ในหุบเขาแห่งกาลเวลา...กาฐมาณฑุ
แพร ปุโรทกานนท์ | Writer | 09 February 2019
แพร ปุโรทกานนท์ | Writer | 09 February 2019
สำหรับบ้านเมืองที่เรื่องราวจากกาลเวลาหล่นซ่อนแทรกไว้ตรงนั้นตรงนี้อย่างประเทศเนปาล การเลือกบานประตูเพื่อเปิดไปทำความรู้จักนับเป็นความตื่นเต้นที่มีเสน่ห์ต่อหัวใจ หลังประตูแต่ละบานบรรจุเรื่องราวที่สำคัญในห้วงเวลาใดเวลาหนึ่งเสมอ สุดแต่นักเดินทางจะเลือก “แรกพบ” ของตนเอง เพราะโลกกว้างของแต่ละคนอาจเริ่มต้นในเส้นทางที่ต่างกัน
ในโอบกอดของหิมาลัย นักเดินทางหลายคนอาจปักหมุดในใจว่าจัตุรัสกาฐมาณฑุ ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่ากาฐมาณฑุเดอร์บาร์สแควร์ หรือในอดีตคือเมืองโบราณนาม กานติปุระ จะเป็นสถานที่แรกที่พาตัวเองมาสูดซับจิตวิญญาณแห่งอดีตผ่านวังวัดที่สร้างอย่างวิจิตรตระการตา แล้วต่อด้วยอีกสองเมืองโบราณที่เคยรุ่งเรืองในหุบเขากาฐมาณฑุ คือ ภักตปุระ และ ลลิตปุระ (หรือปาตันในปัจจุบัน) เพื่อเกี่ยวเก็บกลิ่นอายสมัยที่ทั้งสามเมืองยังไม่ได้ผนึกรวมเป็นราชอาณาจักรเนปาลให้ครบ
ในบรรดาสามเมืองโบราณในหุบเขาแห่งนี้ ภักตปุระ (Bhaktapur) มีขนาดใหญ่ที่สุด มีวัดมีวังมากที่สุด ประวัติศาสตร์ของเมืองย้อนกลับไปได้ไกลถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 8 และมียุคทองตกในสมัยกษัตริย์ภูปตินทระ มัลละ ในศตวรรษที่ 17 ชื่อเมืองเป็นภาษาสันสกฤตมีความหมายว่า “นครแห่งผู้ภักดี”
ภักตปุระนี้อยู่ห่างจากกาฐมาณฑุประมาณ 20 กิโลเมตร ว่าแท็กซี่ให้ไปส่งและรอรับกลับได้ ระหว่างทางจะได้สัมผัสประสบการณ์ “ใดใดล้วนเป็นไปได้บนถนนเนปาล” ฉีกหมดทุกกฎเกณฑ์ ไปทุกที่ที่มีทาง แม้ไม่มีทางก็ยังไป ดื่มด่ำลีลาเหยียบคันเร่ง เบรกไม่มีของสิงห์สนามทั้งหลายแล้วก็เผื่อใจมองสองข้างทางด้วย บ้านเรือนทรงสี่เหลี่ยมในม่านฝุ่นสีทรายเรียงสูงๆ ต่ำๆ ยามพระอาทิตย์ลอยต่ำ ทั้งเมืองก็งามราวกับมีแสงสีชมพูอาบไล้
เช่นเดียวกับอีกสองเมืองโบราณในหุบเขากาฐมาณฑุ ภักตปุระได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโก ความวิจิตรตระการของเมืองยังหลงเหลือให้ชมในพื้นที่ของ Bhaktapur Durbar Square หรือ จัตุรัสภักตปุระ ที่งามจนคนลือคือ ประตูทองซุนโดกา (Sundhoka) หน้าพระราชวัง กล่าวกันว่านี่เป็นประตูที่งามที่สุดในเนปาล ทองเหลืองที่ผ่านการดุนลายละเอียดยิบเป็นงานมือแบบโบราณที่น่าทึ่งอย่างที่สุด หลังประตูคือเขตแดนของพระราชวัง งานแกะสลักยังตามติดอย่างต่อเนื่องผ่านรูปสลัก กรอบหน้าต่างไม้ลายละเอียด เดินเรื่อยไปอีกนิดจะพบวัดตาเลจู ปากประตูมีคนเฝ้าแข็งขัน ไม่อนุญาตให้ผู้ที่ไม่ใช่ชาวฮินดูเข้า กล้ำกลืนความเสียดายแล้วเดินต่อไปอีกนิด เส้นทางจะพาไปทะลุยังสุนธารา หรือบ่อน้ำของกษัตริย์ที่ทรงใช้ประกอบพิธีสรงน้ำศักดิ์สิทธิ์ คนท้องถิ่นเรียกบ่อน้ำนี้ว่า นาคาโภครี
