×

ไปเกาหลีเหนือ...เหนือความคาดหมายกับเพื่อนเดินทาง

ชนานันทน์ สุนทรนนท์ | Features Editor | 30 January 2018

ทริปเกาหลีเหนือในเปียงยางและแคซ็องของคุณนนและคุณหนิง

“ถ้ามัวแต่กลัว เราก็ไม่ได้เห็นด้วยตา” ข่าวความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ พร้อมจะยิงขีปนาวุธได้ทุกเมื่อ เสียงร่ำลือในฐานะประเทศเผด็จการที่น่ากลัว ไม่ทำให้คุณนน-นนทวัช และคุณหนิง-ดวงฤทัย คู่สามีภรรยาที่หลงใหลการเดินทางหยุดความมุ่งมั่นที่จะไปพิชิตเกาหลีเหนือด้วยตัวเองสักครั้ง นำมาสู่เรื่องราวการเดินทางครั้งสำคัญที่มีเรื่องให้ลุ้น ตื่นเต้น ประทับใจ และทำให้เปิดใจกว้างมองเกาหลีเหนือในมุมต่างที่พวกเขาได้เห็นด้วยตาตลอด 5 วันเต็ม


คนส่วนใหญ่ได้แค่คิดแต่ไม่กล้า ทำไมคุณถึงเลือกไปประเทศนี้
คุณหนิง:
“สำหรับหนิงเกาหลีเหนือเป็นประเทศที่ดูลึกลับ น่าค้นหา และจริงๆ เราอยากไปมานานแล้ว พอมีเวลา มีจังหวะได้ศึกษาข้อมูล และมีโอกาสพอดี ตอนนั้นเราก็ต้องรีบคว้าไว้”

คุณนน: “หนิงเป็นคนชวนก่อน เพราะเขามีเวลามากกว่า (คุณหนิงทำงานเป็นคุณครู ปัจจุบันเป็นฟรีแลนซ์ ส่วนคุณนนทำงานเป็นที่ปรึกษาธุรกิจ) ก็ปรึกษากันว่าไปที่ไหนดี ทีแรกคิดว่าพูดกันเล่นๆ นึกว่าคงเป็นประเทศที่ไปไม่ได้ แต่พอหนิงไปศึกษาข้อมูลเพิ่ม บอกว่าจริงๆ ไปได้ ก็เลยมีโอกาสไปเที่ยวกัน”


เดินทางอย่างไร ไปกี่เมือง เที่ยวกี่วัน
คุณหนิง:
“ตอนที่ไปเป็นช่วงเดือนตุลาคมปี 2017 ที่ผ่านมา เป็นช่วงเข้าหน้าหนาวที่เกาหลีเหนือเราวางแผนไปทริปสั้นๆ 2 เมือง 5 วัน คือที่เปียงยางเมืองหลวง และแคซ็องเมืองชายแดนใกล้ๆ ที่เป็นเมืองมรดกโลก บินจากประเทศไทยไปต่อเครื่องที่ปักกิ่งเพื่อไปเปียงยาง” 

คุณนน: “ทั้งลำมีคนรัสเซียแค่ประมาณ 5 คน แล้วก็มีเราเป็นคนไทย 2 คน การเข้าไปเกาหลีเหนือเท่าที่ทราบเราเข้าได้จากจีนและรัสเซียเท่านั้น เพราะฉะนั้นชาติใดก็ตามที่จะเข้าไปเที่ยวเกาหลีเหนือต้องไปเริ่มต้นที่ประเทศใดประเทศหนึ่งที่ว่านี้ แต่พอเรากลับมา ไฟลต์จีนก็ยกเลิกตามการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์บ้านเมือง เหลือแต่รัสเซีย”



ไกด์จำเป็นแค่ไหน และค่าเสียหาย (ค่าใช้จ่าย) ที่ต้องเตรียม
คุณหนิง: “เราไม่สามารถเที่ยวด้วยตัวเองได้ นักท่องเที่ยวต่างชาติทุกคนจำเป็นต้องมีไกด์ท้องถิ่น เราเริ่มจากติดต่อเอเจนต์ที่เมืองไทย และเอเจนต์เขาจะคุยติดต่อกัน”

