.jpg)
Lastburi ภาพถ่ายจากช่างปั้นโอ่งที่จะทำให้คุณไม่รู้จัก “ราชบุรี”
ศรัณยู นกแก้ว | Writer | 09 January 2019
ศรัณยู นกแก้ว | Writer | 09 January 2019
“ราชบุรี” เมืองนี้ใครๆ ก็รู้จัก เพราะนี่คือจังหวัดใกล้กรุงเทพฯ ที่นักเดินทางทั้งหลายต้องเคยขับรถผ่าน แต่ภายใต้การขับรถผ่านกลับกลายเป็นว่าแทบไม่มีนักท่องเที่ยวคนไหนได้เข้าไปทำความรู้จักกับราชบุรีอย่างลึกซึ้งและจริงจัง นอกจากเมืองโอ่ง หนังใหญ่วัดขนอน และความโรแมนติกของรีสอร์ตในเขตสวนผึ้งที่ถูกปั้นแต่งให้กลายเป็นทัสคานีเมืองไทยไปแล้ว
กระทั่งวันหนึ่งที่คนราชบุรีแต่กำเนิด ลูกหลานนายช่างโอ่งรุ่นที่ 3 แห่งโรงโอ่งมังกรเถ้า ฮง ไถ่ “วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์” ได้พยายามผลักดันตัวตนของความเป็นราชบุรีให้คนต่างถิ่นรู้จักด้วยการนำงานศิลปะลงไปผสานกับวิถีของชุมชน และหลังจากที่นิทรรศการ “ปกติศิลป์ Art Normal” เปิดตัวไปเมื่อราวปี 2012 ราชบุรีก็ไม่ได้อยู่ในฐานะเมืองผ่านอีกต่อไป ส่วนในปี 2019 นี้คุณวศินบุรีกำลังจะทำให้ราชบุรีกลับมาอยู่ในความทรงจำอีกครั้งผ่านนิทรรศการจากเสียงชัตเตอร์เต็มรูปแบบครั้งแรกของคุณวศินบุรีที่ชื่อ “Lastburi เลือนลาง กระจ่างชัด” ซึ่งจะชวนเราไปเปิดมุมมองใหม่ในราชบุรีที่แม้แต่คนราชบุรีเองก็อาจไม่รู้จักมาก่อน
“แต่ละชุมชนมีเรื่องราวประวัติศาสตร์ มีวิธีการเดินทางของมัน ทุกชุมชนมีปัญหาอุปสรรค ราชบุรีก็เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่ง นิทรรศการครั้งนี้คือการตั้งคำถามว่าราชบุรีอาจจะเป็นเมืองสุดท้ายที่เราอยู่ เป็นเมืองสุดท้ายที่เราเลือก หรือเป็นเมืองสุดท้ายที่กำลังจะหายไปก็ได้ หลายคนอาจมองว่านิทรรศการครั้งนี้เป็นเพียงการแสดงภาพสวยๆ ภาพหนึ่ง ซึ่งก็เป็นธรรมดา เพราะนั่นคือหน้าที่ของศิลปะ หลายคนไม่อ่านตัวหนังสือ ดังนั้นภาพสวยก็เป็นประสบการณ์ที่ผู้ชมจะสามารถรับรู้ร่วมกันได้ แต่สิ่งที่ซ่อนอยู่ในความสวยงามคือเรื่องราวที่เราพยายามเล่า เป็นเรื่องราวของราชบุรีที่มีทั้งความเลือนราง กระจ่างชัด หรือไม่มีอยู่อีกแล้วก็เป็นได้”
Lastburi เลือนลาง กระจ่างชัด ใช้พื้นที่จัดแสดงอยู่ในโรงงานเถ้า ฮง ไถ่ ซึ่งเป็นโรงงานโอ่งผู้บุกเบิกและเปิดตำนานเมืองโอ่งราชบุรี นิทรรศการแบ่งออกเป็น 3 ส่วน เริ่มจากราชบุรีสวยมาก ราชบุรีเลือนหาย และราดบุรี
“ห้องแรกจัดแสดงเป็นโทนสีฟ้าเทาซึ่งเป็นสีประจำจังหวัดราชบุรี แต่ไม่มีใครรู้หรอกว่าสีฟ้าหรือเทา เราเลยตั้งให้ห้องนี้มีสีฟ้ามากกว่าสีเทา เป็นฟ้าเทาเฉดไหน ก็เหมือนตัวตนของเรา ของคนราชบุรีที่เราต้องเริ่มต้นออกค้นหาไปพร้อมๆ กัน ส่วนห้องที่สอง ‘ราชบุรีเลือนหาย’ เราให้พื้นที่สีเทามากกว่าฟ้า ห้องนี้เรามองถึงหลายสิ่งในราชบุรีที่กำลังเลือนรางหายไป เช่น คำขวัญของราชบุรี ที่ในวันที่มีการคิดกันนั้นราชบุรีอาจถูกเลือกเฉพาะบางสิ่งบางอย่างที่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนให้จำ เพราะรัฐบาลยุคนั้นพยายามให้แต่ละจังหวัดเร่งหาอัตลักษณ์เพื่อเป็นจุดขาย ส่งเสริมท่องเที่ยว ทั้งๆ ที่สิ่งที่อยู่ในคำขวัญเหล่านั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่บางอย่างก็กำลังเลือนหาย ซึ่งในนิทรรศการครั้งนี้เราจะให้ผู้ชมเป็นคนเลือกปิด เปิดไฟ เพื่อเลือกว่าจะให้อะไรอยู่และอะไรจะเลือนหาย”
