×

ทำไมต้องธงปลาคาร์ป ความหมายดีๆ ของวันเด็ก (ชาย) ในญี่ปุ่น

ชนานันทน์ สุนทรนนท์ | Features Editor | 30 April 2018


ที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อไรที่ธงปลาคาร์ปปลิวไสว นอกจากจะเป็นสัญญาณบอกช่วงเวลาโกลเด้นวีกที่อัดแน่นไปด้วยวันหยุดยาว (พร้อมเที่ยว) และฤดูใบไม้ผลิที่สดใสแล้ว ธงสวยงามเหล่านี้ยังเป็นสัญลักษณ์ของ “วันเด็กแห่งชาติ” ของญี่ปุ่นสมัยใหม่ ที่ยังคงมีความหมายเฉพาะเจาะจงในเวลาเดียวกันว่าเป็นวันเด็กของ “เด็กชาย” ในแดนอาทิตย์อุทัยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เราสามารถออกเสียงวันเด็กนี้ได้ว่า Kodomo no Hi (こどもの日) โดยทุกปีจะตรงกับวันที่ 5 เดือน 5 หรือเดือนพฤษภาคมนั่นเอง




มีลูกชายต้องมีปลาคาร์ปอยู่หน้าบ้าน
หลายคนยังสงสัยว่าปลาคาร์ปเกี่ยวข้องกับเด็กชายญี่ปุ่นได้อย่างไร ชาวญี่ปุ่นมีความเชื่อตั้งแต่ในอดีต (ซึ่งเกี่ยวข้องกับความเชื่อของชาวจีนที่ว่าปลาคาร์ปคือมังกรด้วย) ว่า ปลาคาร์ปสีสันสดใสเหล่านี้คือสัญลักษณ์ของความแข็งแกร่ง ความกล้าหาญ สุขภาพที่ดี ความสำเร็จ และความมั่งคั่ง ปลาคาร์ปเป็นปลาที่ว่ายน้ำอย่างไม่ย่อท้อท่ามกลางกระแสน้ำเชี่ยว เช่นเดียวกันเมื่อได้โต้ลมก็ปลิวไสวมีชีวิตชีวา สง่างาม หรือกล่าวได้ว่าธงเหล่านี้กลายเป็นเหมือนความหวังและคำอธิษฐานของพ่อแม่ที่อยากให้ลูกชายเติบโตอย่างเข้มแข็งและแข็งแรง นอกจากนี้ในอดีตยังมีภาพที่บันทึกว่า เมื่อเหล่าซามูไรออกรบพวกเขาจะมีธงผ้าเป็นสัญลักษณ์หลายรูปแบบ หลากสี รวมถึงธงที่มีภาพวาดปลาคาร์ป

ความหมายในปลาคาร์ปที่ต่างขนาดและต่างสี
ในอดีตจำนวนธงปลาคาร์ป หรือ Koinobori (鯉のぼり) ทั้งหมดที่แขวนอยู่เหนือหลังคาบ้านหมายถึงจำนวนสมาชิกชายล้วนในบ้าน ได้แก่ “พ่อ” ที่แทนด้วยปลาสีดำซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุด “ลูกชายคนโต” แทนด้วยปลาสีแดงที่มีขนาดรองลงมา หากมีลูกชายลำดับถัดมาจะแทนด้วยสีน้ำเงิน สีเขียว (รวมถึงสีอื่นๆ เช่น สีม่วง และสีส้ม) เรียงตามขนาดและตามลำดับ ทว่าเมื่อถึงช่วงญี่ปุ่นยุคโมเดิร์นที่รัฐบาลประกาศให้วันเด็กชายเป็นวันเด็กแห่งชาติด้วย ธงปลาคาร์ปจึงมีความหมายกว้างขึ้นในปัจจุบัน โดยตีความได้ว่า ปลาคาร์ปสีแดงหมายถึง “แม่” แล้วจึงเริ่มนับปลาคาร์ปสีน้ำเงินเป็นลูกชายคนโต มากไปกว่านั้นปลาคาร์ปหลากสีหลายตัวยังอาจหมายถึงสมาชิกในครอบครัวทั้งหมดไม่ว่าหญิงหรือชาย

