนก็ทำให้การเคลื่อนตัวเข้าสู่พระอารามไม่สะดวกเช่นกัน จึงขอแนะนำว่าถ้าเลือกได้น่าจะมาช่วงใกล้เที่ยงหรือบ่ายเลยจะดีกว่า เพราะทัวร์จะกลับออกมาเกือบหมดแล้ว
ที่นี่เรียกได้ว่าเป็นศาสนจักรเพราะมีพื้นที่ในกำแพงอารามกว้างใหญ่ ตัวอารามสร้างขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 14 เพื่อเป็นเกียรติแด่นักบุญเซนต์เซอร์เจียส (St. Sergius) คณะเรามีไกด์ประจำอารามนำเข้าชม เขาเริ่มชี้ให้ดูตั้งแต่ใต้โค้งทางเข้าสู่ธรณีสงฆ์ที่มีภาพจิตรกรรมบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมา ความเมตตาของนักบุญเซอร์เจียส เหมือนให้เราได้ทำความรู้จักกับเจ้าของบ้านก่อน
แต่ขอสารภาพว่าตอนนั้นใจฉันน่ะลอยไปอยู่บนยอดโดมสีทองและสีฟ้าโน่นแล้ว เพราะอยากรู้ว่าใต้โดมนั้นมีอะไร พอพ้นทางเดินเข้ามาเราได้เห็นความหนาแน่นของผู้คนจริงๆ มองไปทางไหนก็มีแต่คน คน และคน เรียกว่าถ่ายรูปไม่มีรูปไหนที่ไม่ติดคนอื่นเลย
ในที่สุดจุดแรกที่ไกด์นำเข้าชมคือที่เราหมายตาไว้ อาคารหินสีขาวยอดโดมสีทองขนาบด้วยสีฟ้าประดับดาวสีทองทางขวามือที่เรียกว่า The Cathedral of the Assumption ถือเป็นอาคารหลัก หัวหน้าคณะต้องเรียกลูกทัวร์ที่กำลังตื่นตาตื่นใจกับอาคารที่อยู่รอบตัวอยากวิ่งไปถ่ายรูปกันว่าใจเย็นๆ เดี๋ยวให้เวลาเก็บภาพ ตอนนี้ให้ตามเข้าเก็บข้อมูลชมไฮไลต์กันก่อน
พอเข้าไปแล้ว โอ้พระเจ้า ภายในอาคารเพดานสูงตามลักษณะของโดมนั้นอัดแน่นด้วยจิตรกรรมเขียนสีบนปูนเปียกสีสวยเป็นภาพนักบุญขนาดใหญ่ ความอร่ามเรืองของ Iconostasis หรือฉากกั้นระหว่างสวรรค์กับโลกมนุษย์ซึ่งจะมีในโบสถ์ออร์ทอดอกซ์ทุกแห่ง แชนเดอเลียร์ช่อยักษ์ตรงกลางโถง แสงจากภายนอกที่ส่องผ่านช่องหน้าต่างทางด้านขวาเข้ามากระทบผนังด้านหลังมลังเมลืองสวยงามมาก ถ้าไม่มีคนแน่นขนาดยืนตัวติดกันแบบนี้เราคงอิ่มเอมกับศาสนศิลป์นี้ได้อีกร้อยเท่าพันเท่า แต่ตอนนี้เหมือนจะขาดอากาศหายใจ ขอออกไปก่อนนะคะ
ฉันพักสายตาที่ถูกสีสันกระทบมาอย่างแรงด้วยการแหงนดูหอระฆังเก่าแก่สูงตระหง่านสีเขียวพาสเทลเย็นตา แล้วเข้ารับน้ำจากบ่อน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ลูบหัวหน่อย มีเรื่องเล่าว่าน้ำจากบ่อน้ำมนต์นี้เคยรักษาคนตาบอดให้กลับมองเห็นได้ เราเลยเห็นคนเอาขวดตั้งแต่ขวดเล็กๆ จนเป็นแกลลอนมารองน้ำกัน เช่นเดียวกับในอาคารเล็กข้างโบสถ์ที่เรียกว่าห้องสวดย่อยเหนือบ่อผุดศักดิ์สิทธิ์ (Chapel Over the Well) ก็มีบ่อน้ำผุดอยู่ในนั้น เป็นอีกจุดที่เขามาเก็บน้ำมนต์กัน
เราเดินตามไกด์ไปยังอาคารอีกด้านที่ตัวอาคารภายนอกมีสีสันและลวดลายสวยสะดุดตาเช่นเดียวกับหอตรงประตูทางเข้า อันนี้ขอบอกว่าชอบเลยเพราะสวยเหมือนงานกราฟิก แน่นอนว่าแถวเข้าชมยาวอีกแล้ว ที่นี่เรียกว่าหอฉันแห่งนักบุญเซอร์เจียส (Church of St. Sergius and Refectory) ภายในมีภาพเขียนทางศาสนาที่น่าชมเยอะเลย
คณะเราจบการเข้าชมที่อาคารสีขาวยอดโดมสีทองอร่ามซึ่งเป็นห้องสวดแห่งพระวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์ (Church of the Holy Spirit) มีแท่นบูชาประดับประดาด้วยเงินบริสุทธิ์ จุดนี้มีชาวคริสต์เข้าแถวยาวเหยียดเพื่อเข้าสักการะและจูบโลงศพของนักบุญเซอร์เจียสที่เชื่อว่าร่างของท่านไม่ได้สลายไปตามกาลเวลา
ขณะที่อยู่ในห้องสวดนี้ฉันรู้สึกว่าตัวเองตัวเล็กลงและจิตใจสงบขึ้น สิ่งที่ทำให้รู้สึกอย่างนั้นคือพลังศรัทธาอันยิ่งใหญ่ของผู้ที่ตั้งใจมาที่นี่ เสียงขับร้องบทสวดของหญิงสาวสามคนตรงมุมห้องด้านขวานั้นเพราะมากๆ เรายืนซึมซับบรรยากาศกันครู่เดียวก็ค่อยๆ ทยอยเดินออกมาอย่างสงบ เพราะไม่อยากรบกวนคนอื่น
ขอย้ำว่าถ้ามารัสเซียและอยู่ที่มอสโกแล้วมีเวลาว่างสัก 1 วัน ขอให้ใส่ชื่อเซอร์กิเยฟโปซาดไว้ในโปรแกรมด้วยเลย รับรองว่าคุณจะไม่ผิดหวังกับความตระการตาของมหาวิหารแห่งนี้แน่นอน
ปล. เส้นทางย้อนเวลาชมความยิ่งใหญ่ของรัสเซียโบราณบนเส้นทางวงแหวนทองคำยังไม่จบท่านี้ โปรดติดตามตอนที่ 2 กับอีก 2 เมืองมรดกโลกกันนะคะ