เชียงใหม่... เรื่องราวทางตะวันออกและโลกนอกกำแพง
แพร ปุโรทกานนท์ | Writer | 14 April 2019
แพร ปุโรทกานนท์ | Writer | 14 April 2019
เริ่มอ่อนหวานในอารมณ์เมื่อเข็มนาฬิกาเลยผ่านสี่โมงเย็น ลำแดดแข็งที่ทาบทับในลำน้ำปิงตั้งแต่หลังเที่ยงเป็นต้นมาค่อยคลายความกระด้างกลายเป็นทอประกายสีส้มสวย แถวรถบนสะพานนวรัฐฝั่งขาเข้ามุ่งหน้าสู่ถนนท่าแพคับคั่งหลากไหลตามกันไป ปลายทางอยู่ที่ใดสุดจะรู้ อาจจะในกำแพงเมือง อาจจะถนนนิมมานเหมินท์ อาจจะบนดอยสูง หรือนอกเมืองที่ไกลออกไป แต่จะเป็นที่ไหนเราไม่รับไม่รู้และไม่สนใจ เพราะมาเชียงใหม่ครั้งนี้เราขอขดตัวแคบๆ อยู่นอกกำแพงเวียงและเดินวนเวียนเฉพาะฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง ในย่านเก่าที่อดีตยังเป็นเงาของปัจจุบัน
ร้อยเกี่ยวกาลเวลา
“เป็นเงื่อนมงคลตามความเชื่อของชาวจีนค่ะ เป็นทั้งเครื่องหมายที่หมายถึงการร้อยรัดความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว และร้อยความสัมพันธ์ของคนในชุมชนแถบนี้เข้าด้วยกัน”
คุณออม เจ้าของโรงแรม ณ สราญ (Nasaraan Boutique Hotel) คลี่รอยยิ้มเขินอายก่อนตอบข้อสงสัยของเราถึงที่มาของโลโก้โรงแรมที่เป็นภาพเกลียวเชือกเกี่ยวกระหวัดรัดกันไว้ เธอบอกว่าเพิ่งเปิดโรงแรมนี้ได้เพียงปีเศษ ดูแลกันเองระหว่างพี่น้องสาวล้วน 4 คน โดยมีเธอเป็นพี่ใหญ่ของบ้าน ห้องพักมีเพียง 14 ห้อง ตกแต่งเรียบง่ายแต่หยอดกลิ่นอายจีนและล้านนาบางๆ ในเครื่องเรือนและรายละเอียดของตัวอาคาร
ที่เราสงสัยมากกว่าโลโก้โรงแรมคือที่ตั้งของ ณ สราญ ซึ่งอยู่บนถนนชื่อ "ทุ่งโฮเต็ล’" ประเมินจากสายตาฉาบฉวย รอบๆ นี้ไม่มีร้านรวงจริตจะก้านแพรวพราวดูดดึงให้นั่งชิลถ่ายภาพเล่น ถ้าไม่นับร้านกาแฟชื่อน่าเอ็นดู A Perfect Daughter ของโรงแรมเองก็ดูเหมือนว่าแถวนี้จะห่างจากลักษณะของย่านท่องเที่ยวตามสมัยนิยมไปไกล แต่ถ้าถอยเวลากลับไปในอดีต ในสมัยที่การเดินทางด้วยรถไฟยังรุ่งเรือง ที่ดินละแวกนี้ถือเป็นทำเลทองทางเศรษฐกิจ เพราะสถานีรถไฟเชียงใหม่อยู่ห่างออกไปเพียง 600 เมตรเท่านั้น
