.jpg)
เปิดกรุมรดกทางวัฒนธรรมก่อนเปิดพิพิธภัณฑ์ “บ้านปลายเนิน”
ศรัณยู นกแก้ว | Writer | 13 January 2019
ศรัณยู นกแก้ว | Writer | 13 January 2019
สำหรับคนในแวดวงศิลปะและนาฏศิลป์คงคุ้นกับชื่อ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นอย่างดี เพราะนอกจากจะทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 62 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แล้วพระองค์ยังทรงเป็น “สมเด็จครู” ผู้ทรงเชี่ยวชาญในศิลปะทุกแขนงตั้งแต่ภาพวาด งานช่างสถาปัตย์ ไปจนถึงงานแต่งบทประพันธ์ และการร่ายรำในแวดวงนาฏศิลป์
“การที่ทรงเป็นลูกกษัตริย์ทำให้นายช่างในสมัยนั้นไม่มีใครกล้าสอน พระองค์จึงทรงใช้วิธีการดูนายช่างที่อยู่ในวัดพระแก้วทำงาน ทั้งวาดจิตรกรรม ลงสี จากนั้นทรงจำและนำมาฝึกหัดด้วยพระองค์เอง”
ม.ร.ว.จักรรถ จิตรพงศ์ ทายาทรุ่นหลานกล่าวถึงจุดเริ่มต้นของพระสมัญญานาม “นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม” ซึ่งองค์การยูเนสโกเองก็ได้ยกย่องพระองค์ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกผู้พลิกโฉมประวัติศาสตร์ศิลปะไทยให้พัฒนาอย่างก้าวกระโดด และหลังจาก พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นปีที่พระองค์สิ้นพระชนม์ ห้องบรรทมบนชั้น 2 ตำหนักตึก ณ บ้านปลายเนิน ที่ตั้งอยู่ปลายเนินรถไฟคลองเตยก็ถูกปิดไว้ให้เป็นดั่งไทม์แคปซูลที่เก็บเรื่องราวของสมเด็จครู รวมทั้งเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ไทยในอดีตไว้อย่างสมบูรณ์
กระทั่งเวลาผ่านไปร่วม 66 ปี เมื่อ หม่อมเจ้าหญิงกรณิกา จิตรพงศ์ พระธิดาองค์สุดท้ายที่ประทับ ณ บ้านปลายเนินได้อนุญาตให้ทายาทรุ่นเหลนเปิดห้องบรรทมของพระองค์ท่านขึ้นเป็นครั้งแรก จึงได้พบว่านอกจากข้าวของเครื่องใช้ส่วนพระองค์แล้ว หีบห่อแรกที่ถูกเปิดออกยังมีภาพถ่าย แบบร่างฝีพระหัตถ์ในงานออกแบบสำคัญของสยามในครั้งนั้นเกือบทั้งหมด และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดทำทะเบียนและค้นคว้าประวัติข้อมูล เพื่อที่จะปรับปรุงบ้านปลายเนินให้เป็นพิพิธภัณฑ์ ซึ่งคาดว่าจะเปิดอย่างเป็นทางการในวันนริศ หรือวันที่ 28 เมษายน 2562 นี้
“ห้องบรรทมของสมเด็จทวดเหมือนเป็นไทม์แคปซูลที่เก็บทุกอย่างไว้เหมือนตอนที่พระองค์อยู่ ทั้งเล็บ ผม ภาพร่างฝีพระหัตถ์สถานที่สำคัญอย่างวัดราชาธิวาส ภาพร่างพระอาทิตย์ชักรถในพระที่นั่งบรมพิมาน ภาพหน้าต่างพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรฯ พระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ 5 สมุดบันทึก หัวโขนพระลักษณ์ที่ประดับลายแทนการเขียนลาย หนังสือศิลปะที่ทรงอ่าน ซึ่งมีอายุเกิน 100 ปีทั้งนั้น และตอนนี้ที่เราสืบค้นข้อมูลได้แล้วมีเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ของของที่เก็บไว้เท่านั้น แต่ก็อยากจะรีบนำออกมาเก็บไว้ในสภาพที่ดี เพื่อไม่ให้ลายเส้นต่างๆ เลือนหาย”
