×

กางแผนที่เดินทัวร์พิพิธภัณฑ์โรงพิมพ์ในโรงแรม... Bangkok Publishing Residence

สราลี อุรุพงศา | Editorial Manager | 17 April 2019


 

เราชื่นชมเสมอเมื่อเห็นคนเล่าเรื่องที่เต็มไปด้วยข้อมูลหนักๆ แน่นๆ ให้ออกมาในรูปแบบที่สนุก เหมือนคุณครูที่เก่งไม่พอยังสอนสนุก มีลูกเล่น จนทำให้เรารักวิชานั้นไปเลย

Bangkok Publishing Residence ก็ทำสิ่งนั้นได้อย่างดีเยี่ยม

ที่นี่คือโรงแรมลึกลับระดับที่ป้ายชื่อโรงแรมเล็กกระจิ๋วแบบที่ถ้าไม่สังเกตก็จะเดินผ่านไปง่ายๆ แต่ถ้าลองได้เข้ามาข้างในแล้วละก็ คำว่าเปิดโลกยังน้อยไป เพราะที่นี่คือโรงแรมที่พอตัดสินใจเข้าพักปุ๊บ นอกจากจะได้นอนพักแล้วคุณยังจะได้รับแผนที่ Exhibition Guide Map 1 ใบ แผนที่แผ่นเล็กนี้นี่แหละที่จะเป็นไกด์พาเราเดินดูโรงแรมที่แถมพิพิธภัณฑ์สิ่งพิมพ์โลกเอาไว้!

รับแผนที่ไว้แนบอกสักครู่ ขอเราเล่าคร่าวๆ ก่อนว่า Bangkok Publishing Residence เกิดขึ้นมาได้เพราะ “อุ้ม-ปณิดา ทศไนยธาดา” ทายาทของโรงพิมพ์บางกอก โรงพิมพ์ที่เมื่อ 60 ปีก่อนโด่งดังและบุกเบิกสร้างหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ที่ชื่อบางกอกขึ้น และยังสร้างหัวหนังสือกว่า 15 หัวให้กับประเทศไทย จนเมื่อโรงพิมพ์ปิดตัวลง อุ้มเป็นมนุษย์คนเดียวที่โกยได้โกย เก็บได้เก็บของทุกอย่างที่เธอเห็นว่าสำคัญจากโรงพิมพ์ที่กำลังจะถูกรื้อ จากนั้นเธอก็สร้างโรงแรมขึ้นมา ลำพังแค่จัดการโรงแรมก็ยุ่งวุ่นวายแล้ว แต่เธอกลับคิดการใหญ่ด้วยการไม่ได้แค่เอาสิ่งที่โกยจากโรงพิมพ์มาตกแต่งโรงแรม แต่ยังสร้างพิพิธภัณฑ์สิ่งพิมพ์โลกขึ้นเสียเลย!

เอาละ ปฐมนิเทศกันพอหอมปากหอมคอ กางแผนที่แล้วเดินตามไกด์อุ้มมาเลยแล้วกันลูกทัวร์ทุกคน

 

เรื่องเล่าหลานหลวง

ไม่มีคำอธิบายใต้สิ่งของที่จัดแสดงในโรงแรมนี้ เพราะทุกอย่างเขียนไว้ในแผนที่ (ที่อุ้มลงมือวาดเอง) หมดแล้ว วิธีที่เราจะสนุกไปกับแผนที่นี้คือการอ่านแผนที่ให้ละเอียด จะมีคำใบ้ว่าสิ่งของแต่ละชิ้นอยู่ตรงไหน จากนั้นดูภาพประกอบสิ่งของนั้นและเทียบเคียงกับสถานที่จริงในโรงแรม จุด Start อยู่ที่รูปขนาดยาวแปะผนังข้างล็อบบี้ ในนั้นบอกเล่าเกี่ยวกับหลานหลวง (ย่านเมืองเก่าที่โรงแรมตั้งอยู่) การเดินไปอ่านไปและมองภาพวาดเทียบในแผนที่เพื่อมองหาเทียบเคียงกับสิ่งของจริงในโรงแรมคือเกมสนุกที่แฝงไปด้วยข้อมูลแน่นๆ ให้เราโดยไม่รู้ตัว

