ความลับกรุงเทพฯ ที่ชื่อ “เจริญไชย” ย่านกระดาษไหว้เจ้าเก่าแก่ที่สุดในไทย
ศรัณยู นกแก้ว | Writer | 04 February 2019
ศรัณยู นกแก้ว | Writer | 04 February 2019
ในรอบปีเยาวราชจะคึกคักและครึกครื้นที่สุดเห็นจะเป็นช่วงกินเจ ไหว้พระจันทร์ และตรุษจีน เหตุผลไม่ใช่เพียงเยาวราชเป็นถิ่นฐานของชาวจีนอพยพมาตั้งแต่ครั้งต้นรัตนโกสินทร์ แต่เยาวราชยังเป็นแหล่งผลิตเครื่องใช้ไม้สอยในงานพิธีกรรมของชาวจีนที่ครบวงจรที่สุดในไทย โดยเฉพาะในตรอกเล็กๆ ที่นำคำว่า “พลับพลาไชย” มารวมกับ “เจริญกรุง” กลายเป็น “เจริญไชย” นั้นถือได้ว่าเป็นแหล่งผลิตกระดาษสำหรับใช้ในงานพิธีกรรมของชาวจีนที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงเทพฯ และเมืองไทย ส่วนใครที่ยังนึกไม่ออกว่าย่านเจริญไชยอยู่ตรงไหนให้เสิร์ชหาพิกัด “ร้านบะหมี่จับกัง” ในตำนาน ลึกเข้าไปในซอยบะหมี่จับกังที่มีเสียงพับกระดาษดังแว่วมา...นั่นแหละคือเจริญไชย
จากตึกแถวอิฐปูนรุ่นแรกในสยามสู่ย่านโรงน้ำชา
เจริญไชยไม่ได้น่าสนใจสำหรับคนที่ไปจับจ่ายซื้อของสำหรับไหว้เจ้าหรือไหว้บรรพบุรุษในเทศกาลต่างๆ ของชาวจีนเท่านั้น แต่ประวัติศาสตร์ของตรอกเจริญไชยก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เริ่มตั้งแต่ตึกลูกเสี้ยวไทย ฝรั่ง จีน ที่เรียงรายกันอยู่ริมถนนมานานกว่า 126 ปี ซึ่งถือเป็นอาคารโครงสร้างอิฐและปูนยุคแรกๆ ในสยาม โดยนำรูปแบบมาจากอาคารสำหรับชนชั้นแรงงานและชนชั้นกลางในสิงคโปร์ นับว่าเป็นโชคดีที่ตึกเหล่านี้ยังไม่ได้ถูกรื้อถอนสร้างอาคารใหม่เหมือนอีกหลายพื้นที่ในเยาวราช นั่นจึงยังคงทำให้คนรักงานสถาปัตย์สามารถเดินเก็บแต้มชมโครงสร้างตึกเก่านับได้ราว 60 ห้องตลอดซอย
อดีตของเจริญไชยนั้นนอกจากเป็นย่านที่อยู่อาศัยของแรงงานชาวจีนแล้วก็ยังเป็นย่านของธุรกิจโพยก๊วน* รวมทั้งโรงน้ำชา หญิงโคมเขียวก็มีด้วยเช่นกัน ต่อมาเมื่อโรงน้ำชาถูกแทนที่ด้วยสถานลีลาศ กิจการหญิงโคมเขียวก็เริ่มหายไปจากตรอกเจริญไชยและเยาวราชจนเหลือแต่ร้านค้าพาณิชย์ทั่วไป แต่ด้วยความที่เจริญไชยตั้งอยู่ใจกลางของศาลเจ้าจีนถึง 5 แห่งจึงทำให้สินค้าประเภทกระดาษไหว้เจ้า ไหว้บรรพบุรุษ กระดาษสำหรับพิธีกรรมความเชื่อกลายเป็นสินค้าขายดีจนเป็นเอกลักษณ์ของตรอกเจริญไชยมาจนปัจจุบัน และแม้กระดาษส่วนใหญ่จะนำมาจากโรงงาน แต่ทุกบ้าน ทุกร้านต้องนำกระดาษมาพับให้สวยงามตามสไตล์และแบบของตัวเอง
บ้านเก่าเล่าเรื่อง ชุมชนเจริญไชย
แม้เจริญไชยจะเป็นย่านที่ยูนีก มีเรื่องการพับกระดาษงานพิธีกรรมจีนเป็นรากที่แข็งแกร่ง ทว่าหากใครได้เข้ามารู้จักเจริญไชยอย่างลึกซึ้งจะประหลาดใจมากว่าช่วงตรอกแคบๆ ระยะทางสั้นๆ นี้กลับรวมวัฒนธรรมจีนโบราณให้ได้เห็นมากมาย โดยเฉพาะในพิพิธภัณฑ์ชุมชน “บ้านเก่าเล่าเรื่อง ชุมชนเจริญไชย” ซึ่งตั้งอยู่กลางตรอก