หากใครยังจำภาพยนตร์เรื่อง Little Buddha โดยผู้กำกับ Bernardo Bertolucci นำแสดงโดย Keanu Reeves หนังเก่าในปี 1993 ได้ หลายฉากถ่ายทำที่เนปาล หนึ่งในนั้นก็คือที่บ่อน้ำนาคาโภครีแห่งนี้ รูปหล่องูจงอางสัมฤทธิ์อาจเป็นหนึ่งในฉากจำของใครหลายคน ตัวบ่อขุดลึกต่ำกว่าระดับพื้นดิน ร่างคดโค้งของงูใหญ่โอบล้อมรอบบ่อทุกด้าน ลึกลับน่าเกรงขามและชวนประหวั่นไปพร้อมๆ กัน
อีกหนึ่งอาคารสร้างชื่อของภักตปุระที่สร้างขึ้นในสมัยกษัตริย์ภูปตินทระคือ พระราชวัง 55 พระแกล เรื่องเล่าตกทอดกันมาว่า ความที่ทรงมีพระสนมมาก เรื่องปวดหัวเช่นแย่งหน้าต่างกันชมเมืองจึงบังเกิด กษัตริย์ภูปตินทระจึงทรงแก้ปัญหาด้วยการสร้างหน้าต่าง 55 บาน แบ่งกันไปเลยบานใครบานมันหมดเรื่อง ไม่ห่างจากพระราชวังหลวงที่จัตุรัสภักตปุระคือ จัตุรัสเตามะธิ (Taumadhi Square) พื้นที่จัตุรัสนั้นไม่ใหญ่ รอบด้านขนาบด้วยวัด วัดที่ใหญ่ที่สุดชื่อ ญาตะโปละ (Nyatapola) ปะหน้าครั้งแรกเราถึงกับแหงนคอมอง เพราะใหญ่จริง สูงจริง เฉพาะแค่ฐานบันไดหินก็สูง 20 เมตรแล้ว สร้างตามแบบศิลปะเนวาร์ คือทรงสี่เหลี่ยม มีหลังคาหลายชั้นลดหลั่นกัน สร้างถวายแด่เทวีสิทธิลักษมี ซึ่งเป็นปางหนึ่งของเจ้าแม่ทุรคา ภายในประดิษฐานรูปปั้นเจ้าแม่ ทว่าน้อยคนนักจะมีโอกาสเห็นแม้แต่ชาวฮินดูเอง เว้นแต่นักบวชฮินดูที่มีหน้าที่ประกอบพิธีบูชา
อีกหนึ่งไฮไลต์ของภักตปุระที่ซ่อนตัวอยู่ในตรอกแคบๆ คือ หน้าต่างนกยูง (Peacock Window) อันลือลั่น ที่เก่าแก่ย้อนกลับไปได้ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 15 แพนหางนกยูงที่แผ่กลมนั้นงามละเอียดราวกับจะเคลื่อนไหวได้ ใต้บานหน้าต่างมีป้ายแปะไว้เขียนว่า ถ้าอยากถ่ายรูปสวยๆ ให้ขึ้นไปยืนถ่ายจากหน้าต่างชั้นสองของร้านตรงข้าม มองตามไปก็เห็นเป็นร้ายขายของที่ระลึก จุดที่ทางร้านใจดีให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปคือช่องหน้าต่างตรงพอดีเป๊ะกับหน้าต่างนกยูงฝั่งตรงข้าม ถ่ายภาพได้สบายใจ และไม่มีใครบังคับให้เสียเงินซื้อของในร้านหลังถ่ายรูปเสร็จด้วย
