จากศิลปะร่วมสมัย “นัยระนาบนอก อินซิทูฯ” สู่วันเดย์เที่ยววังหน้าฉบับเอกซ์คลูซีฟ
ศรัณยู นกแก้ว | Writer | 18 March 2019
ศรัณยู นกแก้ว | Writer | 18 March 2019
หลังจากที่นิทรรศการ “วังน่านิมิต” ซึ่งจัดขึ้นที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครจบลงเมื่อกลางปีที่ผ่านมา เราก็ได้แต่เฝ้ารอข่าวคราวว่าเมื่อไรงานนิทรรศการวังหน้าจะถูกนำมาจัดแสดงในบรรยากาศของสถานที่จริง ณ พระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้า หรือก็คือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในปัจจุบัน เหตุผลก็ด้วยวังน่านิมิตนั้นแทบจะเรียกว่าเป็นนิทรรศการแรกและนิทรรศการเดียวที่รื้อฟื้นความทรงจำเกี่ยวกับวังหน้าที่ถูกเก็บไว้ในลิ้นชักประวัติศาสตร์มาช้านาน พร้อมกับตำแหน่งวังหน้า หรือกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ที่ถูกยกเลิกไปในสมัยรัชกาลที่ 5
กระทั่งเมื่อวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา เรื่องราวของวังหน้าได้มีการหยิบยกขึ้นมาอีกครั้งในโครงการ “วังหน้านฤมิต ในมิติแห่งกาลเวลา” กับการนำเสนอมุมมองใหม่ของวังหน้าผ่านนิทรรศการศิลปะร่วมสมัย “นัยระนาบนอก อินซิทู: แปลงร่างอดีตในหลืบแห่งปัจจุบัน” ซึ่งจุดประกายทำให้คนที่ไม่สนใจหรือไม่มีพื้นฐานประวัติศาสตร์อยากจะออกสำรวจวังหน้าทันทีที่โปรแกรมการชมนิทรรศการจบลง
วังหน้าจากสายตานอกรั้ววัง
การไม่จำกัดให้คำว่าประวัติศาสตร์อยู่แค่ในกรอบของอดีตหรือเพียงแต่ในตำราคือใจความสำคัญที่ “นัยระนาบนอก อินซิทู: แปลงร่างอดีตในหลืบแห่งปัจจุบัน” ต้องการสื่อ ด้วยเหตุนี้ คุณใหม่-สิริกิติยา เจนเซน หนึ่งในทีมภัณฑารักษ์และผู้จัดการโครงการจึงได้ย้ำในเรื่องการหยิบจับประวัติศาสตร์ใส่กล่องเทกอะเวย์กลับไปที่บ้าน ซึ่งนั่นแปลว่าต่อให้ไม่ต้องเปิดหนังสือเรียนประวัติศาสตร์ ผู้ชมก็สามารถระลึกถึงวังหน้าแห่งนี้ได้ เช่นเดียวกับ “นัยระนาบนอก อินซิทู: แปลงร่างอดีตในหลืบแห่งปัจจุบัน” ที่ไม่ได้ตีกรอบวังหน้าไว้เพียงเรื่องราวของอดีต ทว่านิทรรศการครั้งนี้ยังได้ชวนศิลปินร่วมสมัย 7 ท่าน พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญจาก 13 สาขาอาชีพ เข้ามาร่วมมองวังหน้าผ่านการทับซ้อนในมิติสถานที่และเวลาของพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
“พระที่นั่งอิศราวินิจฉัยคือท้องพระโรงเดิมของวังหน้า แต่ก่อนหน้านั้นคือพื้นที่ท้องทุ่งโล่ง ในห้องนี้เป็นทั้งที่ว่าราชการ รับราชทูตจากต่างชาติ โดยมีบุษบกวังหน้าเป็นสิ่งที่เชื่อมการทับซ้อนของเวลาและสถานที่ บุษบกหลังนี้ใช้เป็นสถานที่ทั้งว่าราชการ งานพิธีการสงฆ์ รับเซอร์จอห์น เบาว์ริง รวมถึงเป็นที่ไว้พระศพของวังหน้าหลายพระองค์ รวมทั้งพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งนัยระนาบนอก อินซิทูฯ ก็ได้เน้นเนื้อหาวังหน้าในยุคของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเช่นกัน เพราะถือเป็นครั้งแรกที่สยามมีกษัตริย์พร้อมกันถึงสองพระองค์ ด้วยเหตุที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวผู้ทรงครองตำแหน่งวังหน้าในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงได้รับการเฉลิมพระเกียรติเทียบเท่าพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 2”
