ปัญญา ลีลาสุนทรกุล | Features Editor | 15 July 2018
โตเกียวเป็นจุดหมายในฝันสำหรับการเดินทางครั้งแรกของใครหลายคน เพราะทั้งเที่ยวง่าย ของกินอร่อย ชอปปิงได้ไม่อั้น และเดินทางสะดวกสบาย แต่หลายคนกลับฝันสลาย ตกม้าตายกับเรื่องง่ายๆ ว่าแล้วเราเลยรวบรวมข้อสงสัยของเหล่านักเดินทางมือใหม่ที่ถามกันบ่อยที่สุด พร้อมคำตอบที่จะทำให้การเดินทางไปโตเกียวเพอร์เฟกต์ที่สุด ว่าแล้วมาค้นพบคำตอบกันเลย
1. เดินทางจากสนามบินนาริตะเข้าเมืองโตเกียวด้วยวิธีไหนดีที่สุด
การเดินทางเข้าเมืองมีหลายรูปแบบมาก แต่แบ่งง่ายๆ ออกเป็นรถไฟ รถบัส และแท็กซี่ แต่เส้นทางเข้าเมืองที่ดีที่สุดยกให้ “รถไฟ” เพราะไม่แพง รวดเร็ว ไม่ต้องเผชิญการจราจรหนาแน่น ที่สำคัญยังมีประเภทรถไฟให้เลือกตามกำลังเงินและความต้องการของแต่ละคนด้วย สำหรับการเดินทางเข้าเมืองด้วยรถไฟมีทั้งหมด 4 สาย ได้แก่
- N’EX หรือ Narita Express ให้บริการโดยบริษัท JR โดยจอดตามสถานีรถไฟ JR อย่าง Shinjuku, Omiya, Yokohama, Totsuka และ Ofuna เวลาเดินทางเข้าเมืองอยู่ที่ประมาณ 53 นาที ที่นั่งแบ่งเป็นชั้นธรรมดา ราคา 3,020 เยนต่อเที่ยว และชั้นหนึ่ง ราคา 4,560 เยนต่อเที่ยว สำหรับเด็กเล็กลดราคา 50% เหมาะกับคนที่ต้องการต่อรถไฟ JR ออกไปหัวเมืองใหญ่ต่างๆ
ข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.jreast.co.jp/e/nex/
- Keisei Skyliner เป็นขบวนรถไฟพิเศษที่เร็วที่สุด เพราะจอดแค่ 2 สถานีปลายทางคือ Nippori และ Ueno เท่านั้น สามารถระบุที่นั่งชัดเจน และภายในมี Wi-Fi ให้บริการฟรี ราคาสำหรับผู้ใหญ่อยู่ที่ 2,470 เยนต่อเที่ยว และเด็ก 1,240 เยนต่อเที่ยว เหมาะกับทริปที่ต้องทำเวลาและไม่ชอบหวานเย็นกับการแวะจอดบ่อยๆ
ข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.keisei.co.jp/keisei/tetudou/skyliner/th/value_ticket/index.php
- Narita Sky Access Line ปลายทางคือ Ueno แต่มีการแวะจอดสถานีต่างๆ อย่าง Asakusa, Nihombashi, Higashi-Ginza
- Keisei Main Line มีจุดเด่นอยู่ที่ราคาถูกสุดแค่ 1,030 เยนต่อเที่ยว แต่ใช้เวลาเดินทางนาน 70-90 นาทีเลยทีเดียว เพราะรถไฟแวะจอดทุกสถานีจนถึงปลายทาง Ueno นอกจากนั้นขบวนนี้ไม่มีระบุที่นั่ง และไม่มีช่องเก็บสัมภาระ จึงเหมาะกับนักท่องเที่ยวที่ไม่มีสัมภาระพะรุงพะรัง
สำหรับตั๋วรถไฟของทั้งหมดที่กล่าวมาสามารถหาซื้อได้ที่เคาน์เตอร์ภายในอาคารผู้โดยสาร 1-3 ของสนามบินนาริตะ
2. ควรซื้อบัตรรถไฟฟ้า Pasmo หรือ Suica สำหรับเดินทางในเมืองหรือไม่
