×

มหานคร สกายวอล์กเวิร์กไหม มีอะไรที่ความสูง 314 เมตร

สราลี อุรุพงศา | Editorial Manager | 20 November 2018


 

จากจุดขายของความที่เป็นตึกสูงที่สุด (314 เมตร) ในประเทศไทยแบบนอนมาแล้ว ก็เลยไม่แปลกที่ตึกคิง เพาเวอร์ มหานครจะต่อยอดทำยอดตึกตัวเองให้เป็นแลนด์มาร์กจุดชมวิวที่สูงที่สุดในกรุงเทพฯ ไปอีก (สูงกว่าตึก Abeno Harukas แห่งเมืองโอซะกะที่สูงที่สุดในญี่ปุ่นด้วยความสูง 300 เมตร)

การสถาปนาตึกให้เป็นแลนด์มาร์กหนึ่งเดียวที่จะเห็นวิวกรุงเทพฯ รวบยอดไปถึงจังหวัดใกล้เคียงแบบ 360 องศานั้นต้องมาพร้อมด้วยความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ เพราะความคาดหวังของคนที่จะเสียสตางค์ขึ้นไปในราคา 1,050 บาทนั้นย่อมสูงชะลูดพอๆ กับยอดตึก

เพื่อนเดินทางทะยานขึ้นไปข้างบนมาแล้ว ล้อมวงมา เราจะเล่าให้อ่านตั้งแต่ก่อนขึ้นลิฟต์กันเลย


จุ 15 คน ทะยานไปชั้น 74 ใน 50 วินาที!



ทางเข้าลิฟต์ที่จะขึ้นไปมหานคร สกายวอล์กนั้นต้อนรับเราด้วยผนังจอ LED สองข้างที่เป็นภาพกราฟิกเวกเตอร์เล่าเรื่องความเป็นไทยผ่านอัตลักษณ์อย่างอาหาร ประเพณี วิถีชีวิต วัฒนธรรมต่างๆ สลับจอกันไปมา


เงยหน้าไปข้างบนจะเห็นเพดานขาวๆ ที่ถ้าไม่จ้องดีๆ จะไม่รู้ว่านี่คือการจำลองแผนที่กรุงเทพฯ เฉพาะแหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆ ที่อยู่ในสภาพ Upside Down! แบบถ้าจะนั่งเดาก็ต้องแหงนคอดูกันเมื่อยเลยว่าแต่ละจุดนั้นคือที่ไหน แต่มีตึกที่โดดเด่นบนเพดานแบบไม่ต้องกวาดตามองหาให้ยากก็คือตึกคิง เพาเวอร์ มหานคร ที่เป็นตึกสีทองหนึ่งเดียวโผล่เด่นออกมาจากตึกอัปไซด์ดาวน์ทั้งผืนเพดาน

เมื่อผนังสองฝั่งเป็นจอทำให้ทางเข้าก่อนขึ้นลิฟต์นั้นดูโอ่อ่า ยิ่งบวกกับพื้นด้านล่างเป็นกระเบื้องเงาสีดำที่ทั้งหมดสะท้อนภาพจริงก็ยิ่งกว้างไปกันใหญ่ แต่นั่นหมายถึงว่าหญิงสาวทั้งหลายเอ๋ย ถ้ามาที่นี่เธออย่าใส่กระโปรงมาเด็ดขาด เพราะโป๊แล้ววันนี้ตั้งแต่ยังไม่ได้ขึ้นลิฟต์ไปไหนด้วยซ้ำ




เข้ามาในลิฟต์ก็เจอกับจอแอนิเมชันรอบลิฟต์ที่จะฉายแอนิเมชันเล่าเรื่องสถานที่เที่ยวของไทยแบบพาโนรามาพร้อมเพลงประกอบที่ตื่นเต้นเร้าใจ แต่แอนิเมชันนี้โผล่มาในเวลาแค่น้อยนิดมากๆ แบบที่ถ้าไม่ทันตั้งตัว แค่หยิบมือถือมาเปิดอินสตาแกรมจะถ่ายไอจีสตอรีก็หมดเวลาแล้ว เพราะฉะนั้นหากอยากถ่ายรูปหรือถ่ายวิดีโอจงเตรียมตัวให้พร้อมก่อนเข้าลิฟต์ เพราะเรามีเวลาแค่ 50 วินาทีในนี้ และแอนิเมชันก็มีเวลาน้อยกว่านั้นกว่าครึ่ง!