คุณนน: “เอเจนต์ที่เราไปเป็นของรัฐบาล ไกด์ของเขาพูดภาษาอังกฤษที่ผมคิดว่าพูดได้เกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ จนเรานึกว่าเคยอยู่อเมริกามาก่อน ถือว่าเขาเทรนคนของเขามาดีมาก คือเก่งมากสำหรับคนที่ไม่เคยออกนอกประเทศ ไม่ได้ดูหนังฮอลลีวูดเป็นประจำอย่างเรา”

คุณหนิง: “ค่าไกด์ ค่าทัวร์ ค่าตั๋ว รวมแล้วตกคนละประมาณ 54,000 บาท ตั้งแต่จากเมืองไทยจนถึงเกาหลีเหนือค่ะ รวมหมด ซึ่งราคาทัวร์แต่ละช่วงก็จะขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่เดินทาง”

คุณนน: “สรุปได้ว่าจากกรุงเทพฯ ถึงปักกิ่งเราไปเอง จะมีคนมาช่วยจัดการอะไรให้ ก็เริ่มจากปักกิ่งจนถึงเปียงยาง พอถึงสนามบินไกด์ของเขาก็มารับ ดูแลเรา 24 ชั่วโมงไม่เคยคลาดสายตา ในแง่ความสะดวกตรงนั้นผมว่าโอเคมาก แล้วไกด์เขาก็เฟรนด์ลีดีครับ”

คุณหนิง: “เรามีไกด์ตามถึงสองคน ก็คิดว่าต้องขนาดนั้นเลยเหรอ ขอแค่คนเดียวก็ได้ แต่พอไปถึงเลยเข้าใจว่า อ๋อ เราคงต้องการการดูแลเยอะมาก คอยบอกเราหลายอย่าง กลายเป็นเดอะแก๊งเที่ยวด้วยกัน 4 คน (ยิ้ม)”

ตรวจเข้มที่สนามบินเปียงยาง
คุณนน: “สิ่งแรกที่ต้องตรวจแน่นอนคือพาสปอร์ต สองคือสมาร์ตโฟน สามคือแท็บเล็ต และสี่คือสิ่งพิมพ์ เขาจะตรวจของเราทั้งหมด อย่างสมาร์ตโฟนเขาจะให้เราอันล็อกแล้วตรวจรูปในเครื่องแบบสุ่มดู หนังสือหรือแมกกาซีนก็ด้วย ถ้ามีรูปหรือเรื่องเกี่ยวกับการเมือง ศาสนา ล้อเลียนผู้นำ รูปลามกอนาจาร เขาก็อาจทำอะไรสักอย่าง อาจจะยึด ไม่ให้เราเข้า หรือไม่ให้เราออกนอกประเทศ แต่เราก็เตรียมตัวมาอย่างดีหลังจากที่ศึกษาข้อมูลเที่ยวเกาหลีเหนือมา”

ภาพที่คิดก่อนไป
คุณหนิง:
“ก่อนไปหนิงซื้อหนังสือข้อมูลเกี่ยวกับเกาหลีเหนือมาอ่าน อ่านไป 3 เล่มก็รู้สึกนอยด์และจิตตกมาก รู้สึกว่าเราไม่ไปแล้วก็ได้นะ ทำไมมันดูรันทดน่ากลัวแบบนี้ แต่พอไปค้นอินเทอร์เน็ต มีคนที่เคยไปเที่ยวแล้วเขียนรีวิว กลายเป็นว่าอ่านแล้วไม่เห็นมีอะไรที่ต้องเครียด เพราะเราแค่ไปดู ไปสัมผัสประสบการณ์จริง” 

คุณนน: “สำหรับผมมีเรื่องเดียวคือ เข้าแล้วจะได้ออกหรือเปล่า (“ออกได้สิ” เสียงคุณหนิง) แต่พอเริ่มศึกษาลึกๆ จากที่หนิงหาเรื่องให้อ่าน ก็เริ่มเข้าใจมากขึ้นว่าไม่ได้มีอะไรน่ากลัว ทุกวันนี้เราก็ยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเกาหลีเหนือ ยังมีสถานทูตประเทศเขาอยู่แถวพัฒนาการ แล้วก็มีร้านอาหารเกาหลีเหนือในกรุงเทพฯ หลายร้านให้ได้ไปชิม”