คุณยุทธนาวรากร แสงอร่าม ภัณฑารักษ์ชำนาญการ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร บอกเล่าความน่าสนใจของนัยระนาบนอก อินซิทูฯ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่นำความโมเดิร์นร่วมสมัยมาจัดแสดงร่วมกับโบราณวัตถุ ได้แก่ ลูกแก้วปรอท (Mercury Ball) และลับแล โดยลูกแก้วปรอทนั้นเคยประดับอยู่ในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยมาตั้งแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จากนั้นในครางานพระบรมศพของพระองค์ก็ยังมีรูปถ่ายขาวดำที่ปรากฏหลักฐานว่าลูกแก้วปรอทนี้ได้ประดับอยู่บริเวณฐานเบญจา ก่อนที่ภายหลังจะถูกนำมาเก็บไว้ในพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ซึ่งเป็นที่ประทับเดิมของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
ด้านลับแล 2 บานที่เปลี่ยนจากการทำหน้าที่เป็นฉากกำบังมาตั้งประจันหน้าเข้าหากันนั้น แม้เป็นลับแลโบราณที่เก็บรักษาอยู่ในวังหน้ามาช้านาน ทว่าศิลปินผู้ออกแบบได้เพิ่มลูกเล่นด้วยการใช้แอปพลิเคชันเข้ามาสร้างชีวิตใหม่ให้ของเก่า เพียงยกสมาร์ตโฟนเข้าหากระจกก็จะปรากฏร่างของหญิงสาวในชุดไทยเข้ามาทักทายถามไถ่ผู้ชม
สำหรับใครที่อาจไม่คุ้นชินกับงานศิลปะร่วมสมัยที่อาศัยประสบการณ์ของแต่ละบุคคลในการตีความ ห้องด้านในสุดของพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยได้มีการถอดความวังหน้าผ่านผู้คนในอาชีพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคุณตุล ไวฑูรเกียรติ แห่งวงอพาร์ตเมนต์คุณป้า ที่นำเสียงระนาดสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งถูกเก็บไว้ในวังหน้ามาผสมกับดนตรีสมัยใหม่ หรือจะเป็นงานออกแบบพระวิสูตรหรือผ้าม่านของคุณจารุพัชร อาชวะสมิต นักออกแบบสิ่งทอที่ใช้วัสดุทองแดงมาแทนเงินและทองซึ่งเป็นวัสดุที่ใช้สำหรับกษัตริย์เท่านั้น หรืออย่างคุณกิติเชษฐ์ ศรีดิษฐ นักพฤกษศาสตร์ก็ได้ถอดความหมายซึ่งซ่อนอยู่ในพรรณพฤกษาที่ประดับอยู่ในพระที่นั่งต่างๆ ของพื้นที่วังหน้ารวมทั้งวัดพระแก้ววังหน้า มาเปลี่ยนเป็นโปสต์การ์ดน่าสะสม
อีกชิ้นที่เราชอบมากคือขนบการตั้งชื่ออย่างไทยที่ปรากฏอยู่ในตำราพิชัยสงคราม รวมทั้ง “ถอดรหัสความหมายพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว” ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในสยามอีกเช่นกันที่มีการใส่ความหมายลงไปในพระนามของกษัตริย์ที่จารึกลงในพระสุพรรณบัฏ ซึ่งบ่งชัดถึงอำนาจหน้าที่ของกษัตริย์ทั้งสองพระองค์ในแผ่นดินเดียวกัน
พระพุทธสิหิงค์แห่งพระที่นั่งพุทไธสวรรย์
อย่างที่บอกว่านัยระนาบนอก อินซิทูฯ เป็นเพียงนิทรรศการเรียกน้ำย่อยที่ทำให้อยากรู้จักวังหน้าแห่งนี้มากขึ้น และจุดแรกที่ห้ามพลาดก็คือ “พระที่นั่งพุทไธสวรรย์” อันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ ซึ่งมีเพียง 3 องค์เท่านั้นในเมืองไทย คือที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ กรุงเทพฯ ที่วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ และที่จังหวัดนครศรีธรรมราช
“เดิมทีสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อครั้งที่สมเด็จพระราชวังบวรฯ เสด็จไปภาคเหนือ ทรงอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ลงมา พร้อมทรงสร้างพระที่นั่งพุทไธสวรรย์องค์นี้ขึ้นเพื่อประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ แต่ครั้นเมื่อพระองค์สวรรคต รัชกาลที่ 1 จึงทรงให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ไปประดิษฐานไว้ในวัดพระแก้ว จากนั้นอาคารหลังนี้ก็ถูกปรับเป็นท้องพระโรง แล้วก็มีการเปลี่ยนแปลงหน้าที่อยู่ช่วงหนึ่ง
“สมัยรัชกาลที่ 3 พระองค์ทรงให้บูรณะพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ขึ้นใหม่เพื่อเป็นหอธรรม เป็นสถานที่สำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนาในวังหน้า ช่วงรัชกาลที่ 4 ที่นี่เป็นหอธรรมสำหรับวังหน้า พระองค์ทรงให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์กลับมาประดิษฐานอีกครั้ง วัตถุประสงค์ก็เพื่อจะเชื่อมโยงไปยังการสร้างวัดพระแก้ววังหน้าให้เป็นวัดในวังที่ไม่มีพระจำพรรษาเช่นเดียวกับวัดพระแก้วในเขตพระบรมมหาราชวัง เพราะพระแก้วกับพระสิงห์เป็นพระพุทธรูปสำคัญที่อยู่คู่กันมานาน รัชกาลที่ 4 จึงทรงให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานที่นี่ก่อนที่จะทรงอัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดพระแก้ววังหน้า แต่ประจวบกับที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต จึงไม่ได้มีการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ไปที่วัดพระแก้ววังหน้า แต่ประดิษฐานอยู่ตรงนี้ ที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์มาถึงปัจจุบัน”
ศ. ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ชี้ให้เห็นเหตุแห่งความงามที่ปรากฏอยู่ในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างงานสถาปัตยกรรมในสมัยรัชกาลที่ 3 และงานจิตรกรรมฝาผนังในสมัยรัชกาลที่ 1 โดยภาพเขียนทั้ง 32 ภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติ พร้อมด้วยภาพเทวดาชุมนุมที่เปลี่ยนให้พระที่นั่งองค์นี้งดงามราวสรวงสวรรค์
รอยประทับในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์
นับว่าเป็นความโชคดีของเราที่ได้มาร่วมทริปสุดเอกซ์คลูซีฟกับทาง The Wisdom การซอกแซกเที่ยววังหน้าครั้งนี้จึงมีวิทยากรพิเศษ หม่อมราชวงศ์ปิยฉัตร ฉัตรไชย พาชม พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ หรือพระที่นั่งวงจันทร์ ซึ่งตั้งตามพระนามของพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
ความสำคัญของพระที่นั่งแห่งนี้ไม่ใช่เพียงด้านสถาปัตยกรรมที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างในแบบไทยผสมฝรั่งในลักษณะตึก 2 ชั้น ประดับพระราชลัญจกรรูปปิ่น ที่นี่ยังพิเศษด้วยการจัดวางบันไดให้อยู่ด้านนอกตัวบ้าน ตามความเชื่อเดิมที่ว่าบันไดในตัวบ้านจะนำพาสิ่งอัปมงคลมาให้