จากภักตปุระขยับสู่เมืองโบราณแห่งที่สาม ซึ่งอยู่ใกล้เมืองหลวงกาฐมาณฑุแค่ 5 กิโลเมตรลงมาทางใต้ ห่างเพียงแม่น้ำบักมาตี (Bagmati River) กั้น เมืองนั้นคือ ปาตัน (Patan) หรือชื่อในอดีตคือลลิตปุระ (Lalitapur) มีความหมายว่านครแห่งความงดงาม แม้เป็นเมืองเก่าที่มีขนาดเล็กที่สุดในบรรดาสามเมืองโบราณในหุบเขากาฐมาณฑุ แต่ความงามของวังวัดแห่งปาตันไม่เป็นสองรองใคร ก่อนเดินละเลียดชม จัตุรัสปาตัน หรือ ปาตันเดอร์บาร์สแควร์ (Patan Durbar Square) อยากเชิญชวนให้มองภาพรวมเมืองโบราณนี้เสียก่อนที่วัดพระศิวะซึ่งอยู่ตรงข้ามประตูทางเข้าฝั่งทิศใต้ ลานด้านบนของวัดให้ภาพวังและวัดในจัตุรัสปาตันเบื้องหน้าได้ตระการใจ ละครไทยบางเรื่องก็เคยยึดพื้นที่ตรงนี้เป็นโลเคชันมาแล้ว
เทียบกับเมืองโบราณกานติปุระและภักตปุระแล้ว ผังเมืองของปาตันกะทัดรัดและเดินเที่ยวง่ายกว่า วังกับวัดแยกกันสองฝั่ง ผ่ากลางด้วยถนน หากซื้อบัตรเข้าชมจากทางเข้าฝั่งทิศใต้ พระราชวังจะอยู่ทางขวามือ มีรูปปั้นของเทพ 3 องค์ประดิษฐานเรียงกันหน้าวัง คือ หนุมานที่มองไม่เห็นหน้าตาว่าเป็นอย่างไร ด้วยตลอดร่างถูกปกคลุมด้วยผ้าและผงบูชาต่างๆ ที่ชาวฮินดูนำมาสักการะ ถัดมาคือรูปปั้นนรสิงห์ ร่างอวตารของพระนารายณ์ ต่อด้วยพระคเณศ อาคารเบื้องหลังองค์เทพทั้งสามคือ โฉก (Chowk) หนึ่งของพระราชวังหลวงแห่งลลิตปุระ โฉก คือ ลานกว้างระหว่างอาคารในพระราชวัง เป็นพื้นที่สำหรับประกอบพิธีต่างๆ ทั้งที่เกี่ยวกับศาสนาและวัฒนธรรมประเพณี มีชื่อเรียกต่างกันไปในแต่ละโฉก สำหรับโฉกนี้มีชื่อว่า สุนดารีโฉก (Sundari Chowk)
ความน่าตื่นตาอย่างยิ่งของสุนดารีโฉกคือ บ่อน้ำตุศาฮิติ (Tushahiti) สร้างในปี 1647 ตรงกับรัชสมัยของกษัตริย์สิทธินรสิงห์ มัลละ สันนิษฐานว่าใช้สำหรับพิธีสรงน้ำของกษัตริย์ บ่อทรงรีเกือบกลมนี้ขุดลึกต่ำกว่าระดับพื้นดิน ใจกลางบ่อด้านหนึ่งมีรางท่อน้ำสัมฤทธิ์ยื่นออกมา ด้านบนประดับทองเหลืองรูปพระนารายณ์และพระลักษมีทรงครุฑ ทอประกายเรืองท่ามกลางสีเทาทะมึนของบ่อหิน ให้อารมณ์ว่าน้ำที่ไหลออกจากท่อนี้ต้องศักดิ์สิทธิ์อย่างไม่ต้องสงสัย ส่วนรอบๆ บ่อยังมีรูปสลักเทพ เทวี สัตว์ในตำนานกว่า 50 ชิ้น เป็นบ่อน้ำที่งามประหลาดจนกองถ่ายภาพยนตร์เรื่อง Little Buddha ก็ไม่พลาดใช้เป็นฉากหนึ่งในหนังเช่นกัน
โฉกที่อย่าพลาดเป็นอันขาดคือเกศวะนารายัณโฉก (Keshav Narayan Chowk) ที่ปัจจุบันกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ที่ดีงามมากที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียใต้ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ความเชื่อต่างๆ สะท้อนผ่านวัตถุจัดแสดงที่มีตั้งแต่แผ่นหินจารึกโบราณ ชิ้นส่วนของสถาปัตยกรรม งานศิลปะ ตลอดจนรูปเคารพของผู้คนแถบนี้ในอดีต ซึ่งผสมผสานระหว่างฮินดูและพุทธอย่างไม่อาจแยกขาดจากกัน