ชั้น 74 แบบ Indoor



พอลิฟต์เปิดปุ๊บเราจะเจอกับวิว 360 องศาตรงหน้าเดี๋ยวนั้นเลย แต่เป็นแบบในตัวอาคารนะ จุดชมวิวรอบทิศที่นี่เป็นกระจกใส แต่ละบานถูกเชื่อมด้วยโครงสร้างที่หนา กว้าง และค่อนข้างเกะกะไปหน่อย ทำให้เราไม่สามารถที่จะฟินกับวิวอย่างสบายตาเท่าที่ควร แต่ก็ต้องยอมใจในความ 360 องศาจริงๆ เพราะขนาดห้องน้ำยังมีกระจกบานยักษ์ให้เห็นวิวด้านนอกเลย



ถ้าจะมาชมวิวชั้น 74 นี้ก็ควรมีเวลาว่างเยอะๆ อย่ารีบ เพราะกิจกรรมที่เราสามารถมีส่วนร่วมในชั้นนี้มีถึง 3 อย่างหลักๆ อย่างแรกคือจอ Info Touch Screen ที่มีถึง 6 จุดรอบตึก จอนี้เต็มไปด้วยข้อมูลสถานที่ต่างๆ ที่จะเห็นได้จากวิวในทิศนั้นๆ (แน่นอนว่าแต่ละจอก็เล่าเรื่องต่างกันไปตามวิวของตัวเอง) ทั้งประวัติศาสตร์ ความสำคัญ รวมไปถึงอาหารการกินแถวนั้นที่ไม่ควรพลาด แต่จะเล่าเฉพาะที่เที่ยวที่น่าสนใจ เช่น บางกระเจ้า ตึกใบหยก พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ป้อมมหาชัย รวมไปถึงทะเลอ่าวไทย ความเจ๋งคือเราสามารถกดซูมดูแต่ละจุดใกล้ๆ ได้ ข้อมูลแต่ละจอนี้มีเยอะมากและมีทั้งภาษาไทยและอังกฤษ เราสามารถยืนดูแต่ละจอวนไปเพลินๆ เป็นชั่วโมงยังไม่เบื่อเลยละ



นอกจากนั้นชั้นนี้ยังมีจุดขายเป็นตู้ไปรษณีย์ที่สูงที่สุดในประเทศ (และแน่นอนว่ามีตู้ขายโปสต์การ์ดอัตโนมัติที่สูงที่สุดในประเทศด้วย ฮ่าๆ) เจ้าหน้าที่บอกว่าไปรษณีย์กลางบางรักได้ออกแบบพิเศษให้เป็นตู้ไปรษณีย์แบบโบราณ วิธีการส่งโปสต์การ์ดจากที่นี่คือซื้อจากตู้ขายโปสต์การ์ดอัตโนมัติในราคาใบละ 40 บาท โปสต์การ์ดมีให้เลือกเป็นสิบลาย และจะเป็นแบบติดแสตมป์มาพร้อมแล้ว ที่เหลือเราแค่เขียนแล้วหย่อนตู้ได้เลย จากนั้นเวลาบ่ายสามโมงของทุกวันจะมีบุรุษไปรษณีย์มาไขตู้เก็บโปสต์การ์ดไป



 

อย่างสุดท้ายที่มีให้เล่นที่ชั้นนี้คือ AR (Augmented Reality) ที่มีบาร์โค้ดให้สแกนเล่น เราจะได้เห็นมุมมองกรุงเทพฯ แบบ 360 องศาผ่านมือถือของเราเองนี่แหละ