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้พระที่นั่งองค์นี้เป็นที่ประทับมาตลอด กระทั่งเมื่อ พ.ศ. 2508 หลังจากที่พระองค์สวรรคต รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้จัดห้องเสวยตรงกลางเป็นห้องประดิษฐานพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงรัชกาลที่ 6 จึงได้อัญเชิญพระบรมอัฐิไปประดิษฐาน ณ หอพระนากในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เหลือไว้เพียงพระป้ายแบบจีนอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
เมื่อสถานที่แห่งนี้เคยเป็นที่ประทับ ทุกมุมของอาคารจึงมีข้าวของเครื่องใช้ส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวจัดแสดงไว้อย่างครบถ้วน ซึ่งรวมถึงแคน เครื่องดนตรีที่พระองค์ทรงโปรด และลูกแก้วปรอท (จำลอง) ที่ได้นำของจริงไปจัดแสดงไว้ชั่วคราว ณ นิทรรศการนัยระนาบนอก อินซิทูฯ
เทพฮินดูผู้พิทักษ์วัดพระแก้ววังหน้า
ที่สุดของการได้เข้าชมวังหน้าในทริปนี้คือการเปิดประตูวัดบวรสถานสุทธาวาส หรือวัดพระแก้ววังหน้า ให้ได้เข้าชม ซึ่งในเวลาปกติวัดพระแก้ววังหน้าแห่งนี้จะเปิดเฉพาะโอกาสสำคัญ หรือการขออนุญาตเข้าชมเป็นหมู่คณะเท่านั้น โดยความงามแรกของวัดพระแก้ววังหน้า ได้แก่ งานจิตรกรรมฝาผนังจากฝีมือนายช่างเอกสมัยรัชกาลที่ 4 ไม่ว่าจะเป็นพระอาจารย์แดงจากวัดหงส์รัตนาราม และนายมั่นผู้โด่งดังเรื่องงานจิตรกรรมฝาผนัง
นอกจากเรื่องราวของพระพุทธเจ้าทั้ง 28 พระองค์แล้ว บนผนังทุกด้านยังมีเรื่องราวของประชาชนทั่วไปซึ่งไม่ค่อยเป็นที่นิยมนักในงานจิตรกรรมฝาผนัง รวมทั้งบันทึกประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์จากหัวเมืองเหนือมาประดิษฐานในพื้นที่วังหน้า
อีกความพิเศษที่ไม่ค่อยได้พบเจอที่วัดแห่งไหนมาก่อนคือเหล่าทวารบาลผู้รักษาพระพุทธศาสนา ซึ่งปกติจะเป็นเทพ ยักษ์ในคติความเชื่อพระพุทธศาสนาแบบไทยหรือจีน หรืออาจมีเหล่าทหารฝรั่งให้เห็นบ้าง ทว่าทุกบานประตูหน้าต่างของวัดพระแก้ววังหน้ากลับปรากฏภาพของเทพฮินดู ไม่ว่าจะเป็นพระศิวะ พระนารายณ์ พระอินทร์ พระพรหม พระคเณศ ซึ่งอยู่ในฐานะทวารบาลผู้คุ้มครองศาสนสถานแห่งนี้
“นัยระนาบนอก อินซิทู: แปลงร่างอดีตในหลืบแห่งปัจจุบัน” จัดขึ้นในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตั้งแต่วันนี้ถึง 28 เมษายน 2562 โดยตลอดนิทรรศการจะมีกิจกรรมพิเศษอย่างเช่น Chef’s Table หรือการขับร้องเพลงประสานเสียงเข้ามาสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ แต่แม้นิทรรศการจะจบ เรื่องราวของวังหน้าจะยังคงถูกเล่าขานในพื้นที่ทุกตารางนิ้วของวังหน้าต่อไป
ข้อมูลเพิ่มเติมคลิก: www.wangnaproject.com
ติดต่อ: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ถนนหน้าพระธาตุ พระนคร กรุงเทพฯ โทร. 0-2224-1370
ขอขอบคุณ: The Wisdom สำหรับโปรแกรมเที่ยวชมพื้นที่วังหน้าและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สุดเอกซ์คลูซีฟ