ความที่ปาตันเป็นเมืองเล็กๆ หลายคนเลือกเที่ยวแบบหนึ่งวันจบ แต่นักเดินทางบางคนที่โปรดอารมณ์ละเมียดก็เลือกค้างที่ปาตัน และจองห้องพักกันข้ามปีเพื่อให้แน่ใจว่าได้นอนที่ เนวาเชน (Newa Chén) แน่ๆ ที่นี่คือบ้านแบบเนวาร์ดั้งเดิมที่สร้างในสมัยราชวงศ์มัลละ ตกทอดมาเป็นของตระกูล Hyaamo และต่อมาก็ปรับมาเป็นโรงแรมภายใต้โครงการบูรณะและรักษาบ้านเนวาร์ในหุบเขากาฐมาณฑุโดยความร่วมมือระหว่างองค์การยูเนสโก การท่องเที่ยวเมืองปาตัน และกลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน เปิดให้เข้าพักมาตั้งแต่ปี 2006
ประตูทางเข้าบ้านเนวาเชนค่อนข้างเตี้ยเล็กเช่นเดียวกับประตูวัง เป็นอุบายที่ต้องการให้ผู้มาเยือนค้อมตัวเดินเข้าสู่ภายในเพื่อให้ความเคารพต่อเจ้าของสถานที่ ตัวอาคารทรงสี่เหลี่ยมปลูกสร้างด้วยอิฐโบราณและไม้ โอบล้อมลานกลางบ้านที่เหมือนโฉกในพระราชวัง ความขึงขังจนเกือบแข็งของตัวอาคารลดทอนลงเมื่อประดับด้วยกรอบหน้าต่างไม้สลักลายละเอียด แน่นอนว่าการจะเช็กอินเข้าพักที่นี่ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะเต็มตลอด แต่ไม่ต้องเสียใจไป เพราะนักท่องเที่ยวสามารถเดินเข้าไปชมภายในและถ่ายภาพแต่พองามได้ เจ้าของบ้านเขาไม่หวง
พระราชวังแห่งความทรงจำ
ใครบางคนอาจมีคำถาม หากวังหลวงแห่งสามเมืองโบราณที่กล่าวไปก่อนหน้าไม่ใช่ที่อยู่ของกษัตริย์เนปาลอีกต่อไป แล้วเจ้าบ้านเจ้าเมืองในกาลสมัยถัดมาทรงประทับอยู่ที่ใดกันเล่า คำตอบอยู่ไม่ไกลจาก ทาเมล (Thamel) แหล่งรวมที่พัก ที่กิน ที่ชอปสำหรับนักเดินทางจากทั่วมุมโลก
“ได้โปรดฝากสัมภาระทุกอย่างของคุณไว้ที่นี่ เราไม่อนุญาตให้นำกระเป๋าและกล้องถ่ายรูปเข้าไปภายใน โทรศัพท์มือถือด้วย”
เจ้าหน้าที่ด้านหน้าของ “พิพิธภัณฑ์พระราชวังนารายัณฮิติ (Narayanhiti Palace Museum)” กลางกรุงกาฐมาณฑุบอกกล่าวนักท่องเที่ยวที่ซื้อบัตรเข้าชมราคา 500 รูปีเรียบร้อยและกำลังจะก้าวเท้าเดินผ่านไป เราตบกระเป๋าเสื้อผัวะผะค้นหาว่ามีทรัพย์สินใดในตัวหลงเหลือและต้องนำฝากอีกบ้าง สิ่งที่ติดออกมาคือพาสปอร์ต ตามองตา เจ้าหน้าที่สาวอมยิ้มแล้วพูดเบาๆ “เอาไปได้ค่ะมาดาม” เรากล่าวขอบคุณแล้วเดินตัวเบาไร้กระเป๋าเข้าไปภายใน
ตัวอาคารพระราชวังนารายัณฮิติออกแบบโดยสถาปนิกตะวันตก ผสมผสานระหว่างลักษณะสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นดั้งเดิมที่เน้นรูปทรงสี่เหลี่ยมเข้ากับดีไซน์ร่วมสมัยที่ลดทอนรายละเอียดลง กลิ่นอายของยุคสมัยที่สร้างคือระหว่างปี 1963-1969 สะท้อนเป็นเงาให้พอรู้สึก