เรามองลอดแดดบ่ายออกไปที่ถนนหน้าโรงแรม ฝั่งตรงข้ามคือสวนสาธารณะบนที่ดินของการรถไฟเชียงใหม่ ซึ่งอดีตเคยมีโรงแรมรถไฟตั้งอยู่ ชื่อถนนลูกผสมคำไทยและอังกฤษ ‘‘ทุ่งโฮเต็ล’’ ก็สันนิษฐานว่าน่าจะมีที่มาจากการที่โรงแรมรถไฟซึ่งทันสมัยที่สุดในยุคนั้นผุดขึ้นโดดเดี่ยวอยู่กลางทุ่งนานั่นเอง
พี่ใหญ่ของ ณ สราญ เล่าเพิ่มเติมว่า พื้นที่ตำบลวัดเกตอันตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิงเป็นย่านเก่าของเชียงใหม่ เคยรุ่งเรืองและรุ่มรวยด้วยศิลปวัฒนธรรมที่ผสมผสานระหว่างคนหลายเชื้อชาติ ทั้งไทย ฝรั่ง จีน แขก ยิ่งสมัยที่การรถไฟรุ่งเรือง ย่านวัดเกต (วัดเกตการาม) สันป่าข่อย ทุ่งโฮเต็ลนี่คึกคักมาก ตัวเธอและน้องๆ เป็นคนย่านนี้และเป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่พยายามเชื่อมร้อยอดีตที่ค่อยๆ จางลงให้เดินคู่ไปกับปัจจุบันผ่านการดำเนินกิจการโรงแรมของครอบครัว และผ่านการจัดรวมถึงสนับสนุนกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมต่างๆ ที่ดึงคนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม
เดินสู่ตะวันออก
ก่อนการรถไฟจะมาถึงเชียงใหม่ใน พ.ศ. 2464 ให้ลูกผู้ดีมีเงินชาวเวียงพิงค์ได้โดยสารขึ้นล่องไปเรียนหนังสือหรือไปเที่ยวบางกอกได้สะดวกง่ายดาย และให้พ่อค้าย่นระยะเวลาส่งสินค้าจากนับเดือนกลายเป็นเพียงชั่วข้ามคืน การสัญจรที่มีมาก่อนนานนับร้อยๆ ปีคือการเดินทางโดยเรือ และแม่น้ำปิงก็คือเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงนครเชียงใหม่มาอย่างยาวนาน ชุมชนสองฝั่งน้ำจึงรุ่งเรือง มีท่าเรือสำคัญสำหรับเทียบถ่ายสินค้า หนึ่งในท่าเรือหลักก็คือท่าวัดเกต ซึ่งอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง ส่วนฝั่งตะวันตกคือฝั่งประตูท่าแพ ช้างม่อย และตลาดวโรรสในปัจจุบัน
ชาวต่างชาติทั้งฝรั่ง แขก จีน อพยพเข้ามายังดินแดนล้านนาเพราะแหล่งเศรษฐกิจใหม่แห่งนี้ช่างดูหอมหวานนัก และยิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่ออังกฤษได้สัมปทานทำป่าไม้ในเชียงใหม่ แต่ก็อยู่ได้เพียงนอกกำแพงเวียงเท่านั้น เพราะโลกในกำแพงเมืองเป็นที่สำหรับเจ้าหลวง พระสงฆ์ และเจ้าขุนมูลนายเขาอยู่กัน ส่วนคนต่างชาติได้รับอนุญาตให้ตั้งบ้านเรือนและร้านค้าอยู่ริมน้ำปิงทั้งสองฝั่ง ความหลากหลายทางวัฒนธรรมนี้หลอมสร้างบุคลิกของพื้นที่ซึ่งส่งผลต่อลักษณะอาคารบ้านเรือน จนกลายเป็นหนึ่งในบุคลิกพื้นฐานของเมืองเชียงใหม่ที่ยังคงรูปเหลือรอยอยู่จนปัจจุบัน