สิ่งที่เจอเมื่อไปถึง 
คุณนน:
“เรียนตามตรงว่า เราคิดว่าชีวิตในเกาหลีเหนือต้องยากลำบากกว่านี้ แต่พอไปถึง ตั้งแต่โรงแรม อาหารการกิน เขาดูแลนักท่องเที่ยวดีมาก สิ่งหนึ่งที่เราไปแล้วเรียนรู้คือ เขาเองอยากให้คนไปเที่ยวเมืองของเขา อยากให้โลกภายนอกเห็นว่าประเทศเขาไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น” 

คุณหนิง: “ตึกรามบ้านช่อง ตอนแรกที่ไปคิดว่าไม่น่าเจริญอะไรมาก ปรากฏพอไปถึง โอ้โฮ ตึกใหญ่เบ้อเริ่มเทิ่มเยอะแยะเต็มไปหมด แต่จะเป็นบรรยากาศแบบเรโทรค่ะ”

คุณนน: “ผมว่าเกาหลีเหนือก็เหมือนประเทศคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามเย็น อย่างจีนในอดีตก็คงเป็นแบบนั้น ในแง่โครงสร้างพื้นฐานมันใหญ่โตมาก มีถนน 8 เลน ตึกใหญ่สูง 30-40 ชั้น เวลาขึ้นลิฟต์เลขบางชั้นหายไป แต่อย่าไปถามดีกว่าครับ ที่แน่ๆ เป็นเมืองที่มีชีวิตชีวากว่าที่เราคิด ตื่นเช้ามาคนเดินกันเต็มถนน ผู้คนเดินกันขวักไขว่ไปมา ลงไปรถไฟใต้ดิน รถไฟใต้ดินก็แน่น เหมือนวันปกติที่ผู้คนไปทำงาน สิ่งที่อาจดูแปลกคงเป็นเรา เพราะคนที่นั่นไม่ได้เห็นบ่อยนัก ประเทศเราพูดถึงนักท่องเที่ยวต่อปีในระดับหลายสิบล้าน แต่ของเขาปีหนึ่งมีราวๆ หมื่นคน เวลาคนของเขามองเราอาจทำให้รู้สึกอึดอัดบ้าง แต่ไม่ได้มีปัญหาหรืออันตรายอะไร เขาคงอยากถามว่าเรามาทำไมกัน (ยิ้ม)” 



อะไรที่โลกภายนอกมี แต่เกาหลีเหนือไม่มี
คุณนน:
“ขอตอบกลับกันดีกว่าว่าอะไรที่ที่นี่มีไม่เหมือนโลกภายนอก สิ่งแรกเลยคือ ที่นี่บอกว่าเนื้อเป็ดเป็น ‘Best Meat’ หรือเนื้อที่ดีที่สุด ส่วนเนื้อวัวเป็นของหายาก ใครอยากกินอาจต้องผิดหวัง ถ้าไปกินบาร์บีคิวเกาหลีเหนือ สิ่งที่คุณจะได้ลองคือบาร์บีคิวเป็ด ที่เขาคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดมาให้เรา”

คุณหนิง: “เพราะวัวเหมือนเป็นทรัพย์สินของรัฐบาลเขา อย่างถ้าบ้านไหนวัวออกลูกแล้วไม่แจ้งก็เหมือนจะเป็นโทษ เลยพูดได้ว่าถ้าวัวไม่ตายก็อาจไม่ได้กินเนื้อวัวในเปียงยาง”

คุณนน: “ส่วนอาหารเกาหลีเหนือตอนเราไปก็มีหมู มีไก่ มีถ้วยเหล็กวางเยอะๆ มีกิมจิสารพัดอย่าง เหมือนอาหารเกาหลีที่เคยกิน อีกอย่างที่ข้างในนั้นไม่มีแน่ๆ คือสินค้าที่เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นอเมริกัน อย่างโคคา-โคล่าเขาจะมีโคคา-โคล่าในแบบของเขาเอง แต่เบียร์จะหากินง่ายมาก เป็นเมืองที่เหมาะสำหรับคนชอบกินเบียร์เป็นอย่างยิ่ง รสชาติก็ดีทีเดียว”

