×

ตามรอยพระกฐินพระราชทาน ณ เมืองเว้

มณฑิณี เชียงสงค์ | Editor-in-chief | 12 January 2018

สำหรับใครที่อยากเที่ยวตามเก็บเมืองมรดกโลกให้ครบ เว้ (Hue) เป็นเมืองมรดกโลกอีกแห่งในเวียดนามที่ไม่ควรพลาด แถมไปง่ายไม่ไกลจากเมืองไทย เว้เป็นเมืองหลักของจังหวัดเถื่อเทียน-เว้ อยู่ตอนกลางของประเทศ และตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำหอม ด้วยความเข้มข้นจากการเป็นอดีตเมืองหลวงของเวียดนามก่อนตกเป็นอาณานิคมเมืองขึ้นของฝรั่งเศส จึงเต็มไปด้วยเสน่ห์ของประวัติศาสตร์และความรุ่งโรจน์ในอดีต นอกจากสีสันทางประวัติศาสตร์แล้วน้อยคนจะทราบว่าเว้ยังเป็นเมืองที่มีวัดพุทธเถรวาทสำคัญของเวียดนาม ซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีกับเมืองไทยถึงขนาดเคยได้รับพระราชทานผ้าพระกฐินจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เมื่อ พ.ศ. 2554 

เพื่อนเดินทางมาเยือนเมืองเว้ในคราวนี้มีโอกาสดีได้มากับคณะจากกระทรวงการต่างประเทศ นำโดยคุณชัยสิริ อนะมาน ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานในพิธีเชิญผ้าพระกฐินพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 10 ไปทอดถวาย ณ วัดเหวี่ยนคง จังหวัดเถื่อเทียน-เว้ ประเทศเวียดนาม โดยมีคุณมานพชัย วงศ์ภักดี เอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย พร้อมภริยา และคุณอุรีรัชต์ รัตนพฤกษ์ กงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์ พร้อมด้วยหน่วยงานเอกชนของไทย ชุมชนไทยในเวียดนาม และชาวเวียดนามกว่า 500 คนเข้าร่วมในพิธี เราได้เห็นการทอดผ้าพระกฐินพระราชทานที่สมพระเกียรติ และได้สัมผัสกับวัฒนธรรมของชาวพุทธในเวียดนามที่แม้มีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่าง แต่ก็เปี่ยมด้วยศรัทธาไม่แพ้กัน
คุณชัยสิริเล่าถึงการมาเยือนในครั้งนี้ว่า นอกจากเป็นการทำนุบำรุงศาสนา และเผยแพร่พระเกียรติคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยที่ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ค้ำชูพระพุทธศาสนา พระกฐินพระราชทานยังช่วยกระชับความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะในระดับชุมชน ทำให้เราได้เห็นถึงรากฐานความสัมพันธ์ของไทยและเวียดนามที่มีวัฒนธรรมความศรัทธาร่วมกันได้ชัดเจน เห็นได้จากการต้อนรับอันอบอุ่นและให้ความร่วมมือสนับสนุนงานในครั้งนี้จากชุมชนชาวพุทธในเวียดนามให้เป็นไปอย่างสมพระเกียรติ 

กระทรวงการต่างประเทศริเริ่มดำเนินโครงการเชิญผ้าพระกฐินพระราชทานไปทอดถวาย ณ วัดพุทธศาสนาในต่างประเทศตามความริเริ่มของ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น โดยได้ทำอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ. 2538 เริ่มจากประเทศเพื่อนบ้าน ไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียน ประเทศในเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกที่มีผู้นับถือพระพุทธศาสนา ปัจจุบันมีประเทศที่ร่วมโครงการถึง 13 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย จีน ศรีลังกา อินเดีย เนปาล บังกลาเทศ และภูฏาน

วัดเหวี่ยนคง (Huyen Khong) เป็นวัดพุทธเถรวาท ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2516 มีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่พระพุทธศาสนานิกายเถรวาทในเวียดนาม มีการจัดกิจกรรมด้านสังคมสงเคราะห์อย่างสม่ำเสมอ เช่น การบรรเทาทุกข์ให้กับผู้ประสบอุทกภัยในภาคกลางและภาคเหนือ ตลอดจนจัดตั้งชมรมพุทธศาสนิกชนเหวี่ยนคง ให้สมาชิกได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมกันทุกวันอาทิตย์ นอกจากนี้พระฟาบตงเจ้าอาวาสเพิ่งได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ พระสุธรรมวงศ์ สย. เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2559 นับเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญรูปแรกในเวียดนาม

มากฐินพระราชทานที่เมืองเว้ครั้งนี้เรายังได้ไปสุสานพระเจ้าไคดิงห์ (Tomb of Khai Dinh) ซึ่งสวยแตกต่างจากสุสานกษัตริย์พระองค์อื่น เพราะเป็นสุสานเดียวที่ผสมผสานสถาปัตยกรรมตะวันออกร่วมกับสถาปัตยกรรมตะวันตก อาจเป็นอิทธิพลจากยุคล่าอาณานิคมที่เวียดนามเผชิญในช่วงนั้น สุสานนี้สร้างในสมัยจักรพรรดิไดคิงห์ (พ.ศ. 2431-2468) เพื่อใช้เป็นสุสานของพระองค์ แต่ยังสร้างไม่เสร็จก็ทรงสิ้นพระชนม์ไปก่อน ภารกิจสร้างสุสานจึงตกเป็นของพระราชโอรสบ๋าวด่าย โดยใช้เวลานานถึง 11 ปี สุสานแห่งนี้สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ตั้งอยู่เนินเขาสูงตามความเชื่อของชาวเวียดนามที่หลุมฝังศพกษัตริย์ต้องอยู่สูงกว่าสามัญชน ทางเดินขึ้นสุสานเป็นบันได 127 ขั้น ผ่านซุ้มประตูโอ่อ่า ในช่วงแรกจะพบกับรูปปั้นหินของทหาร ช้าง ม้า เสมือนกับองครักษ์เฝ้าสุสาน กลางลานมีแผ่นจารึกอักษรจีนเขียนโดยพระเจ้าบ๋าวด่ายเพื่อรำลึกถึงพระบิดา ส่วนด้านบนสุดคือพระราชวังเทียนดิงห์ที่ตั้งของสุสาน มีรูปปั้นพระเจ้าไคดิงห์ตรงกลาง และมีพระศพอยู่ใต้รูปปั้นลึกลงไป 11 เมตร ภายในตกแต่งอย่างวิจิตรงดงามด้วยกระเบื้องเคลือบสีนับพันชิ้นอิทธิพลจากศิลปกรรมจีน เป็นรูปเรื่องราวของสัตว์ ต้นไม้ และดอกไม้ บนเพดานเป็นภาพเขียนสีมังกรในม่านเมฆขนาดใหญ่ ซึ่งวาดโดยศิลปินที่ใช้เท้าคีบพู่กันวาด เนื่องจากความเชื่อที่ว่าสามัญชนห้ามยืนอยู่สูงกว่ากษัตริย์ จึงต้องแก้เคล็ดด้วยการสลับกลับหัวอยู่ด้านล่างแล้วใช้เท้าวาดแทน จนกลายเป็นภาพประดับเพดานสวยน่าทึ่ง ภายในสุสานชั้นในยังมีห้องจัดแสดงภาพและเรื่องราวของพระเจ้าไคดิงห์พร้อมด้วยข้าวของเครื่องใช้ และรูปปั้นสัมฤทธิ์ของพระเจ้าไคดิงห์ขนาดเท่าพระองค์จริงซึ่งสั่งทำขึ้นที่ฝรั่งเศส ด้วยความสวยงามอลังการของสุสานแห่งนี้ ใครไปเยือนเว้จึงไม่น่าพลาด
 

คณะจากกระทรวงการต่างประเทศ ณ วัดเทียนมู่

สัญลักษณ์อีกแห่งหนึ่งของเมืองเว้ก็คือวัดเทียนมู่ (Thien Mu) ตั้งอยู่ริมแม่น้ำหอม เป็นศูนย์กลางพุทธศาสนานิกายเซนมาตั้งแต่โบราณ คำว่าเทียนมู่แปลเป็นไทยว่าเทพธิดา คนไทยจึงนิยมเรียกวัดนี้ว่าวัดเทพธิดาราม สร้างขึ้นในสมัยจักรพรรดิเหงียนฮวาง ภายในวัดมีเจดีย์เก่าแก่คู่บ้านคู่เมือง เป็นสถาปัตยกรรมแบบจีนทรงแปดเหลี่ยมซ้อนลดหลั่นกัน 7 ชั้น แต่ละชั้นเป็นตัวแทนแต่ละภพของพระพุทธเจ้า ภายในวัดยังมีระฆังทองสัมฤทธิ์ใบใหญ่หนัก 2 ตัน สูง 2 เมตร หากตีจะดังไปไกลกว่า 10 กิโลเมตร ด้านหลังเจดีย์เป็นประตูทางเข้าวัด ประดิษฐานพระพุทธรูปพระสังกัจจายน์ที่ผู้คนศรัทธา 

วัดแห่งนี้ยังมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองในยุคหลังสงครามเวียดนาม เพราะเก็บรักษาและจัดแสดงรถออสตินสีฟ้า รถคันประวัติศาสตร์ที่เมื่อ พ.ศ. 2506 พระภิกษุทิก กว๋าง ดึ๊ก เจ้าอาวาสของวัดเทียนมู่ได้นั่งรถคันนี้ไปประท้วงรัฐบาลโง ดิ่ญ เสี่ยมที่มีปัญหาคอร์รัปชันครั้งใหญ่ และยังบังคับให้ชาวเวียดนามใต้นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก (เนื่องจากสหรัฐอเมริกาหนุนชักใยอยู่เบื้องหลัง) ท่านเจ้าอาวาสได้ราดน้ำมันเผาตัวเองและมรณภาพจากเหตุการณ์ครั้งนี้ มีตำนานเล่าว่าร่างกายของท่านมอดไหม้ แต่หัวใจกลับไม่ได้ไหม้เป็นเถ้าถ่าน ประชาชนจึงยกย่องท่านให้เป็นเสมือนพระโพธิสัตว์