ขอโกงตัวเองเล็กๆ ด้วยการข้ามจากฝั่งตะวันออกสู่ริมขอบฝั่งตะวันตกด้วยข้ออ้างการศึกษาทางวัฒนธรรม (ทางอาหาร) จุดหมายอยู่ที่ร้านข้าวซอยอิสลาม ถนนเจริญประเทศซอย 1 หลังจากจัดการข้าวซอย ขนมจีบไก่ เนื้อสะเต๊ะ ดูดชาเย็น อิ่มหนำจนเกือบจะสั่งซ้ำรอบสองก็ต้องตั้งสติและบอกตัวเองว่าหยุดได้แล้วและออกจากร้านเสียที แต่เจ้ากรรมเดินยังไม่ทันพ้นชายคาร้าน ตาเหลือบเห็นฝั่งตรงข้ามเป็นร้านขายโรตี กินคาวไม่กินหวานถือว่ามื้อจบไม่สมบูรณ์ เลยตรงไปสั่งโรตีราดนมน้ำตาลอย่างไม่รั้งรอ นั่งกินไปมองวิวในซอยไป เห็นพี่น้องชาวมุสลิมเดินผ่านไปมาไม่ขาดสาย ในซอยเดียวกันนี้ยังเป็นที่ตั้งของมัสยิดบ้านฮ่อ มัสยิดแห่งแรกของเชียงใหม่อีกด้วย
แดดยังดุดันขณะเดินข้ามขัวเหล็กหรือสะพานเหล็กกลับถึงฝั่งตะวันออก ต้นราชพฤกษ์ริมแม่ปิงฝั่งนี้ย้อยพวงเหลืองลออ เราย้ายสายตาจากสีเหลืองใสของดอกไม้ข้ามมาอีกฝั่งถนนสู่สีเหลืองเข้มของ ‘‘โรงแรมศรีประกาศ’’ เรือนไม้ทรงล้านนาโคโลเนียลหลังใหญ่ที่ยืนหยัดผ่านร้อนหนาวอยู่ริมถนนเชียงใหม่-ลำพูนสายเก่าเลียบริมปิงมานานกว่า 100 ปีนี้สร้างขึ้นโดยพ่อสีโหม้ วิชัย (คนเชียงใหม่คนแรกที่ได้ไปอเมริกา) ในราว พ.ศ. 2447 เพื่อเป็นบ้านพักอาศัย ตั้งอยู่ในชุมชนคริสเตียนรุ่นแรกของเชียงใหม่
หลวงศรีประกาศ (ฉันท์ วิชยาภัย) บุคคลสำคัญคนหนึ่งที่สร้างคุณูปการมากมายแก่เชียงใหม่ ผู้เป็นทั้งทนายความ นายกเทศมนตรี และเป็นผู้แทนราษฎรคนแรกของจังหวัดเชียงใหม่ได้ขอซื้อบ้านหลังนี้ต่อจากพ่อสีโหม้ และใช้รับรองแขกผู้ใหญ่ตลอดจนข้าราชการทั้งหลาย ต่อมาจึงพัฒนาเปิดเป็นโรงแรมเมื่อ พ.ศ. 2490 ถือเป็นโรงแรมยุคแรกๆ ที่เปิดทำการขึ้นในจังหวัดนี้ และหลังจากเปิดกิจการมานานกว่ากึ่งศตวรรษก็ปิดทำการลงใน พ.ศ. 2545 ปัจจุบันอาคารอยู่ในการดูแลของทายาทรุ่นที่ 3 ของหลวงศรีประกาศ