คุณหนิง: “ฟู้ดคอร์ตที่เราไปเป็นเหมือนฟู้ดคอร์ตตามห้างโมเดิร์นเทรด ที่มีหลายๆ ร้านแล้วคนซื้ออาหารมานั่งกินกัน มีมื้อหนึ่งที่เราล่องเรือ ก็ได้เห็นคนของเขามากินด้วย เขากินซาชิมิกันเลยนะ ทำให้รู้สึกว่าอาหารการกินดูอุดมสมบูรณ์ ไม่ได้แร้นแค้นนะสำหรับคนเปียงยาง”

คุณนน: “พูดถึงบรรยากาศตามท้องถนนในเมือง เขาจะมีรถเปิดเพลง เปิดลำโพงแบบโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) กันเป็นเรื่องธรรมดาในชีวิตประจำวัน”

คุณหนิง: “แล้วคนของเขาไม่ได้ทำงานเฉพาะที่รัฐบาล แต่มีชั่วโมงจิตอาสาด้วย เด็กตัวเล็กๆ ก็จะมากวาดถนน กวาดบ้าน ตอนเช้าๆ มีคนมาโบกธง เชียร์ผู้คนว่าวันนี้เป็นวันดีนะ เรามาช่วยตั้งใจทำงานกัน เป็นภาพที่แปลกดี”

โลกของข้อมูลข่าวสารในเกาหลีเหนือ และความรักต่อท่านผู้นำ
คุณนน
: “ไม่น่าเชื่อว่าโลกทุกวันนี้เขายังสามารถจำกัดการรับรู้ข่าวสารได้จริง สิ่งที่เราเห็นคือ คนของเขามีสมาร์ตโฟน มีเครื่องมือเทคโนโลยีทุกอย่างใช้เหมือนเรา แต่เป็นของเขาเอง มีอินทราเน็ตของเขาใช้ในประเทศ ข่าวสารก็บริหารจัดการภายในวงนั้น ส่วนคนที่ไม่ได้ใช้สิ่งเหล่านี้ก็เสพข่าวได้จากช่องทางอื่น อย่างหนังสือพิมพ์ที่จะแปะไว้ในสถานีรถไฟ คนของเขาก็มายืนมุงอ่าน อีกเรื่องที่ทำให้รู้สึกแปลกใจและประทับใจในเวลาเดียวกันคือ ความเชื่อและรักในผู้นำที่เป็นความสมัครใจ ไม่ใช่การถูกบังคับ และไม่ได้มาจากความกลัวเหมือนที่เรารับรู้จากข้างนอกหรือมองเข้ามา”

คุณหนิง: “สัมผัสได้เลยว่าเขาเคารพรักผู้นำด้วยใจจริงแบบสืบทอดมาเป็นลำดับ จากรุ่นปู่ คิม อิล-ซ็อง (ผู้นำคนแรกของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี) ถึงรุ่นพ่อ คิม จ็อง-อิล และรุ่นลูก คิม จ็อง-อึน ที่แปลกใจอีกเรื่องคือ เขารักผู้นำของเขามาก แต่พอเราถามเกี่ยวกับผู้นำเขาจะไม่ค่อยทราบ อย่างถามว่าผู้นำอายุเท่าไร เขาจะตอบว่าน่าจะประมาณเท่านี้ แล้วแต่งงานหรือยัง เขาจะตอบว่าไม่แน่ใจ”