บัตรพวกนี้เรียกว่า IC Card สามารถเติมเงินเข้าไปเพื่อจ่ายค่าโดยสารในระบบขนส่งต่างๆ แต่ส่วนใหญ่มักใช้จ่ายค่ารถไฟใต้ดินเป็นหลัก ทั้งยังชำระเงินร้านสะดวกซื้อและร้านอาหารบางร้านได้ด้วย จึงช่วยเพิ่มความคล่องตัวและประหยัดเวลาได้ โดยซื้อและเติมเงินผ่านตู้ขายตั๋วอิเล็กทรอนิกส์ตามสถานี และก่อนกลับยังสามารถคืนบัตรเพื่อรับเงินที่เหลือและเงินมัดจำคืนได้ด้วย หรือจะเก็บไว้ใช้งานครั้งต่อๆ ไปก็ได้เช่นกัน เพราะบัตรมีอายุการใช้งานนานถึง 10 ปี แต่ควรรู้ไว้อีกอย่างว่าการขายคืนบัตร Pasmo จะได้เปรียบกว่า เพราะสามารถขายคืนตามสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินซึ่งกระจายอยู่ทั่วโตเกียวได้เลย ขณะที่บัตร Suica ต้องขายคืนเฉพาะสถานีที่มีเคาน์เตอร์ของรถไฟ JR เท่านั้น
ถ้าถามว่าจำเป็นต้องซื้อหรือไม่ คำตอบขึ้นอยู่กับแพลนการเดินทางของแต่ละคน ถ้าแพลนว่าจะอยู่หลายวันและต้องแวะหลายจุดในเมือง ประกอบกับเดินทางเป็นหมู่คณะ แนะนำว่าซื้อ IC Card ก็ดีเหมือนกัน เพราะสะดวกสบาย ไม่ต้องเสียเวลาซื้อตั๋วทีละใบทีละเที่ยวให้วุ่นวาย
3. นอนค้างสนามบินนาริตะได้หรือเปล่า
ได้สิ เหตุผลที่คนเลือกมานอนสนามบินไม่ใช่ต้องการประหยัดเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะมีไฟลต์บินเช้าตรู่ และสนามบินตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองกว่า 77 กิโลเมตร ซึ่งต้องใช้เวลาเดินทางประมาณ 40 นาทีถึง 2 ชั่วโมง (ขึ้นอยู่กับระบบขนส่งที่เลือกใช้บริการ) แทนที่จะต้องแหกขี้ตาตื่นเพื่อเดินทางตั้งแต่ไก่โห่ หลายคนจึงตัดสินใจมานอนรอในสนามบินกันไปเลย
อย่างไรก็ดี สนามบินนาริตะไม่ได้เปิดบริการให้เครื่องบินขึ้นลงตลอด 24 ชั่วโมง ในช่วงค่ำพื้นที่ส่วนใหญ่ของเทอร์มินัลจะปิดให้บริการ ใครที่อยากค้างคืนจึงต้องไปนอนในโซนพักรอบนชั้น 2 ของเทอร์มินัล 3 และ North Waiting Area ใกล้เทอร์มินัล 2 (ปิดปรับปรุงถึงวันที่ 10 กรกฎาคมนี้) แต่ละจุดมีห้องน้ำ ตู้กดเครื่องดื่ม-อาหาร ร้านสะดวกซื้อ 24 ชั่วโมง ห้องน้ำ ทั้งยังมีโซฟา เก้าอี้ให้ล้มตัวนอนเอกเขนก
แต่พูดจริงๆ นะว่าการนอนตามเก้าอี้ในสนามบินไม่สบายเอามากๆ แถมยังต้องมาพะวงนู่นนี่อีกต่างหาก เพื่อนเดินทางขอแนะนำให้ใช้บริการโรงแรมแคปซูล 9Hours ในเทอร์มินัล 2 ดีกว่า เพราะที่หลับที่นอนสะอาดสะอ้านหายห่วง ทั้งยังมีตู้ล็อกเกอร์เก็บกระเป๋าเดินทางและข้าวของไม่ปะปนกับคนอื่นๆ ตลอดจนมีผ้าขนหนู ชุดนอน สลิปเปอร์ และห้องอาบน้ำอีกด้วย ทั้งหมดนี้ในสนนราคา 3,900 เยนเท่านั้น ใครอยากค้างคืนลองใช้บริการนี้กันเลย
ข้อมูลเพิ่มเติมที่ ninehours.co.jp/en/
4. ซื้อของตามร้านต่างๆ แล้วพนักงานติดสลิปสีขาวลงในพาสปอร์ต อยากรู้ว่าต้องทำอย่างไร
ที่ผ่านมารัฐบาลญี่ปุ่นกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยวด้วยวิธีการมากมาย หนึ่งในนั้นคือนักท่องเที่ยวสามารถชอปปิงปลอดภาษีตามร้านค้าต่างๆ ได้เลย ซึ่งร้านจะแสดงสัญลักษณ์หรือป้ายคำว่า Japan Tax-Free Shop ให้เห็นอย่างชัดเจน โดยเมื่อเราซื้อสินค้าใดๆ จากร้านปลอดภาษีเหล่านี้แล้ว เราต้องนำใบเสร็จพร้อมพาสปอร์ตยื่นขอยกเว้นภาษีที่เคาน์เตอร์ยกเว้นภาษีหรือจุดชำระเงินของแต่ละร้าน หลังจากรับเงินและเซ็นเอกสารเรียบร้อยพนักงานของร้านจะติดสลิปยกเว้นภาษีลงในพาสปอร์ต ตอนที่เดินทางออกนอกประเทศญี่ปุ่นเราแค่ยื่นให้เจ้าหน้าที่ศุลกากร หรือดึงออกและใส่ลงในตะกร้าตรงเคาน์เตอร์ศุลกากรที่สนามบิน เท่านี้ก็เรียบร้อยแล้ว
ข้อมูลเพิ่มเติมที่ tax-freeshop.jnto.go.jp/tha/index.php
5. ไปโตเกียวครั้งแรกพักย่านไหนดี
แนะนำย่านยอดฮิต “อุเอะโนะ (Ueno)” เพราะเข้า-ออกสนามบินนาริตะและสนามบินฮาเนดะได้อย่างง่ายดาย ทั้งยังมีแหล่งชอปปิงอย่างตลาดอะเมะโยโกะ ห้างทาเคยะหรือที่เราชอบเรียกว่าตึกม่วง รวมถึงอาหารการกินและคาเฟ่เก๋ๆ เต็มไปหมด และยังเป็นย่านที่มีสวนสาธารณะขนาดใหญ่ สวนสัตว์อุเอะโนะ และพิพิธภัณฑ์ศิลปะให้เลือกเที่ยวอย่างจุใจ
นอกจากนั้นอุเอะโนะยังเป็นศูนย์กลางระบบขนส่งครบครันทั้งรถไฟใต้ดิน รถไฟ JR หรือแม้แต่รถไฟความเร็วสูงชิงกันเซ็ง จึงไปไหนมาไหนในโตเกียวได้อย่างสะดวกสบาย ที่สำคัญยังเป็นย่านที่มีโรงแรมให้เลือกมากมายทั้งในแง่ของราคาตั้งแต่ไม่กี่พันเยนไปจนถึงหลายหมื่นเยน และประเภทห้องหลากหลายให้เลือกตามความต้องการ
เห็นไหมว่าอุเอะโนะสะดวกสบายที่สุดแล้ว
6. ซิมการ์ดหรือ Pocket Wi-Fi ดีกว่ากัน
คำตอบขึ้นอยู่กับลักษณะของทริปที่ไป ถ้าเป็นทริปครอบครัวที่ไปไหนไปด้วยกันทุกที่ การใช้ Pocket Wi-Fi ซึ่งแชร์ Wi-Fi ให้ทุกคนเข้าถึงได้ย่อมเหมาะสมและประหยัดกว่าการเสียเงินซื้อซิมใส่สมาร์ตโฟนทุกคน แต่ถ้าเป็นทริปไปกับเพื่อนที่ต่างคนต่างมีความต้องการไม่เหมือนกัน และมีช่วงที่ต่างคนต่างเดิน เช่น สาวๆ อยากเดินซื้อเครื่องสำอาง แต่หนุ่มๆ อยากไปดูโมเดลกันดั้ม อย่างนี้แต่ละคนควรซื้อซิมการ์ดใส่สมาร์ตโฟนตัวเองจะดีที่สุด อย่างน้อยก็ไม่ต้องมาผิดใจระหว่างเดินทาง ใครอยากแยกไปไหนก็ได้ไป
ยิ่งไปกว่านั้นทุกวันนี้ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือมีซิมการ์ดสำหรับเดินทางโดยเฉพาะจำหน่าย โดยเป็นซิมการ์ดแบบเติมเงิน ทั้งยังระบุวันหมดอายุชัดเจนและราคาไม่แพงหูฉี่เหมือนสมัยก่อนแล้ว ที่สำคัญสามารถซื้อได้ที่เคาน์เตอร์ให้บริการภายในสนามบินอีกด้วย
AIS: www.ais.co.th/roaming/sim2fly/
TRUEMOVE: truemoveh.truecorp.co.th/international_service/visit_thailand/th
DTAC: www.dtac.co.th/gointer/
7. จำเป็นต้องพกปลั๊กไฟแบบยูนิเวอร์แซลไปด้วยไหม
ต้องเข้าใจก่อนว่าระบบไฟฟ้าของญี่ปุ่นและบ้านเราไม่เหมือนกัน ญี่ปุ่นจ่ายกระแสไฟที่ 110V ขณะที่บ้านเราจ่ายไฟที่ 220V และเต้ารับปลั๊กไฟของญี่ปุ่นเป็นขาแบนเท่านั้น แม้หัวปลั๊กของเราจะเป็นแบบขาแบน แต่แรงดันไฟที่แตกต่างจะทำให้การชาร์จไฟใช้เวลานานกว่า ฉะนั้นการพกปลั๊กไฟยูนิเวอร์แซลจึงช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว ตลอดจนปัญหาหัวปลั๊กอุปกรณ์ต่างๆ ของเราที่ไม่เหมือนของญี่ปุ่นได้ทั้งหมด