“เรามีสตอรีไลน์ที่จะเจออย่างแรกตามแผนที่คือ Neighborhood หรือหลานหลวงนี่แหละ เดิมที่นี่เคยเป็นโรงพิมพ์จริงๆ ตรงนี้เป็นย่านโรงพิมพ์ มีร้านหนังสือเยอะ มันเลยเป็นแหล่งที่นักหนังสือพิมพ์ นักเขียน คนทำโรงพิมพ์มานั่งแฮงก์เอาต์กัน พอเป็นคอนเซปต์แบบนี้จึงกลายเป็นว่ากลุ่มเป้าหมายเราก็คือพวกนักเขียน คนที่เดินทางมาหาเสพประสบการณ์ที่แปลกใหม่ แต่ไม่ใช่แค่เล่าเรื่องโรงพิมพ์นะ เรามีระนาดตั้งไว้ด้วย เพราะสมัยก่อนแถวนี้เป็นโรงนาฏศิลป์ มีโรงละครเก่าด้วย” ไกด์อุ้มเล่าไปแล้วเดินตามเราไป



ใช่แล้ว อุ้มเป็นไกด์ที่คอยเดินข้างหลังเรา เพราะอยากให้เราได้ใช้เวลากับแผนที่และเดินตามหาเรื่องราวนั้นด้วยตัวเอง (นอกจากแผนที่นี้แล้วอุ้มยังทำแผนที่ที่กินกับที่เที่ยวให้คนมาพักด้วย ซึ่งเธอจะอัปเดตเวอร์ชันให้แผนที่ตลอดว่าแถบนี้แขกสามารถไปเที่ยวไปกินที่ไหนได้บ้าง) เราว่าน่ารักดีสำหรับความใส่ใจเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้

“อยากรู้ด้วยว่าถ้าดูตามแผนที่ที่อุ้มวาดจะเดินหลงหรือเปล่า” ไกด์อุ้มยิ้มแล้วเดินตามเราต่อ

 

พิพิธภัณฑ์สิ่งพิมพ์โลก

“ถ้าทำพิพิธภัณฑ์แบบใส่ของไปแล้วมีคำอธิบายมันจะดูแข็งไปหมด เราอยากให้โรงแรมเราเป็นเหมือนบ้าน เพราะฉะนั้นสิ่งที่อุ้มทำคือเอา Material มาวางไว้ก่อนว่าชิ้นหลักๆ จะไว้ที่ไหน แล้วค่อยมาหยอดพวกเฟอร์นิเจอร์เพื่อให้ฟังก์ชันมันได้ เพราะที่ส่วนกลางชั้นล่างเราต้องเสิร์ฟอาหารเช้าให้แขกถึง 8 ห้อง เราจะไม่ยัดเยียดพิพิธภัณฑ์ ต่อให้คนที่ไม่สนใจเรื่องสิ่งพิมพ์เลยก็ยังอยู่ได้ ถ้าไม่ได้ตั้งใจเดินดูจริงๆ ก็จะไม่เห็นและไม่อึดอัด แต่ถ้าคนที่สนใจนะ โอ้โฮ มีดีเทลที่คุณจะสนุกกับมัน อยู่กับมันได้อีก 12 ชั่วโมงเลย

“ที่ทำพิพิธภัณฑ์เพราะสิ่งพิมพ์โลกกำลังจะตาย หนังสือกำลังปิดลง กลายเป็นรูปแบบดิจิทัลหมดแล้ว เลยอยากเก็บที่นี่ไว้เป็น Reminder of Hard Copy ของสิ่งพิมพ์ทั้งโลก อย่างพิมพ์ดีดนี่เรามีตั้งแต่ยุค ร.5 พอเดินขึ้นไปชั้นบนจะเริ่มเป็นยุคของพิมพ์ดีดไฟฟ้า ก็จะไล่ขึ้นไปเป็นชั้นๆ เลย”