ตกแต่งธงปลาคาร์ปทั่วญี่ปุ่น
ธงปลาคาร์ปไม่ได้ตกแต่งแค่ตามบ้านเรือน แต่ตกแต่งทั่วทั้งญี่ปุ่น รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญด้วย อย่างในปี 2018 นี้ที่โตเกียวทาวเวอร์ก็ตกแต่งธงปลาคาร์ปไว้หน้าทางเข้าแลนด์มาร์กของกรุงโตเกียวแห่งนี้จำนวน 333 ตัว (เท่ากับ 333 เมตร ความสูงของโตเกียวทาวเวอร์) ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน ก่อนไปสิ้นสุดในวันที่ 5 พฤษภาคม นอกจากธงปลาคาร์ปแล้วยังมีธงปลาซันมะ (Sanmanobori) ยาว 6 เมตรประดับตกแต่งด้วย และนอกจากช่วงกลางวันคุณยังสามารถชมการจัดไฟสร้างความสวยงามให้กับธงปลาคาร์ปได้จนถึง 23.00 น.


สิ่งที่คนญี่ปุ่นทำในวันเด็กญี่ปุ่น (นอกจากประดับธงปลาคาร์ป)
มาดูกันว่านอกจากติดธงปลาคาร์ปเหนือหลังคาบ้าน คนญี่ปุ่นฉลองกันแบบไหนบ้างให้ครบสูตรเฉลิมฉลองวันเด็ก



• กินโมจิคะชิวะ (Kashiwa Mochi) ซึ่งเป็นหนึ่งในเมนูมงคลในวันเด็กญี่ปุ่น เพื่อให้เด็กๆ มีความสุขและมีสุขภาพแข็งแรง วัตถุดิบหลักที่ใช้ทำโมจิคือแป้งข้าวเจ้า นำมาห่อถั่วแดงบดหวานก่อนห่อด้วยคะชิวะหรือใบโอ๊กนั่นเอง สาเหตุที่ต้องใช้ใบโอ๊กเพราะเป็นต้นไม้ใหญ่ที่รอยอดอ่อนก่อนผลัดใบ เปรียบได้กับการสืบทอดตระกูลรุ่นต่อรุ่น อย่างไรก็ตามเราจะไม่กินใบโอ๊ก แค่ใช้กลิ่นหอมจากใบเท่านั้น

• วางโชว์ตุ๊กตานักรบ (Gogatsu Ningyo) คนญี่ปุ่นมีความเชื่อว่าตุ๊กตานักรบ ได้แก่ ตุ๊กตาซามูไร จะช่วยคุ้มครองเด็กๆ จากอันตรายและสิ่งชั่วร้ายทั้งปวง รวมถึงความเจ็บไข้ได้ป่วย เช่นเดียวกับชุดเกราะและหมวกซามูไร (Kabuto) รวมถึงตุ๊กตาจากเรื่องเล่าในตำนานว่าด้วยเด็กชายผู้มีความกล้าหาญชาญชัยอย่างคินทาโร่ เป็นต้น

• ให้ความสำคัญกับดอกไอริส (Sobu no Sekku) พฤษภาคมเป็นช่วงเวลาที่ดอกไอริสบาน และมากกว่าความสวยยังมีความเชื่อที่ว่าดอกไอริสจะช่วยขับไล่สิ่งไม่ดี ในอดีตครอบครัวจะให้ลูกชายอาบน้ำที่ใส่ใบไอริส เพราะเชื่อว่าด้วยใบที่มีรูปร่างคล้ายดาบจะช่วยให้เด็กชายกล้าหาญและแข็งแกร่งเมื่อพวกเขาเติบโต

วันเด็กผู้หญิงก็มีนะ วันที่ 3 เดือน
แม้เป็นสังคมที่ผู้ชายมีบทบาทสำคัญมายาวนาน ในขณะที่ผู้หญิงมีบทบาทภาพรวมเป็นแม่บ้าน แต่ชาวญี่ปุ่นก็ไม่ได้ลืมวันเด็กผู้หญิงแต่อย่างใด โดยวันเด็กผู้หญิงจะจัดขึ้นในช่วงวันที่ 3 เดือน 3 หรือเดือนมีนาคม แต่ละครอบครัวจะตกแต่งบ้านโดยมีตุ๊กตาฮินะ (Hina Ningyo) ประดับ และจะมีการส่งต่อตุ๊กตาจากรุ่นสู่รุ่น


ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.koinobori-japan.jp/koinobori.html