วชิรา พงศ์พยัคฆ์ | writer | 03 July 2018
เมืองหลวงของสตรีตอาร์ตยุโรปเขาว่ากันว่าอยู่ที่กรุงเบอร์ลิน ส่วนน้องคนที่สองเขาว่าคือที่นี่ “กรุงเอเธนส์”
หากใครได้มาเที่ยวเอเธนส์เป็นครั้งแรก ตั้งแต่นั่งรถจากสนามบินผ่านทางด่วนเรื่อยมาจนเข้าเขตเมืองจนเลี้ยวไปถึงโรงแรม นอกจากซากของนครโบราณยุคห้าพันปีแล้ว ภาพวาด อักษรสีที่ขีดเขียน พ่น ป้ายอยู่บนริมกำแพงบ้าน ทางด่วน รวมไปถึงรถยนต์จะเป็นสิ่งสะดุดตาจนต้องเอ่ยปากว่า “ที่ขีดๆ เขียนๆ นี่สวยตรงไหน” ตามมาด้วยความงงอยู่ไม่น้อยกับทัศนียภาพของเมืองที่คาดไว้ในใจว่าจะดูเอี่ยมสะอาดตาแบบเมืองในยุโรปที่มั่งคั่ง
“เอเธนส์-กรีซ” สะบักสะบอมกับมรสุมเศรษฐกิจมาตั้งแต่ ค.ศ. 2004 ที่ได้เป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก ครั้งที่ 28 อย่างภาคภูมิใจว่า “โอลิมปิกได้กลับสู่บ้านเกิดอีกครั้ง” แต่ความล่มสลายทางเศรษฐกิจที่ตามมานั้นทำให้กรีซกลายเป็นลูกหนี้รายแรกๆ ของสหภาพยุโรป จนรัฐบาลต้องตัด ลด เลิกการอุดหนุนทางการเงินหลายอย่างให้กับประชาชน ธุรกิจการค้าล้มลงมากมายเพราะไม่มีแรงซื้อจากผู้บริโภค คนตกงานเพิ่มขึ้นทุกวัน พร้อมๆ กับการประท้วงมาตรการรัดเข็มขัดอย่างต่อเนื่อง นั่นคือช่วงเลวร้ายของประเทศที่คนกรีกไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก ทางรอดเดียวที่กรีซยังสามารถเรียกเงินเข้ากระเป๋าประเทศได้ก็คือ “การท่องเที่ยว” แต่ด้วยสภาพตึกรามที่รกร้าง ถูกเผาพังทลาย ที่คล้ายภาพอีกมิติของซากโบราณที่เด่นสง่าอย่างอะโครโพลิสจะชวนให้ใครควักเงินมาเที่ยวได้บ้างล่ะ
แล้วก็ได้ไอเดียบรรเจิดจากผู้ได้รับเลือกเป็นนายกเทศมนตรีนครเอเธนส์ใน ค.ศ. 2010 ว่า การใช้ศิลปะนี่แหละที่จะช่วยซ่อมภาพเมืองร้างๆ นี้ให้ดูมีชีวิตชีวา ทำให้คนจากทั่วโลกอยากมาท่องเที่ยว กินดื่มสนุกสนานในเมืองมากขึ้น
จุดแรกของภาพสตรีตอาร์ตที่ทำขึ้นอย่างเป็นทางการอยู่ในย่าน Psyri หรือ Psiri ย่านแนวอินดี้ที่น่าสนใจเอามากๆ สำหรับคนชอบใช้ชีวิตยามราตรี ภาพบนผนังอาคารร้างนี้ไม่มีชื่อ และไม่มีใครรู้แนวคิดของการวาด คาดเดาได้แค่ว่าน่าจะล้อเลียนความเทาๆ ดำๆ อึมครึมของเมืองออกมา แต่ที่แน่ๆ ภาพนี้มีใบประกาศรับรองอย่างเป็นทางการว่าถูกกฎหมายและสนับสนุนโดยเทศบาลเมือง จากนั้นเจ้าของสถานที่ในละแวกนี้ที่เห็นดีงามด้วยอย่างโรงแรม Heart of Athens ถึงกับจ้างให้ศิลปินท้องถิ่นไฟแรงมาแสดงฝีมือที่แตกต่างกันโดยรอบบริเวณโรงแรม ตั้งแต่แนวกำแพงทางเข้าไปจนถึงตัวอาคาร ซึ่งก็ทำให้โรงแรมมีจุดขายและน่าสนใจมากขึ้นทีเดียว แต่ละภาพนั้นมีความงามและความหมายที่ต่างกันออกไป ตั้งแต่ความก้าวร้าวไปจนถึงแนวหวานแหวว