หนึ่งในสิ่งที่กำลังเลือนหายไปจากราชบุรีที่เห็นได้ชัดคือ “ปลายี่สก” ซึ่งอยู่ในลิสต์คำขวัญประจำจังหวัดราชบุรี แต่ปัจจุบันกำลังจะกลายเป็นเพียงตำนาน คุณวศินบุรีจึงเลือกถ่ายทอดออกมาในรูปถ่ายล้อภาพประวัติศาสตร์ทหารอเมริกันกำลังช่วยกันปักธง ในสงครามโลกครั้งที่สอง
“ภาพปักธงนั้นของจริงคือมีการปักธงไปแล้ว แต่ธงมันเล็ก เขาเลยให้ไปปักใหม่ ถ่ายวิดีโอ เก็บภาพใหม่ ภาพนั้นเลยถูกใช้เป็นภาพของชัยชนะ ทั้งๆ ที่มันเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ เหมือนกับเราปักจองพื้นที่ประวัติศาสตร์ รูปปลายี่สกนี่ก็เช่นกัน เป็นเหมือนการปักจองพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่ปัจจุบันอาจไม่ได้มีแล้ว ปลายี่สกเคยเป็นปลาดังของราชบุรีในอดีต ปลายี่สกจะวางไข่ที่กาญจนบุรีแล้วว่ายมาโตและตายที่ราชบุรี ราชบุรีเลยมีปลายี่สก มีป้ายถนนเป็นรูปปลายี่สก ตอนเด็กๆ จำได้เลยว่าวันไหนที่ร้านอาหารจีนมีปลายี่สกเขาจะเอาปลามาแขวนโชว์เลย และเขียนว่าวันนี้มีปลายี่สก เราก็เลยทำรูปล้อเป็นรูปร้านข้าวต้มเล็กๆ เขียนว่า ‘วันนี้ไม่มีปลายี่สก’ เป็นภาพล้อความทรงจำที่ไม่มีอีกแล้ว”
นอกจากรูปปลายี่สกแล้ว นิทรรศการครั้งนี้ยังถอดความหมายของคำว่า “คนสวยโพธาราม คนงามบ้านโป่ง” มาตีความใหม่ด้วยการชวนนางงามราชบุรีรุ่นใหญ่วัย 80 มาร่วมถ่ายภาพกับนางงามรุ่นต่างๆ ที่มาครบแม้แต่นางงามนพมาศในโรงเรียน รวมทั้งรูปในโรงเผาโอ่งที่ดูไม่ค่อยสดใสเช่นเดียวกับโรงงานโอ่งและเตาเผาที่ทยอยถูกปิดลงไป
อีกสิ่งที่เราชอบมากของนิทรรศการครั้งนี้คือการนำเที่ยวราชบุรีในมุมที่เคยมองเห็นผ่านการเดินทางของไอ้จุด ที่ปัจจุบันกลายเป็นแบรนด์ไอคอนของราชบุรีไปเป็นที่เรียบร้อย โดยการเดินทางของไอ้จุดครั้งนี้บอกเลยว่าเข้มข้นทั้งเรื่องวิถีชีวิตและประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นการพาไอ้จุดไปเยือนเขาประทับช้างซึ่งเป็นเส้นทางเดินทัพในอดีต การพาไอ้จุดไปเล่นน้ำกับชาวราชบุรีในวันที่แม่น้ำแม่กลองล้นตลิ่ง หรือแม้แต่การพาไอ้จุดไปเยือนเขางู สถานที่ที่ยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าศิลปะสามารถเข้ามาเปลี่ยนเมืองได้อย่างแท้จริง
“ในวันที่แม่น้ำแม่กลองน้ำขึ้นตลิ่ง เราเอาไอ้จุดไปเล่นน้ำ เป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ช่วงเวลาหนึ่งของราชบุรี หรืออย่างเขางูก็เป็นสถานที่ที่เราชอบมาก เขางูเป็นซิมโบลิกของราชบุรี สมัยก่อนในตอนกลางวันจะมีการระเบิดหินที่เขางู เมืองราชบุรีทั้งเมืองจะเป็นสีขาว แต่วันหนึ่งที่เจอพระพุทธรูปสมัยทวารวดีในพื้นที่ถ้ำของเขางู เขางูจึงถูกประกาศเป็นพื้นที่โบราณสถาน ทำให้ต้องหยุดการระเบิดหิน ซึ่งตรงนี้คือสัญลักษณ์ที่ว่าศิลปะสามารถมาหยุดการทำลายได้ เขางูสำหรับเราคือซิมโบลิกด้านศิลปะ”
สำหรับห้องสุดท้าย “ราดบุรี” คุณวศินบุรีเลือกใช้โทนสีแดงแบบดินราชบุรี พร้อมภาพการราดหรือเรียกว่าสาดดินใส่คนในท้องถิ่น ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละคนมีการตอบสนองและรับมือต่อการราดหรือสาดดินที่แตกต่างกัน ซึ่งนั่นก็เหมือนกับราชบุรีที่วันหนึ่งข้างหน้าอาจต้องเจอความเปลี่ยนแปลงสาดซัดเข้ามา ซึ่งก็ยังไม่มีใครรู้ได้ว่าชาวราชบุรีจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ ได้อย่างไร
นิทรรศการ Lastburi เลือนลาง กระจ่างชัด
จัดแสดงตั้งแต่วันนี้ถึง 17 มีนาคม 2562 ณ พื้นที่แสดงงาน โรงงานเถ้าฮงไถ่ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี