×

ชวนเที่ยว Citizen Museum ที่น้อยคนได้เข้าไป

ปัญญา ลีลาสุนทรกุล | Features Editor | 21 May 2018

นาฬิกาในตำนานของ Citizen ตลอด 100 ปีที่ผ่านมา

มหานครโตเกียวไม่ได้เด่นแค่เรื่องอาหารการกินและช็อปปิงเท่านั้น แต่ยังเต็มไปด้วยพิพิธภัณฑ์ดีๆ มากมาย หนึ่งในนั้นคือ Citizen Museum ที่ไม่เพียงบอกเล่าประวัติศาสตร์อย่างครบถ้วน แต่ยังฉายภาพให้เห็นความพยายามในการผลิตนาฬิกาของแดนอาทิตย์อุทัยได้เป็นอย่างดี  

เราเดินทางออกจากตัวเมืองโตเกียวไปยัง Citizen Museum ซึ่งตั้งอยู่ชานเมืองใหญ่ แต่กว่าจะมาถึงก็ใช้เวลาเป็นชั่วโมง ไม่เพียงเพราะถนนหนทางในเมืองนี้มีแยกยิบย่อยมากมาย แต่คนขับที่นี่จำกัดความเร็วอย่างเคร่งครัด ถึงอย่างนั้นคนญี่ปุ่นก็ไม่เคยมีคำว่าสายอยู่แล้ว ทุกอย่างถูกคำนวณและวางแผนไว้ล่วงหน้า พอรถบัสถึงจุดหมายก็ตรงตามตารางอย่างไม่น่าเชื่อ

พูดก็พูดเถอะว่า ความตรงต่อเวลาถือเป็นเรื่องสำคัญของคนญี่ปุ่นมากๆ ใครเคยไปญี่ปุ่นจะพบเห็นนาฬิกาเรือนโตเพื่อบอกเวลา หรือไม่ก็ตารางแสดงเวลาเข้าออกของขนส่งสาธารณะอย่างชัดเจน และบ่อยครั้งจะเห็นภาพคนก้มหน้ามองนาฬิกาที่ข้อมืออยู่บ่อยๆ แต่การตรงเวลาคงจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าไม่มีนาฬิกาที่บอกเวลาได้อย่างแม่นยำด้วย

ถ้า 100 ปีที่แล้วไม่มีการเริ่มต้นใดๆ ทุกวันนี้ญี่ปุ่นคงไม่มีนาฬิกาที่มีประสิทธิภาพและเทคโนโลยีในมาตรฐานระดับโลกได้ขนาดนี้

นี่จึงเป็นที่มาที่ Kamekichi Yakamazi ก่อตั้งสถาบันนาฬิกาชื่อว่า Shokosha ขึ้นตั้งแต่ปี 1918 เพื่อสอนการประดิษฐ์นาฬิกา และผลิตนาฬิกาที่เที่ยงตรงเพื่อให้ทุกคนเป็นเจ้าของ หลังจากนั้น 6 ปีต่อมาจึงผลิตนาฬิกาพกเรือนแรกรุ่น 16 ภายใต้แบรนด์ Citizen ออกสู่ตลาด และส่งต่อจิตวิญญาณในการผลิตนาฬิกามาจนถึงปัจจุบัน ถ้านับดีๆ พบว่าแบรนด์นี้อยู่ครบ 100 ปีพอดิบพอดี



แล้วการจะซึมซับเรื่องราวทุกอย่างได้ครบถ้วนก็ต้องเยือนพิพิธภัณฑ์ของพวกเขานั่นแหละ สำหรับ Citizen Museum ตั้งอยู่ชั้นล่างในสำนักงานใหญ่ของ Citizen ดังนั้นจึงไม่ได้เปิดให้คนทั่วไปเข้าชมเหมือนพิพิธภัณฑ์อื่นๆ ถึงอย่างนั้นก็เปิดต้อนรับหมู่คณะที่ติดต่อเข้ามาล่วงหน้า 

ที่นี่ให้การต้อนรับเราอย่างอบอุ่นด้วยเรื่องราวที่ร้อยเรียงจากจุดเริ่มต้นถึงปัจจุบันผ่านดิสเพลย์ขนาดใหญ่ที่แสดงนาฬิกาเรือนแรกจนถึงเรือนล่าสุด ไหนจะดิสเพลย์แสดงประวัติผู้ก่อตั้ง นาฬิกาเรือนเด่น ตลอดจนเทคโนโลยีที่ใช้ผลิตชิ้นส่วน กลไก ตัวเรือน จนออกมาเป็นนาฬิกาอย่างที่เราเห็นกัน

นาฬิการุ่นพิเศษฉลองครบรอบ 100 ปี

นาฬิการุ่นพิเศษฉลองครบรอบ 100 ปี

Eco-Drive One นาฬิกาขับเคลื่อนด้วยพลังงานที่บางที่สุดในโลก

ระหว่างเดินดูดิสเพลย์ต่างๆ ก็เหมือนได้นั่งไทม์แมชชีนย้อนกลับไปอดีตเพื่อซึมซับความทุ่มเทและมุ่งมั่นของ Citizen ในการผลิตนาฬิกาที่เที่ยงตรง ซึ่งกว่าจะได้รับการยอมรับอย่างทุกวันนี้ก็ต้องอาศัยเวลาสั่งสมชื่อเสียง และยังต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทัดเทียมนาฬิกาอีกซีกโลก



หนึ่งในนาฬิกาที่เป็นหน้าเป็นตาให้ Citizen คือ Diamond Flake ปี 1962 เพราะเป็นนาฬิกาสามเข็มที่มีกลไกบางเฉียบเพียง 2.75 มม. ฟังดูไม่ตื่นเต้น แต่ความจริงแล้วกว่าจะผลิตกลไกออกมาบางแบบนี้ได้ต้องอาศัยความรู้ในการออกแบบตั้งแต่กลไกไปจนถึงการผลิตออกมาเป็นนาฬิกาที่มีประสิทธิภาพจริงๆ 

นาฬิกาอีกเรือนที่ชอบมากๆ คือ Radio Controlled ปี 1993 เพราะแสดงไทม์โซนของแต่ละประเทศด้วยระบบ “คลื่นสัญญาณวิทยุ” เป็นเรือนแรก ซึ่งยุคนั้นใช้ได้ในเยอรมนี อังกฤษ และญี่ปุ่น ถือเป็นเทคโนโลยีที่มอบความแม่นยำสูงสุดแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

และที่พิเศษไม่แพ้กันคือ นาฬิกาดำน้ำ Citizen ที่ถูกเก็บจากทะเลบริเวณชายหาด Long Reef ประเทศออสเตรเลียในปี 1983 และยังคงทำงานอยู่ราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น นาฬิกาเรือนนี้ถูกส่งกลับมาให้บริษัทและเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ในที่สุด เรื่องราวของนาฬิกาเรือนนี้สะท้อนให้เห็นถึงความทนทานได้โดยไม่ต้องพูดอะไรมากมาย 



นาฬิกาทั้งสามเรือนดังกล่าวเป็นเพียงเศษเสี้ยวของนาฬิกา Citizen ที่สร้างชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับ ทั้งที่จริงยังมีพระเอกอีกหลายรุ่นไม่ว่าจะเป็น Crystron Solar Cell นาฬิกาเรือนแรกที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์และควอตซ์, EXCEED Gold นาฬิกาควอตซ์เรือนแรกที่มีกลไกบางเพียง 1 มม., Eco-Drive Satellite Wave นาฬิกาพลังงานแสงอาทิตย์เรือนแรกที่มาพร้อมระบบ GPS เป็นต้น 

เมื่อเดินดูจนจบแล้วเราพบว่า ความประทับใจที่มีต่อ Citizen ในฐานะแบรนด์นาฬิกาที่มุ่งมั่นผลิตนาฬิกายังคงตรึงตราอยู่ในใจเหลือเกิน ไม่เพียงประวัติศาสตร์ที่มีมาอย่างยาวนาน แต่ถ้า 100 ปีที่แล้วไม่มีการเริ่มต้นใดๆ ทุกวันนี้ญี่ปุ่นคงไม่มีนาฬิกาที่มีประสิทธิภาพและเทคโนโลยีในมาตรฐานระดับโลกได้ขนาดนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ Citizen จะเป็นที่ยอมรับทั้งของคนญี่ปุ่นและคนทั้งโลก