 

ชั้น 78 กับ Glass Tray



ชั้น 78 ไม่เหมาะกับคนกลัวความสูงทุกประเภท เพราะลูกเล่นของชั้นนี้ไม่ธรรมดา แค่ขึ้นลิฟต์มาปุ๊บเราก็จะเจอที่กั้นรอบล้อมทั้งชั้นเป็นกระจกใสที่ถึงจะสูงท่วมหัวแต่ก็ไร้รอยต่อจนเห็นวิวไปไกลสุดลูกหูลูกตาสาแก่ใจคนชอบท้าความสูงของจริง ไม่ไกลจากลิฟต์เราจะเจอรูฟท็อปบาร์ที่ให้บริการเครื่องดื่มเย็นๆ อยู่




เดินมาอีกนิดในชั้นเดียวกันจะเป็นโซน Glass Tray หรือพื้นกระจกลอยฟ้า ที่สูงจากพื้นถึง 310 เมตร มองๆ ดูอาจไม่เสียวเท่าไร แต่พอก้าวเท้าเข้าไปและมองลงล่างปุ๊บ ต่อให้จิตใจแกร่งกล้าแค่ไหนใจก็ต้องมีร่วงๆ กันไปบ้างแหละ (ส่วนใหญ่ก็ตกไปที่ตาตุ่มกันทั้งนั้น ฮ่าๆ) แต่ถ้าได้มองสักพักจนชิน ได้เดินให้พอรู้ว่าปลอดภัยมั่นคงแล้ว หลังจากนั้นก็เป็นความบันเทิงแล้วละ เพราะ Glass Tray นี้แข็งแรงมั่นคงรับน้ำหนักได้ถึง 150 คนในคราเดียว! แถมยังเข้มงวดเรื่องความปลอดภัย เขาไม่อนุญาตให้กระโดด ทั้งยังจำกัดความจุของคน มีการห้ามปีนป่าย และไม่ให้เด็กขึ้นตามลำพัง ดังนั้นเอาเวลาวิตกจริตมาสนุกกับการโพสท่าถ่ายรูปเล่นดีกว่า




ชั้น 78 กับลูกเล่นวิว 360 องศาแบบไต่ระดับไปจนถึง 314 เมตร



ถ้ายังคิดว่าเสียวไม่พอ เอาละ ขอต้อนรับสู่ความเสียวแบบสูงสุดกับโซน The Peak ที่สูง 314 เมตรของจริง ลูกเล่นก่อนจะไปถึงจุดนั้นคือการที่เราต้องเดินขึ้นบันไดไป และบันไดแต่ละขั้นก็จะมีระดับความสูงระบุไว้ ทันทีที่ขึ้นไปถึงบนสุดในขั้นสุดท้ายแล้วเราแนะนำให้หันหลังกลับไปมองจุดที่เดินผ่านมา นั่นแหละเราว่าคือ The Peak ของจริง เพราะจะเห็นวิวในตัวตึกที่ต่ำลงมาอีกระดับ (แถวๆ Glass Tray ที่เพิ่งเดินผ่านมา) และวิวนอกตัวตึกที่กว้างขวางระดับที่เหมือนไม่มีอะไรกั้นเลย เพราะกระจกใสที่กั้นนั้นใสเกินไปจนหลอกตาเรา จนกระตุ้นให้หัวใจเต้นแรงเอาเสียเดียวนั้นเลย



เอาละ หันกลับมาชมวิวเดอะพีกจริงๆ กัน ตรงชั้นที่สูงที่สุดนี้จะมีโครงสร้างขอบกั้นให้รู้สึกปลอดภัยขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง การถ่ายรูปในจุดที่มีสติกเกอร์ระบุความสูง 314 เมตรแปะไว้คือจุดที่ถูกต้อง เพราะพอถ่ายรูปออกมาชาวโลกจะรู้ว่าเราน่ะพิชิตความสูงที่สุดในกรุงเทพฯ มาแล้วนะเออ