ที่บ้านเก่าเล่าเรื่อง ชุมชนเจริญไชยนั้นจะทำให้นักท่องเที่ยวได้รู้จักวัฒนธรรมการพับกระดาษจีนโบราณและการตั้งต้นของชุมชน แต่มากกว่านั้นเรายังได้เห็นการทำโคมกระดาษแก้วในเทศกาลไหว้พระจันทร์ที่สูญหายไปแล้วอย่างสมบูรณ์จากชุมชน รวมทั้งตำราโหราศาสตร์จีนโบราณที่หายไปพร้อมกับการเสียชีวิตของ “เฮียฮก แซ่ปึง” ซึ่งสืบทอดตำราโหราศาสตร์จีนจากเตี่ยที่นำตำรามาจากเมืองจีนด้วย ไม่นับรวมร้านล้างฟิล์ม ขายอุปกรณ์ น้ำยาสำหรับอัดขยายรูปที่ก็หายจากไปในระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี
สำหรับคนทั่วไปสามารถแวะไปชมบ้านเก่าเล่าเรื่อง ชุมชนเจริญไชยได้ทุกวัน แต่บางวันพิพิธภัณฑ์อาจปิด เนื่องด้วยทีมงานที่อยู่เบื้องหลังก็คือพ่อค้าแม่ขายที่อยู่ในชุมชนนั่นเอง และก็มีอีกหลายวันที่บ้านเก่าเล่าเรื่อง ชุมชนเจริญไชยชวนคนในชุมชนมาเล่าเรื่องเก่าๆ เล่าความรุ่งเรืองของย่านนี้ในอดีต ซึ่งก็ไม่แน่ว่าเรื่องเก่าเหล่านี้จะยังคงอยู่คู่เจริญไชยไปถึงเมื่อไร
เที่ยว 5 ศาลเจ้ารอบตรอกเจริญไชย
นอกจากเรื่องเล่าในตรอกแล้ว ล้อมรอบถนนเจริญไชยยังน่าเดินน่าเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวสายบุญและสายมูที่นิยมไหว้พระ ขอพรเทพเซียนเสริมกำลังใจให้ชีวิต รอบตรอกแห่งนี้ยังมีศาลเจ้าให้ไหว้สักการะถึง 5 แห่ง ได้แก่
ตำนานบะหมี่จับกัง และย่านกล้องฟิล์มแห่งสุดท้าย
มาถึงเยาวราชแล้วไม่ได้แวะกินอาหารจีนอร่อยๆ เขาเรียกว่ามาไม่ถึง ใครที่อยากรู้ว่ารอบย่านเจริญไชยมีอะไรอร่อยต้องบอกต่อ ที่พิพิธภัณฑ์ “บ้านเก่าเล่าเรื่อง ชุมชนเจริญไชย” มีลายแทงของอร่อยแนะนำโดยคนในชุมชน แต่ถ้ามีเวลาน้อยแนะนำให้พุ่งตัวไปที่คิวอันยาวเหยียดของ “บะหมี่จับกัง” ซึ่งขายมากว่า 50 ปี มีให้เลือกทั้งบะหมี่และเกี๊ยวหมู
ความเด็ดที่เป็นเอกลักษณ์ของบะหมี่จับกังคือเรื่องปริมาณที่สวนทางกับราคา ทั้งเส้นและหมูให้มาเยอะมาก กินเช้าจุกไปถึงค่ำ ส่วนรสชาตินั้นแม้มีความมันเยิ้มไปนิดแต่อร่อยไม่ต้องปรุง ใครแน่จริงให้สั่งบะหมี่แห้ง เพราะเฮียเจ้าของร้านให้เส้นมาแน่นมาก มาก ถึงมากที่สุด
ออกจากร้านบะหมี่จับกังเราเห็นได้ว่าตลอดถนนด้านหน้าตรอกเจริญไชยเต็มไปด้วยร้านกรอบรูป ซึ่งก่อนจะมาเป็นย่านร้านกรอบรูป เจริญไชยเรื่อยไปถึงพลับพลาไชยคือย่านอุปกรณ์ล้างอัดรูปที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย ไม่ว่าฟิล์ม น้ำยา กระดาษ อุปกรณ์เคมีที่เกี่ยวกับการล้างรูปมีอยู่ที่นี่ครบวงจรกว่า 10 ร้าน แต่เมื่อระบบดิจิทัลเข้ามาก็ทำให้กิจการขายฟิล์มที่ทำยอดได้เดือนละนับหมื่นม้วนเปลี่ยนเป็นกิจการกรอบรูปไปเกือบหมด จะมีช่วงนี้ที่กล้องฟิล์มกลับมาฮิตอีกครั้ง ทำให้ร้านโฟโต้ในย่านเจริญไชยได้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งแม้จะไม่เหมือนเดิมก็ตาม ซึ่งทั้งหมดคือเจริญไชย...ความลับของกรุงเทพฯ ที่เราอยากชวนทุกคนมารู้จัก
ภาพ: ชัชวาล จักษุวงค์
หมายเหตุ: *โพยก๊วน หมายถึง กิจการรับส่งธนาณัติและจดหมายของชาวจีนที่อยู่ในเมืองไทยกลับไปให้ญาติพี่น้องที่ประเทศจีน
อ้างอิง: หนังสือ “บันทึกเจริญไชย คนจีนสยาม”
บ้านเก่าเล่าเรื่อง ชุมชนเจริญไชย: ตรอกเจริญไชย (ซอยเจริญกรุง 23) facebook.com/charoenchaichinatown