ความน่าสนใจไม่ได้หยุดเพียงแค่นี้ เพราะหลายปีที่ผ่านมาเราแวะเวียนมาเชียงใหม่อย่างต่อเนื่อง เห็นโรงแรมศรีประกาศยืนเศร้าท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงเร็วรี่รอบด้าน ผิดไปจากครั้งนี้ บ้านโบราณหลังเดิมกลับดูมีชีวิตและอบอุ่นขึ้น ภายในไม่ร้างไร้ด้วยมีนิทรรศการศิลปะของคนญี่ปุ่นจัดแสดงอยู่ ขณะเดียวกันเรื่องราวของหลวงศรีประกาศและบางส่วนเสี้ยวจากอดีตก็วางคู่เคียงกัน ที่เป็นเช่นนี้ได้ก็ด้วยหัวใจของผู้คนอันประกอบด้วยลูกหลานทายาทหลวงศรีประกาศ คนในชุมชน คนรุ่นใหม่ ตลอดจนเพื่อนต่างชาติในเชียงใหม่ เช่น ชาวญี่ปุ่น ที่ทนไม่ได้หากวันหนึ่งอาคารโบราณนี้จะต้องทรุดโทรมและหายสูญไป
หนทางการอนุรักษ์เริ่มต้นด้วยน้ำใจตามอัตภาพของคนธรรมดา เช่น นำไม้ไผ่มาให้ค้ำยันอาคาร หรือบ้างก็เอาแรงลงมาช่วยซ่อม จนกระทั่งมาถึงวิธีต่อลมหายใจที่เรารู้สึกว่ายั่งยืนดีจัง นั่นคือการปรับพื้นที่เก่ามาใช้สำหรับจัดกิจกรรมหมุนเวียนต่างๆ ค่าเช่าอะไรไม่ต้อง ขอเพียง ‘‘ช่วยใช้ ช่วยซ่อม’’ ก็พอ บางคนจัดงานเล็กๆ และคืนกลับให้ด้วยการซ่อมเสา 1 ต้น เท่านี้ก็เพียงพอ เพราะเรี่ยวแรงเล็กๆ ของคนธรรมดาเมื่อรวมตัวกันก็กลายเป็นพลังงานดีที่เข้มแข็งและงดงาม
เมื่อลาโรงแรมศรีประกาศในวันนั้น แดดบ่ายต้นก็เปลี่ยนเป็นแดดบ่ายแก่ ความร้อนร้ายคลายไปแทนที่ด้วยลมเย็นและแสงส้มสวย ความอ่อนหวานในอารมณ์ซึมซาบในใจ สองเท้าพาเลาะผ่านริมปิงแล้วข้ามถนนตรงสี่แยกสะพานนวรัฐเดินขึ้นไปทางถนนเจริญราษฎร์ ถนนสายแคบๆ นี้บรรจุวัฒนธรรมอันหลากหลายของผู้คน โบสถ์คริสต์ วัดซิกข์ และพุทธสถานที่มาของชื่อย่าน คือ วัดเกตการาม ก็ยืนหยัดบนถนนสายเดียวกันมาช้านาน
เราเดินช้าๆ ค่อยๆ ละเลียดสายตามองอาคารสองฟากฝั่ง ขณะเดียวกันก็ไม่ลืมระวังรถเสยร่างอยู่ทุกขณะจิต เพราะถนนสายนี้หลายช่วงตอนคนกับรถต้องใช้เส้นทางร่วมกัน อาคารที่เรียงรายขนาบถนนมีทั้งบ้าน โรงแรม ร้านค้า ร้านอาหาร หากตัวตนที่เข้มข้นของย่านประวัติศาสตร์คล้ายจะทำหน้าที่คุมโทนให้ทั้งหมดเดินไปด้วยกันได้ ที่สำคัญยังมีสถาปัตยกรรมแบบล้านนาโคโลเนียลเจืออิทธิพลจากตะวันตก พม่า จีน แขก ที่ค่อนข้างจะสมบูรณ์เหลือให้ชื่นชม