ไนต์ไลฟ์แบบเปียงยาง
คุณหนิง:
“ถามเขาเหมือนกันว่ากลางคืนมีที่เที่ยวหรือเปล่า เขาบอกว่าเที่ยวอะไรกัน เพราะเที่ยวกลางคืนผิดกฎหมายนะ สี่ทุ่มทุกอย่างปิดหมดแล้ว ก็ได้คำตอบว่า โอเค อย่างนั้นเราไปกินเบียร์กัน ส่วนอีกคืนเขาก็พาออกไปเดินถนน ตามสแควร์หน้าสถานีรถไฟ สิ่งที่เห็นคือ มีจอแอลซีดีเหมือนหนังกลางแปลงขนาดใหญ่ แล้วก็มีคนมายืนดูกีฬาจากจอกัน ข้างทางมีร้านแบบในหนังเกาหลี ที่มีพลาสติกใสๆ ปิดแล้วมีคนนั่งกินอยู่ข้างในร้าน แล้วก็มีร้านยิงปืนด้วย แต่เขาไม่อนุญาต คือเขาค่อนข้างแบ่งแยกชัดเจนว่าอะไรสำหรับคนของเขา อะไรสำหรับนักท่องเที่ยว”


#ก้าวไปพร้อมกันทุกก้าว ไม่มีใครทำให้คุณเป็นคนสำคัญเท่าไกด์”
คุณนน
: “ตอนพาผมออกไปวิ่งออกกำลังกายเขาก็วิ่งตาม เราขี่จักรยานเขาก็ขี่ประกบหน้าคัน ประกบหลังคัน เราก็ขี่ตรงกลาง คือเขาไม่ปล่อยให้เราทำอะไรด้วยตัวเองตามลำพังเลย แต่มีอยู่วันหนึ่งเขาบอกว่าจะมีปาร์ตี้ของพวกไกด์กันเอง เขาก็ขอแยกกับเรา ปกติเขาไม่เคยปล่อยให้เราแยกกับเขา แต่เขาคงรู้ว่าเราไม่ได้ทำอะไรเสียหาย ไม่ได้เป็นสปาย ปล่อยได้แน่นอน”

คุณหนิง: “ถึงวันที่จะกลับ เขาก็หิ้วกระเป๋าออกมาจากโรงแรมพร้อมกัน คือทุกวันเขาจะส่งเราขึ้นลิฟต์ไปนอน พอเช้าเราลงลิฟต์มาเขาก็นั่งอยู่ที่ล็อบบี้ คอยดูแลเราตลอด ตอนจะกลับก็ใจหายมากเลย เพราะรู้ว่าชาตินี้คงไม่ได้เจอกันแล้ว ใจหายมาก เพราะเขาดีกับเรามากหลังอยู่กันมา 5 วัน ตลอด 24 ชั่วโมง”



ถ้ามีคนอยากไปเกาหลีเหนือ สิ่งที่อยากบอกคือ
คุณหนิง
: “ถ้ามัวแต่กลัวเราก็ไม่ได้เห็นด้วยตา อยากไปก็รีบไปเลยค่ะ (ยิ้ม) พอได้ไปแล้วเหมือนเราได้เปิดหูเปิดตา ได้เปลี่ยนตัวเราด้วย คือเปลี่ยนสิ่งที่เราเคยเชื่อว่าถูก เห็นว่าจริง แต่พอไปถึงก็รู้สึกได้ว่ายังมีสิ่งอื่นๆ ที่เราไม่รู้อีกหลายมิติ เหมือนได้เปิดตาตัวเอง จากที่ผ่านมาเราเหมือนปิดใจพอสมควร”

คุณนน: “ผมว่าเกาหลีเหนือก็มีคาแรกเตอร์ของเขา ซึ่งอันนี้เราต้องเข้าใจ ถ้าเราเข้าใจพื้นฐานตรงนั้นแล้วทุกอย่างโอเคหมด เช่น ผมไปมา ถ่ายรูปมาเยอะแยะเป็นร้อยเป็นพัน หลายคนถามว่าไปเกาหลีเหนือถ่ายรูปได้ด้วยเหรอ หลักการมันง่ายมาก คืออะไรที่ทำให้ประเทศเขาดูไม่ดีเราก็ไม่ควรไปถ่าย ในเวลาเดียวกันเขามีความรู้สึกว่าโลกภายนอกก็มีโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านเขา เพราะฉะนั้นเมื่อเราเป็นคนส่วนน้อยที่มีโอกาสได้สัมผัสจากข้างในจริงๆ เขาก็คาดหวังว่าเราจะออกมาช่วยแก้ภาพพจน์ตรงนั้นให้เขาได้”