ม.ล.ตรีจักร จิตรพงศ์ ทายาทรุ่นเหลนเผยถึงโครงการพัฒนาบ้านปลายเนินยุคใหม่ที่กำลังจะเปลี่ยนให้เป็นพิพิธภัณฑ์ ซึ่งนอกจากการเก็บรวบรวมข้อมูลแล้ว การปรับปรุงอาคาร สวน และคูคลองในบ้านปลายเนินก็เป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไป เพราะทุกตารางนิ้วในบ้านปลายเนินล้วนมีภาพจำ ภาพประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่าซ่อนไว้ทั้งสิ้น เริ่มจาก “ตำหนักไทย” เรือนหลังแรก ณ บ้านปลายเนิน โดยสมเด็จครูทรงซื้อบ้านทรงไทยหลังนี้ต่อมาจากเรือนพระยาราชมนตรี (ภู่ ภมรมนตรี) จากนั้นขยายเรือนให้ต่อกันเป็นเรือนแถวยาวคล้ายรถไฟ ถือได้ว่าเป็นการฉีกกรอบงานสถาปัตยกรรมไทยที่นิยมตั้งเรือนหมู่ให้อยู่ในวงเดียวกัน และตำหนักไทยนี้เองที่เป็นที่ตั้งของโรงละครให้เด็กๆ ได้มาหัดเต้นโขน หัดรำ จนกลายเป็นที่มาของ “คณะละครสมัครเล่นบ้านปลายเนิน” ที่เปิดทำการสอนนาฏศิลป์ไทยแบบแผนเดิมมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะละครดึกดำบรรพ์หรือโอเปร่าไทยนั้นสมเด็จครูทรงประพันธ์บทละครไว้หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นอิเหนา รามเกียรติ์ อุณรุท สังข์ทอง คาวี สังข์ศิลป์ชัย และมณีพิชัย เป็นต้น
“คณะละครของบ้านปลายเนินมีมาแต่อดีต เสด็จทวดจึงทรงออกแบบสวนกลางบ้านให้เป็นเหมือนกับฉากในละคร มีภูเขา แม่น้ำ มีมุมที่นางละครจะรำออกมาเปิดตัว ทางเดินตรงนี้เรายังคงรักษาไว้ เรียกว่าทางเสด็จ เป็นทางเดินที่รัชกาลที่ 8 รัชกาลที่ 9 พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จทรงเยี่ยมพระอัยกาที่ตำหนักตึก ซึ่งตำหนักตึกแห่งนี้คือที่ที่สมเด็จทวดสิ้นพระชนม์”
ม.ล.จิตตวดี จิตรพงศ์ ทายาทรุ่นที่ 4 ของราชสกุล “จิตรพงศ์” นำชมความทรงจำในอดีตที่มีอยู่ทุกตารางนิ้วของบ้านปลายเนินไม่เว้นแม้แต่ต้นไม้ไทยที่มีอายุร่วมร้อยปี
“บ้านปลายเนินยุคใหม่ที่กำลังจะกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ไม่เพียงเล่าเรื่องราวของนายช่างใหญ่แห่งสยามว่าเก่งอย่างไร แต่ยังเล่าถึงวิถีชีวิต ท่านอยู่อย่างไร นอนตรงไหน อ่านอะไร ฟังเพลงอะไร ใช้สิ่งของอะไร และทำอย่างไรท่านถึงได้พัฒนาตัวเองเป็นช่างใหญ่ที่เก่งรอบด้านถึงเพียงนี้”
ม.ล.ตรีจักรเล่าถึงบรรยากาศของพิพิธภัณฑ์ ณ บ้านปลายเนินที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยขณะนี้ทางบ้านปลายเนินกำลังเร่งปรับปรุงในส่วนของตำหนักไทยเป็นสถานที่แรกเพื่อให้ทันงานวันนริศ ซึ่งตรงกับวันที่ 28 เมษายน และเป็นวันเดียวที่บ้านปลายเนินเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชม แน่นอนว่าเพื่อนเดินทางก็จะไม่พลาดที่จะพาผู้อ่านไปชมเช่นกัน
ขอบคุณภาพถ่าย: บ้านปลายเนิน และ FYI Bangkok