และนั่นคือประสบการณ์ทั้งหมดที่คุณจะได้เจอในราคา 1,050 บาท (แต่ถ้าจะเข้าชมแค่ชั้น 74 แบบอินดอร์เท่านั้นจะอยู่ที่ราคา 850 บาท) อ้อ แต่ตอนนี้มหานคร สกายวอล์กมีโปรโมชั่นบัตรแบบชมทั้งชั้น 74 และ 78 ลดราคาเหลือแค่ 765 บาท (จาก 1,050 บาท) ราคานี้ตั้งแต่วันนี้จนถึง 31 มกราคม 2562 เท่านั้นนะ



ถ้าพูดถึงราคาค่าเข้าชมของที่นี่ก็ถือว่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง ขอเทียบกับตึกของฝั่งเอเชียด้วยกันอย่าง Abeno Harukas ตึกที่สูงที่สุดในญี่ปุ่นยังเก็บค่าเข้าชมแค่เพียง 1,500 เยนหรือราวๆ สี่ร้อยกว่าบาท และถ้าอยากขึ้นไปชมวิวแบบหวาดเสียวสุดๆ อย่าง Edge the Harukas (เป็นการให้เราขึ้นไปเดินและยืนอยู่บนทางเดินแคบๆ ที่สูงที่สุดของตึกแบบมีแผงกั้นเตี้ยๆ แต่ก็ปลอดภัยด้วยห่วงนิรภัยและเชือกที่รัดแน่น พอไปยืนแล้วเขาจะมีบริการถ่ายรูปให้รับกลับบ้านฟรีด้วย) ก็ต้องจ่ายเงินเพิ่มอีกเพียงแค่ 1,000 เยน รวมๆ กันแล้วถ้าจะทำกิจกรรมทั้งหมดของดาดฟ้า Abeno Harukas ก็ยังราคาไม่ถึง 1,000 บาทอยู่ดี



แต่ก็ต้องยอมรับว่าตึกของญี่ปุ่นไม่ได้มี Glass Tray ที่เป็นไฮไลต์เหมือนมหานคร สกายวอล์ก เพราะฉะนั้นการขึ้นตึกไปชมวิวแบบเสียวๆ บนดาดฟ้าแบบนี้ก็เป็นรสนิยมส่วนบุคคล ถ้าไม่ได้ต้องการความเสียวมากแต่อยากได้ภาพสวยๆ มหานคร สกายวอล์กก็ตอบโจทย์ในเรื่องของ Glass Tray ที่ปลอดภัย แถมยังมีจุดแข็งตรงข้อมูลที่อัดแน่นในจอ Info Touch Screen มี AR ให้เล่น และกิมมิกน่ารักอย่างตู้ไปรษณีย์สูงสุดของประเทศด้วย แต่อย่างไรก็ดีนะจ๊ะ พวกเธอจงรีบไปก่อนวันที่ 31 มกราคมจะดีที่สุด เพราะเราจะได้ประสบการณ์ทั้งหมดนี้ในราคาเพียง 765 บาทเท่านั้น! คุ้มจริงพูดเลย

อ้อ แนะนำว่าให้มาช่วงเย็นๆ ลากยาวไปถึงกลางคืน เพราะจะได้เห็นท้องฟ้าเปลี่ยนสีสวยและอากาศดีๆ แน่ๆ แต่ถ้ามาเที่ยงๆ บ่ายๆ แบบเรา ระวังอยู่นานๆ จะโดนเผานะจ๊ะ

มหานคร สกายวอล์ก ณ ตึกคิง เพาเวอร์ มหานคร
114 ถ.นราธิวาสราชนครินทร์ แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพฯ (รถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีช่องนนทรี ทางออก 3)
เปิดทุกวัน เวลา 10.00-24.00 น. (รูฟท็อปบาร์เปิดเวลา 11.00-24.00 น.)
ซื้อบัตรเข้าชมได้ที่ตึกคิง เพาเวอร์ มหานคร


ดลนภา รามอินทรา : ถ่ายภาพ