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าพระราชวังนารายัณฮิติหลังที่เห็นในปัจจุบัน บนพื้นที่เดียวกันนี้เองเคยมีพระราชวังนารายัณฮิติหลังเดิมอยู่ สร้างขึ้นราวปลายศตวรรษที่ 19 สำหรับเป็นที่ประทับของ กษัตริย์ปฤถวีพีรพิกรม ชาห์ (Prithvi Bir Bikram Shah) แทนพระราชวังหนุมานโดกาที่จัตุรัสกาฐมาณฑุ และหลังจากนั้นพระราชวงศ์ของเนปาลก็ประทับที่นี่สืบต่อเรื่อยมา แม้เกิดเหตุแผ่นดินไหวในปี 1934 จนพระราชธิดาถึงสองพระองค์ของกษัตริย์ตรีภูวันสิ้นพระชนม์ และบางส่วนของอาคารพังทลายเสียหาย ก็มีการซ่อมแซมพระราชวังขึ้นใหม่ จวบจนถึงปี 1963 ในรัชสมัยของกษัตริย์มเหนทราจึงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อของเก่าออกเพื่อสร้างพระราชวังขึ้นใหม่ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน
เมื่อก้าวเข้าสู่ความมืดครึ้มภายในพระราชวัง ต่อมช่างรู้สึกบอกตัวเองทันทีว่าวังแห่งนี้เหมือนมีมวลความเศร้าลอยอยู่ อาจเพราะเรารู้เหมือนกับที่คนทั่วโลกรู้ว่าเมื่อ 18 ปีก่อนที่นี่เคยมีเหตุการณ์ช็อกโลกใดเกิดขึ้น ในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2544 ในงานเลี้ยงที่น่าจะชื่นมื่นของเหล่าพระราชวงศ์ ทว่าในฉับพลันที่ไม่มีใครตั้งตัว มกุฎราชกุมารทิเพนทระก็ปรากฏพระองค์ขึ้นพร้อมอาวุธปืนและทรงกราดยิงใส่พระญาติ มีพระบรมวงศานุวงศ์สิ้นพระชนม์กว่า 10 ชีวิต ในจำนวนนั้นคือสมเด็จพระราชาธิบดีพิเรนทระ พระราชบิดา และพระราชินีไอศวรรยา พระราชมารดา รวมถึงพระอนุชาและพระขนิษฐาของพระองค์เอง หลังจากนั้นจึงทรงใช้ปืนปลงพระชนม์พระองค์เองบาดเจ็บสาหัส
จนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังไม่มีใครตอบได้ถึงสาเหตุจริงแท้ของการก่อเหตุ หากประเด็นที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงมากที่สุดคือ มกุฎราชกุมารทิเพนทระทรงผิดหวังที่พระราชบิดาและพระราชมารดาขัดขวางการอภิเษกสมรสกับหญิงที่พระองค์รัก หลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ มกุฎราชกุมารทิเพนทระทรงขึ้นครองราชย์ต่อจากพระบรมราชชนกทั้งที่ทรงอยู่ในพระอาการโคม่า และเสด็จสวรรคตในอีกไม่กี่วันถัดมา รัฐบาลจึงต้องอัญเชิญเจ้าชายกยาเนนทรา พระอนุชาของสมเด็จพระราชาธิบดีพิเรนทระขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แทน แต่เหตุการณ์ทั้งสังคมและการเมืองของเนปาลต่อจากนั้นก็ปั่นป่วนหนัก จนกระทั่งสิ้นสุดระบอบกษัตริย์และเปลี่ยนเป็นระบอบสาธารณรัฐใน พ.ศ. 2551 และพระราชวังนารายัณฮิติก็กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ตราบจนทุกวันนี้
พระราชวังนารายัณฮิติมีห้องมากถึง 52 ห้อง แต่ปัจจุบันเปิดให้เข้าชมได้เพียง 19 ห้องเท่านั้น สิ่งที่เราคิดอาจไม่ต่างจากนักท่องเที่ยวคนอื่น คือใคร่รู้ว่าจุดเกิดเหตุอยู่ส่วนใดของพระราชวัง แต่ไม่ว่าจะอยากเห็นแค่ไหนทุกคนก็ต้องอดใจเดินตามเส้นทางการชมที่ทางพิพิธภัณฑ์กำหนดไว้ Gaurishankar Gate คือประตูทางเข้าหลักที่ทุกคนต้องก้าวผ่าน เพื่อพบกับ Kaski Baithak โถงกลางโอ่อ่าที่ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง เราสายตาสอดส่ายเต็มที่ หากจมูกพลันได้กลิ่นอับๆ บางอย่าง มองไปที่ผืนพรมและเครื่องเรือนต่างๆ เห็นเม็ดกลมสีขาวกระจายอยู่ทั่วไป...สงสัยอึดใจเดียวแล้วก็อดยิ้มไม่ได้ เพราะที่มาของกลิ่นก็คือลูกเหม็นนี่เอง เป็นส่วนหนึ่งของการดูแลรักษาที่ซื่อใสไม่ประดิษฐ์ดีแท้
ห้องที่เป็นไฮไลต์และถือเป็นศูนย์กลางของพระราชวังคือ Gorkha ภายใต้เพดานสูงโปร่งคือพระแท่นราชบัลลังก์เก่าแก่ของราชวงศ์เนปาล และที่นี่คือสถานที่ประกอบพิธีต่างๆ ของเหล่าพระบรมวงศานุวงศ์ รวมถึงพระราชพิธีแต่งตั้งมกุฎราชกุมารแห่งเนปาลด้วย
เส้นทางเดินชมบังคับให้เราออกจากตัวอาคารพระราชวังในที่สุด และดูเหมือนจะอ้อมวกมาทางด้านหลังอาคาร แล้วทุกอย่างก็ดูวังเวงลงฉับพลัน กระทั่งนักท่องเที่ยวเนปาลเองยังยืนคว้างกันเป็นแถว Tribhuvan Sadan คืออาคารที่โอบรอบตัวเราขณะนี้ ดูเหมือนเรียบง่ายและร่มรื่นด้วยเถาไม้เลื้อยที่แวดล้อม คล้ายเป็นบ้านในสวนของใครบางคน ถ้าเพียงแต่เราจะไม่หันไปเจอป้ายที่บอกว่า บริเวณนี้เองคือสถานที่ที่เคยเกิดเหตุการณ์แสนเศร้าขึ้น
ไม่มีอะไรเหลือให้ดูมากนัก หลังกระจกใสคือห้องโล่งๆ มีม้วนพรมและโซฟาเก่าๆ วางอยู่อย่างเดียวดาย แต่สิ่งที่ทำให้ใจหวิวคือป้ายที่ชี้บอกว่าจุดใด ตรงไหนบ้างที่พระราชวงศ์พระองค์ใดถูกยิงและสิ้นพระชนม์ลง และป้ายชี้แจงนั้นก็ลากยาวออกมาถึงในสวนด้านนอก ทำให้รู้ว่าบางพระองค์ก็คงทรงหมดลมหายใจกลางสวนร่มครึ้มนั่นเอง
มหาเจดีย์แห่งศรัทธา
ยิ่งใหญ่และเจิดจ้าคือถ้อยคำที่ผุดขึ้นกลางใจทันทีที่สายตาถูกตรึงไว้ด้วย “มหาเจดีย์โพธินาถ” (Boudhanath) หรือที่คนเนปาลเรียกกันสั้นๆ ว่า โบดา (Boudha) อันหมายถึง “พระพุทธเจ้าผู้เป็นที่พึ่ง” มหาเจดีย์แห่งนี้คือหนึ่งในมรดกโลกแห่งหุบเขากาฐมาณฑุ และเป็นเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดของเนปาล ปลูกสร้างขึ้นโดยชาวพุทธมหายาน เชื่อกันว่าภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระกัสสปพุทธเจ้า คือพระพุทธเจ้าองค์ก่อนพระโคตมพุทธเจ้า
การดำรงอยู่ของมหาเจดีย์แห่งนี้สะท้อนถึงวัฒนธรรมอันหลากหลายของผู้คนในหุบเขากาฐมาณฑุ ในขณะที่จัตุรัสกาฐมาณฑุอลังการด้วยอาคารทรงสี่เหลี่ยมแบบเนวาร์ หลังคาซ้อนลดหลั่น และมากมายด้วยวัดฮินดู แต่ที่นี่ ณ มหาเจดีย์โพธินาถ ความเชื่อในศาสนาพุทธทิเบตเข้มข้นมีพลัง สะท้อนผ่านมหาเจดีย์ทรงโอคว่ำหรือโดม อันหมายถึงภูเขาสัตบริภัณฑ์ที่อยู่ระหว่างโลกและสวรรค์ สูงขึ้นไปคือลูกบาศก์เหนือโดมวาดรูปดวงตากำกับอยู่ทั้ง 4 ด้าน เรียกว่า “ฮาร์มิกะ” (Harmika) หมายถึงดวงตาแห่งธรรมของพระพุทธเจ้าที่ทรงตรัสรู้แล้วในทุกสิ่ง
ฐานเจดีย์นั้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมยกสูงจากพื้นเบื้องล่าง เมื่อขึ้นไปเดินด้านบนแล้วมองลงมาจะเห็นสีสันอันน่าตื่นตาล้อมรอบองค์เจดีย์ทุกด้าน มีทั้งร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรม ตลอดจนวิถีชีวิตของชาวพุทธมหายานจากทิเบตที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่กาลก่อน เสียงเพลงสวดเยือกเย็นแผ่วพลิ้วล้อกับธงมนต์ 5 สีที่โบกโบยอยู่เบื้องบน ราวกับจะนำคาถามนตราให้ลอยสู่สรวงสวรรค์ ไม่เพียงเท่านั้น เราจะได้เห็นชาวพุทธวัชรยานแสดงความเคารพสูงสุดต่อองค์เจดีย์ด้วยการกราบไหว้แบบอัษฎางคประดิษฐ์ คือนอนคว่ำ แขนและเท้าเหยียดสุด บังคับให้หน้าผาก ฝ่ามือทั้งสอง หน้าอก เข่าทั้งสอง และปลายเท้าทั้งสองแนบกับพื้น เป็นท่าที่ไม่ง่าย และแต่ละคนไม่ได้ทำครั้งเดียวแล้วเลิก หากทำต่อเนื่องเรื่อยไปราวกับไม่มีวันสิ้นสุด
ด้วยอยากมองและซึมซับความน่าทึ่งเหล่านี้ให้นานที่สุด เรากวาดตาดูร้านกาแฟที่รายรอบองค์เจดีย์ก็พบป้ายชวนเชิญของ Hotel Padma บอกว่ามีร้านอาหารชื่อ Nani’s Kitchen ที่ชั้นดาดฟ้า ไม่รอช้ารีบไต่บันไดขึ้นไปทันที แล้วก็พบว่าไม่ผิดหวังจริงๆ มหาเจดีย์ตระหง่านในระยะที่ถ่ายภาพสวย มองเห็นตึกรามบ้านเรือนที่แวดล้อมเคียงข้าง ไกลออกไปคือเมืองกาฐมาณฑุที่มีฉากหลังเป็นแนวเทือกเขาทอดยาว สั่งกาแฟมาจิบเพลินๆ ส่วนถ้าใครสั่งขนมก็ขอให้กินอย่างรื่นรมย์กับชีวิต อย่าไปคิดมากเรื่องรสชาติ เพราะวิวตรงหน้าคือกินขาดทุกอย่างแล้ว นั่งให้ลมพัดร่างและมองมหาเจดีย์ตรงหน้าไปเพลินๆ ใจก็คิด จะมีกี่ดินแดนในโลกนี้ที่แทบจะทุกจรดก้าวเดินของผู้คนต่างเหยียบยืนอยู่บนเรื่องราวในห้วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หากเปรียบเนปาลเป็นหนังสือสักเล่มจะต้องใช้เวลายาวนานเพียงใดจึงจะอ่านจบ แค่เฉพาะในหุบเขากาฐมาณฑุก็ทำให้หลงรักและหลงวนเวียนอยากรู้จักจนแทบจะหาทางออกไม่เจอเสียแล้ว
Travel Tips