คุณหนิง: “จริงๆ แล้วก็เหมือนกับประเทศอื่นทั่วไป แต่ละประเทศก็คงอยากให้คนที่อยากมาเที่ยวได้เห็นด้านสวยงาม เพียงแต่ที่นี่เขามีเป็นกฎออกมาให้ปฏิบัติตามเป็นเรื่องเป็นราว”


หากมีโอกาสคุณจะกลับไปอีกครั้งไหม
คุณหนิง
: “อยากไปอีก เพราะครั้งที่แล้วเราไปแค่ 5 วัน ได้เห็นแค่ 2 เมือง อยากไปดูแบบทั่วๆ หน่อย สโลว์ไลฟ์หน่อย ก็เลยอยากกลับไป”

คุณนน: “คิดเอาไว้ว่าอีกสักปีหนึ่ง อยากไปวิ่งเปียงยางมาราธอน ไปดูบรรยากาศเมืองเปียงยางอีกถ้าทำได้”

คุณหนิง: “แล้วใครที่ไปเกาหลีเหนือก็จะไปดูแมสแดนซ์ (Mass Dance) คืองานเต้นรำขึ้นชื่อของเกาหลีเหนือ จัดห่างกับ เปียงยางมาราธอนประมาณ 10 วัน ถ้าไปช่วงเวลานั้นก็จะไปได้ทั้ง 2 งาน อย่างแมสแดนส์จะมีปีลพหลายครั้งค่ะ แต่มาราธอนจะจัดในช่วงเดือนเมษายน”



เก็บตกเรื่องเล่าเกาหลีเหนือ สิ่งที่ควรรู้ไว้ก่อนเดินทาง
- สำหรับเกาหลีเหนือ ไม่มีคำว่าเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ เกาหลีคือเกาหลี แต่มีอเมริกาเข้ามาปกครองในพื้นที่ส่วนใต้ เวลาไปยืนที่ชายแดนเกาหลีเหนือ คนเกาหลีเหนือจะบอกว่าตรงนี้คือเกาหลี ส่วนตรงนั้นยูเอส

- ถ้าคุณทำธุรกิจและคาดหวังการติดต่อกับโลกภายนอก โอกาสในการติดต่อแทบจะเป็นศูนย์ ทำให้ถ้าจะให้ดีต้องเตรียมตัวเคลียร์งานทั้งหมด และมีเพียงสองช่องทางในการติดต่อสื่อสาร คือ การโทรศัพท์จากโทรศัพท์ของเขา ที่คุณต้องแสดงข้อมูลหมายเลขและปลายสายของคุณ และสอง ถ้าจำเป็นต้องส่งอีเมลต้องส่งผ่านบัญชีอีเมลของโรงแรม ต้องเตรียมอีเมลที่ถูกต้อง พอเราพิมพ์เสร็จเขาจะเป็นคนกดส่ง เวลามีอีเมลตอบกลับ อีเมลทุกคนก็จะมารวมกัน ทุกคนเปิดอ่านได้หมด

- เวลาถ่ายภาพรูปปั้นคู่ของผู้นำต้องถ่ายติดทั้งคู่ อย่าถ่ายทีละคน อย่าถ่ายครึ่งตัว อย่าถ่ายด้านหลัง เพื่อเป็นการให้เกียรติและแสดงความเคารพ หนังสือพิมพ์ก็เช่นกัน หากมีภาพท่านผู้นำคุณห้ามพับ ต้องม้วนเท่านั้น เพื่อระวังไม่ให้ใบหน้าท่านผู้นำเป็นรอย และอีกหลายเรื่องน่ารู้น่าตื่นเต้นในเกาหลีเหนือที่คุณต้องไปสัมผัสด้วยตัวเอง
 

ขอบคุณเรื่องเล่าและภาพถ่ายทริปเกาหลีเหนือในเมืองเปียงยางและแคซ็องจากคุณนนและคุณหนิง แขกรับเชิญเพื่อนเดินทาง