บ้านหกเสาและบ้านสี่เสาอายุกว่าศตวรรษคือตัวอย่างของประวัติศาสตร์มีชีวิตที่ยังยืนหยัดมาตราบปัจจุบัน ทั้งสองหลังเป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้สูงสองชั้นยาวขนานกับถนน ชั้นล่างก่ออิฐถือปูน มีเสาและซุ้มประตูโค้งแบบตะวันตก เหนือขอบประตูประดับช่องลมไม้สลักลายม้วนสลวย ขณะที่ชั้นสองเป็นระเบียงหน้าต่างไม้ประดับงานไม้ฉลุเช่นกัน ส่วนหลังคาเป็นทรงจั่วแบบพื้นถิ่นแต่พลิกด้านจั่วให้เป็นด้านข้างของอาคาร ไม่ใช่หน้าบ้านแบบที่เราคุ้นกัน ปัจจุบันบ้านทั้งสองหลังปรับเป็นร้านจำหน่ายสินค้า
อีกหนึ่งไฮไลต์ของถนนเส้นนี้อยู่ฝั่งตรงกันข้าม เยื้องมาไม่ห่างกันนัก The Gallery ครอบครองอาคารไม้ชั้นเดียวอายุกว่าร้อยปีที่ปลูกสร้างผสมผสานระหว่างจีนและล้านนา โดดเด่นที่ปูนปั้นแบบจีนประดับอยู่ด้านหน้า ปัจจุบันเป็นร้านขายของที่ระลึกและเป็นร้านอาหารริมน้ำปิงที่ได้รับความนิยมมากในหมู่นักท่องเที่ยว เห็นอาคารทั้งสามแล้วรู้สึกตื้นตันในใจ ที่อยู่ตรงหน้าไม่ได้มีเพียงอิฐปูนคร่ำคร่าที่ควรได้รับการอนุรักษ์เท่านั้น แต่สิ่งที่มองไม่เห็นจับต้องไม่ได้อย่างวิถีชีวิตและเรื่องราวจากกาลเวลาซึ่งแฝงฝังเป็นหนึ่งเดียวกับตึกเก่าด้วยต่างหากที่ควรหาทางกอบเก็บไว้คู่กัน จิตวิญญาณและตัวตนของย่านจึงจะดำรงอยู่ได้ยั่งยืน
เดินๆ หยุดๆ มาสักพักก็มาถึงขัวแขกหรือสะพานจันทร์สมอนุสรณ์ เป็นสะพานคนเดินที่ทอดข้ามน้ำปิงจากฝั่งตะวันออกไปฝั่งตะวันตกลงที่หน้าตลาดวโรรสพอดี พึมพำในใจว่าหากไม่ออกเดินเล่นก็คงไม่เห็นเช่นนี้ แดดร่มแล้วคุณลุงคุณป้ามาเดินออกกำลังกายกันสบายใจ หนุ่มสาวบางคู่จับจองบางมุมบนสะพานยืนมองผืนน้ำกว้าง ไกลออกไปคือท้องฟ้าที่แปรสีส้มอมชมพู งามและเย็นราวกับมีลมพัดเข้าไปถึงในใจ เมื่อเดินมาเกือบกลางสะพานแล้วหันกลับไปสู่ฝั่งตะวันออก มองเห็นยอดเจดีย์ของวัดเกตการามสูงสล้างทาบท้องฟ้า เป็นภาพสงบที่สะท้อนเงาอดีตได้งามจับใจ
ฟ้ามืดลงเป็นลำดับ เชียงใหม่ฝั่งตะวันออกจากสายตาของคนเดินถนนคนหนึ่งมากมายด้วยรายละเอียดแบบที่ไม่อาจจับได้หากเพียงนั่งรถผ่าน เราเชื่อว่าในพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวจากกาลเวลายังคงแอบซ่อนมุมลับที่รอการค้นพบ ก่อนนิทราในย่านเก่าคืนนี้เราขอโกงอีกครั้งด้วยการข้ามกลับมาริมขอบฝั่งตะวันตก เพราะอาคารเก่าแบบล้านนาโคโลเนียลที่ยืนเรียงสองฝั่งถนนท่าแพทรงเสน่ห์นักในยามค่ำคืน โดยเฉพาะหากบางตึกปรับเป็นร้านอาหารรสดี อย่างนี้แล้วใครจะปฏิเสธได้ลง
Travel Tips