ในเมื่อสตรีตอาร์ตได้รับการยอมรับมาขึ้น ภาพศิลปะริมทางเหล่านี้ก็เริ่มสร้างตัวตนและมีนัยแอบแฝงขึ้นไปเรื่อยๆ ศิลปินแต่ละคนเริ่มทำงานที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองชัดขึ้น อย่าง “WD” ศิลปินชาวบราซิลที่มีหลากหลายแนว ทั้งแบบ Poster หรือใบปิด ที่เป็นเหมือนการนำภาพที่วาดเสร็จแล้วมาปิดบนกำแพง บางชิ้นก็มีขนาดเท่าใบปิดโฆษณาทั่วไป บางชิ้นใช้เทคนิคสื่อผสมวาดภาพใหญ่โตครอบคลุมผนังทั้งผืน งานของ WD บางชิ้นก็เอาแค่สนุก บางชิ้นแอบให้ข้อคิดเชิงสังคมอยู่ไม่เบาเลยทีเดียว เขาเป็นหนึ่งในศิลปินสตรีตอาร์ตที่น่าติดตามมาก มีผลงานปรากฏอยู่ในหลายๆ เมืองของกรีซและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ลายเซ็นของ WD จะเป็นอักษรสองตัวนี้อยู่ในวงกลม สังเกตง่ายมาก
“Blaqk” ทีมสองศิลปินชาวกรีซซึ่งมีภาพเป็นเอกลักษณ์ของขาว-ดำที่ชวนจ้องมองเอามากๆ แทบไม่มีใครเลยที่จะเดินผ่านงานขาว-ดำที่เหมือนไม่มีอะไรไปได้
“WD” ศิลปินชาวบราซิลที่มีหลากหลายแนว ทั้งแบบ Poster หรือใบปิด ที่เป็นเหมือนการนำภาพที่วาดเสร็จแล้วมาปิดบนกำแพง บางชิ้นก็มีขนาดเท่าใบปิดโฆษณาทั่วไป บางชิ้นใช้เทคนิคสื่อผสมวาดภาพใหญ่โตครอบคลุมผนังทั้งผืน งานของ WD บางชิ้นก็เอาแค่สนุก บางชิ้นแอบให้ข้อคิดเชิงสังคมอยู่ไม่เบาเลยทีเดียว
ทางรอดเดียวที่กรีซยังสามารถเรียกเงินเข้ากระเป๋าประเทศได้ก็คือ “การท่องเที่ยว” แต่ด้วยสภาพตึกรามที่รกร้าง ถูกเผาพังทลาย ที่คล้ายภาพอีกมิติของซากโบราณที่เด่นสง่าอย่างอะโครโพลิสจะชวนให้ใครควักเงินมาเที่ยวได้บ้างล่ะ แล้วก็ได้ไอเดียบรรเจิดจากผู้ได้รับเลือกเป็นนายกเทศมนตรีนครเอเธนส์ใน ค.ศ. 2010 ว่า การใช้ศิลปะนี่แหละที่จะช่วยซ่อมภาพเมืองร้างๆ นี้ให้ดูมีชีวิตชีวา ทำให้คนจากทั่วโลกอยากมาท่องเที่ยว กินดื่มสนุกสนานในเมืองมากขึ้น
แต่ภาพที่แฟนคลับสตรีตอาร์ตพากันยกย่องให้เป็นภาพ “ทรงอิทธิพล” มีชื่อว่า SHINE เป็นผลงานของ Alex Martinez ศิลปินลูกครึ่งกรีก-อเมริกันที่นำเอาหลายเทคนิคการสร้างภาพสตรีตอาร์ตมาผสมผสาน บอกเล่าเรื่องราวที่สะท้อนความเจ็บปวดของสังคมเอาไว้ตรงหัวมุมถนน Riga Palamidou เป็นภาพหน้าสุนัขสีขาว-น้ำตาลพันธุ์ผสมที่มีแววตาเรียบเฉยแต่ดูสง่างาม อยู่เบื้องหน้ากองไฟแดงฉานที่ลุกโชนอย่างบ้าคลั่ง และที่น่าสนใจคือ เหนือหัวของมันมีมงกุฎเล็กๆ สีทองลอยอยู่ ส่วนตรงมุมด้านล่างซ้ายมีข้อความ “All dogs go to heaven”
ภาพนี้ทันทีที่ได้เห็นก็ทำเอาสตันต์ไปชั่วครู่ถึงพลังของการใช้เทคนิควาด สีสัน และขนาดที่ดึงดูดเอามากๆ พอมาถึงการอธิบายนัยที่ซ่อนไว้ก็เข้าใจได้ว่า เป็นภาพที่สะท้อนถึงครั้งที่ชาวเอเธนส์ต้องออกมาประท้วงในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจจากแรงกดดันของ IMF มีการปะทะกันของตำรวจและผู้ชุมนุม ความรุนแรงของการต่อสู้บนถนนทำให้ทั้งเมืองแดงฉานไปด้วยเปลวเพลิง มีทั้งผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ซึ่งศิลปินนายนี้ก็พาสุนัขของเขาออกไปร่วมประท้วงและต่อสู้ด้วย สุดท้ายสุนัขก็ตายหลังมีการปะทะกับตำรวจ
