
มุ่งหน้าสู่เชียงราย สำรวจวิถีธรรมชาติกับ Coundsheck's Journey
นิตยา ชนานุกูล | writer | 17 May 2018
นิตยา ชนานุกูล | writer | 17 May 2018
Epic Trip ของแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน บางคน Epic เพราะลำบากสุด ยิ่งใหญ่สุด ไกลสุด แต่สำหรับของเรากลับเป็นทริปในประเทศใกล้ๆ ง่ายๆ แต่มันพาเราไปเจออีกโลกหนึ่ง คนอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ทำให้เราได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ที่ไม่คิดว่าจะได้คุยถึงเรื่องแบบนี้ หรือกับกลุ่มคนที่ทำสิ่งนี้
ความ Epic ที่เราเลือกมาคือทริปเชียงรายครั้งล่าสุด ซึ่งก่อนเดินทางคาดหวังแค่ว่า โอเค ไปเกี่ยวข้าวที่ตัวเองฝากชาวนาปลูกไว้กับโครงการสตาร์ตอัพอย่าง Farmto และพาเพื่อนฝรั่งที่ทำอาชีพเป็น Food Critic ไปเที่ยว แต่พอไปถึงกลับทำให้ได้เรียนรู้ถึงเรื่อง Organic Living แบบที่เราก็เซอร์ไพรส์เหมือนกัน เพราะโดยปกติไม่ค่อยอินอะไรกับธรรมชาติ แต่ทริปนี้ทำให้ได้รู้จักกับพี่ๆ กลุ่มคนที่ทำเกษตรแบบยั่งยืน กลุ่มคนที่ผลิตวัตถุดิบออร์แกนิกมีคุณภาพ เพื่อส่งต่อไปสู่การทำอาหารดีๆ ออกมาให้เรากิน
ช่วงเวลา 3 วัน 2 คืนในไร่รื่นรมย์ จังหวัดเชียงราย พี่เจ้าของพาเดินดูสวน ผัก หญ้าต่างๆ ที่ปกติแล้วเราไม่ได้ใส่ใจ ต้นกาแฟ แปลงฟักทอง ได้กินผักที่เก็บมาจากสวน กินกาแฟคั่วสดใหม่จากเครื่องคั่ว การทำสวนกับคนรุ่นใหม่นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ อย่างการเกี่ยวข้าว พวกเราเด็กวัยรุ่นสามคนเกี่ยวได้แบบด๊อกด๋อย ทำไม่ทันคุณยายที่ลงไปเกี่ยวฉึบๆ แบบชิลๆ ซึ่งทำให้รู้ว่าการเกี่ยวข้าวนี่เหนื่อยเอาเรื่องเหมือนกัน (ไม่รวมความเสี่ยงในการลื่นไปกับพื้นนาและถูกดินดูด ฮ่าๆ) นอกจากนี้เรายังได้คุยกับพี่ที่ทำไร่ชาออร์แกนิก ซึ่งเขาไม่อยากเคลมหรอกว่าเป็นออร์แกนิก 100% แต่ก็พยายามทำทุกอย่างให้ธรรมชาติที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทำให้ชาสมุนไพรของพี่เขาออกมาหอมนวล ละมุน และได้เอฟเฟกต์อย่างที่มันควรจะเป็น (เช่น กินชาที่ผสมมะตูมแล้วจะสงบ เบิกบาน ตื่นรู้)
ทริปนี้ทำให้ได้เห็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่โตกว่าพวกเรานิดเดียว ตั้งใจผลิตวัตถุดิบต่างๆ ที่เรากินด้วยความตั้งใจที่ดี ต่อให้เป็นเพียงจุดเล็กๆ แต่เรารู้สึกว่า เออ ยังมีกลุ่มคนที่โคตรแคร์เรื่องสิ่งเหล่านี้อยู่ เลยทำให้ได้รู้จักอีกวงการที่มีกลุ่มเชฟรุ่นใหม่รวมตัวกันไปแคมป์ทำอาหารที่บ้านหินลาดใน เปลี่ยนวัตถุดิบชาวเขาให้ออกมาเป็นอาหารหน้าตาดีด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น ตอนที่พี่เขาเล่าให้ฟังคือแบบ ฮะ มีอันนี้ด้วยเหรอ เจ๋งมาก
นอกจากนั้นช่วงท้ายทริปเรายังได้นัดกินข้าวกับพี่ก้อง เชฟเจ้าของร้านไฟน์ไดนิ่งที่ดีที่สุดในเชียงราย แต่เป็นการกินข้าวในร้านลาบบ่าวบ้าน ที่ทำให้เรายิ่งอินและได้รู้เกี่ยวกับวัตถุดิบและความฉลาดในการนำวัตถุดิบท้องถิ่นหรือวัตถุดิบพื้นบ้านมาทำอาหาร พี่เชฟก้องเปลี่ยนร้านลาบธรรมดาเป็นโต๊ะไฟน์ไดนิ่งด้วยการอธิบายที่มาที่ไป ชวนให้เรากินพืชผัก ใบไม้ใบหญ้าทางเหนือแปลกๆ ที่จริงๆ แล้วถ้าไปเองเราคงไม่ได้สนใจอะไรมันเลย (บางใบกัดไปแล้วกลิ่นเหมือนคาวปลา เป็นต้น)
นี่อาจเป็นข้อดีของความไม่คาดหวัง หรืออาจเป็นเพราะพาเพื่อนสายอาหารมาเที่ยวด้วย เพราะทริปนี้ทำให้เราได้เปิดประตูเข้าไปส่องอีกวงการที่ตอนแรกคิดว่าไกลตัวมาก และพบว่าเวลาไปเที่ยวในเชิงลึกๆ แบบนี้กลับทำให้เราค้นพบเชียงรายอีกด้านที่ทำให้มีเสน่ห์และน่าสนุกไม่แพ้การไปเมืองสวยๆ และการไปคาเฟ่ฮอปปิงเยอะๆ เลยทีเดียว