Alex Martinez ต้องการสื่อภาพสุนัขคู่ใจ “Loukanikos” เป็นตัวแทนของการแสดงอารยะขัดขืนของชาวเอเธนส์ที่บริสุทธิ์ซึ่งต้องดิ้นรนกับวิกฤตนี้ และแกมประชดด้วยข้อความอมตะที่ว่า “เหล่าสุนัขทุกตัวล้วนเดินทางสู่สวรรค์” เหมือนจะบอกว่าชาวเมืองเป็นผู้บริสุทธิ์ที่ถูกรัฐบาลและ IMF ทำร้าย
ไม่ใช่แค่ภาพนี้ที่สะท้อนความจริงของชีวิตชาวเอเธนส์และชาวกรีกในปัจจุบัน ยังมีอีกภาพที่ประชดได้แสบยิ่งกว่า เป็นภาพแนวโปสเตอร์จากฝีมือของศิลปิน Dimitris Taxis ลูกครึ่งกรีก-โปแลนด์ เป็นภาพวัยรุ่นชาวกรีกนั่งมึนๆ งงๆ อยู่บนกองหนังสือซึ่งเป็นศาสตร์รากเหง้าอารยธรรมรุ่งเรืองของกรีกอันน่าภูมิใจ ซึ่งคนทั่วโลกก็เชิดชูทั้งศิลปะ วิทยาการ หลักปรัชญา-ประชาธิปไตย ในขณะที่บนหัวนั้นถูกถมทับด้วยบทเรียนของชีวิตจริง ว่าด้วยชีวิตฟุ่มเฟือยของชาวเอเธนส์ที่ไร้อนาคต เศรษฐกิจตกต่ำ และหนทางเอาตัวรอด... ภาพนี้ไม่มีใครปฏิเสธว่าไม่จริง เพราะวันนี้ชาวกรีกยังคงตกงานกว่า 40% รายได้ลดลงครึ่งหนึ่งหลังเกิดวิกฤต คนไม่น้อยเลือกออกนอกประเทศไปหางานทำในประเทศแถบยุโรปที่มีเศรษฐกิจดีกว่า ส่วนคนที่เหลืออยู่ก็ต้องก้มหน้าหาเงินและยอมรับสภาพกันต่อไป
แต่จะว่าไปแล้วแนวคิดที่เปิดกว้างให้เอเธนส์เป็นพื้นที่ของสตรีตอาร์ตและงานกราฟิตีก็ทำให้เมืองกลับมามีชีวิตชีวา เรียกนักท่องเที่ยวได้ไม่น้อยทีเดียว (เพราะวาดกันทุกที่ทั้งกำแพง ม้านั่ง รถยนต์ ตึกร้าง สะพาน กระจกบ้าน ฯลฯ) จนที่ว่างเปล่ารกร้างก็กลายเป็นดูมีอะไรให้น่าสนใจ แค่ย่าน Psirri นี้ถ้าเดินดูกันให้ทั่วทุกมุม ทุกซอกซอย ก็แทบตาลายถ่ายภาพเป็นพันรูปได้ทั้งวันเหมือนกัน เพราะไม่ใช่เฉพาะงานจากศิลปินดังๆ (ซึ่งมีอีกมากนอกจากที่ยกตัวอย่างมา) ที่สวยจนน่ามอง แต่งานทั่วไปหลายแบบของศิลปินนิรนามก็มีเสน่ห์ไม่แพ้กัน ในย่านอื่นๆ อย่าง Anafiotika, Kerameikos, Metaxourgio, Exarhia, Plaka ก็มีให้ดูนับเป็นพันชิ้น แล้วยังเป็นกระแสให้ร้านค้าทั่วไปตามท้องถนนเอาการทำภาพแนวสตรีตอาร์ตมาเป็นส่วนหนึ่งของประตูร้านค้า ซึ่งก็ช่วยให้ร้านดูไม่เหงาในยามที่ปิดบริการ
การเดินชมสตรีตอาร์ตในเอเธนส์นี้อยากให้ระมัดระวังเรื่องการจำเส้นทางการเดินให้ดี เพราะเวลาที่เพลินกับการดูภาพที่สวยงามต่อเนื่องไปอาจไม่ได้ดูชื่อถนน จนสุดท้ายพาให้หลงทางกันได้ง่ายๆ แต่ก็ยอมรับว่าการเดินดูสตรีตอาร์ตในเอเธนส์นี้เป็นประสบการณ์ที่ให้อรรถรสครบทั้งเรื่องราวทางสังคม ชีวิต ความคิด ความรู้สึก ความงดงาม และความเมื่อย ต่างกันมากกับการเดินชมที่เบอร์ลิน ซึ่งเน้นไปทางการเมืองและสะท้อนภาพสังคมเป็นส่วนใหญ่
ถ้ามาเที่ยวเอเธนส์แนะนำให้เผื่อเวลาหลังเดินชมอะโครโพลิสและพิพิธภัณฑ์ไว้อีกสัก 1 วันเต็มๆ เพื่อมาดูเรื่องราวริมทางของชาวเมืองผ่านงานศิลปะแบบนี้บ้างก็น่าจะดี