ฟังไกด์อุ้มเล่ามาถึงตอนนี้เราเริ่มสงสัยว่านอกจากขยันเก็บสะสมของแล้ว การเก็บข้อมูลก็น่าจะเป็นงานยากไม่แพ้กัน เธอทำได้อย่างไร

“โห อุ้มถามยับน่ะ (หัวเราะ) ต้องไปไล่ต้นตระกูล หาขั้วตระกูลมาสัมภาษณ์ทุกคนเลยว่ายุคนั้นเป็นยังไง เขาอยู่กันยังไง ไล่ถามทุกคน เพราะเราเกิดไม่ทัน แล้วแต่ละคนเล่าไม่เหมือนกันด้วยนะ เราก็ต้องมาคัดกรองว่าสรุปคืออะไรกันแน่ (หัวเราะ)” ไกด์อุ้มว่าก่อนจะเดินนำเราออกจากส่วนกลาง

 

โต๊ะทำงานในโรงแรม

“ก่อนขึ้นบันไดขึ้นลิฟต์จะเจอมุมโต๊ะคุณตาของอุ้มที่เป็นเจ้าของโรงพิมพ์บางกอก พร็อปพวกนี้มาจากโต๊ะคุณตาจริงๆ เลย มีโคมไฟ มีปากกาจริงของเขา ข้างหลังก็คือขวดเหล้าของคุณตาจริงๆ ที่ค้างเอาไว้ตั้งแต่คุณตาเสีย อุ้มก็ยกตามมาเลย พอจัดแล้วก็คิดถึง ร้องไห้หาคุณตาหลายรอบ เพราะอุ้มโตมากับคุณตาคุณยาย ยิ่งปิดเทอมก็จะอยู่ในโรงพิมพ์ เจอสิ่งนั้นมาตั้งแต่เด็ก เลยรู้สึกว่าคลุกคลีมากๆ ส่วนด้านข้างจะเป็นห้องหนังสือที่พิมพ์จริงๆ เมื่อ 60 ปีที่แล้ว เก็บเอาไว้หมดเลย”

 

จาก Bangkok Publishing เป็น Bangkok Publishing Residence

แผนที่พาเรามาหยุดอยู่ที่เครื่องพิมพ์ Etching Press ที่ตั้งหลบอยู่ตรงพื้นที่ส่วนกลางด้านล่าง ที่ใช้คำว่าตั้งหลบเพราะถึงจะตั้งกลางห้องแต่ก็ไม่เกะกะ ทำตัวแนบเนียนประหนึ่งเป็นแค่ของแต่งห้อง แต่แท้จริงแล้วเป็นเครื่องพิมพ์โบราณที่หาดูได้ยากแล้วในสมัยนี้

“เป็นเครื่องพิมพ์ที่เราต้องวางกลึงในฐานแล้วเอาเข้าไป แล้วเอากระดาษม้วนโรลมา แล้วกลิ้งๆ มันก็จะพิมพ์ออกมา และมีนิยายของบางกอกที่ดังจนถูกเอาไปทำเป็นหนัง เราก็เอามาตั้งโชว์ให้เปิดดูได้ด้วยนะ เป็นเล่มที่พิสูจน์อักษรกันจริงๆ เปิดดูก็จะเห็นลายมือ เห็นขั้นตอนการทำงานเลย”

พอเดินขึ้นบันไดตามคำสั่งของแผนที่เราก็ไปสะดุดกับประโยคภาษาอังกฤษที่ส่องแสงสว่างด้วยไฟนีออนโดดเด้งตรงผนังทางเดินบันได

“เป็นประโยคที่นำมาจากหนังสือของโรงพิมพ์นี่แหละ ซึ่งพอเอาออกมาเราก็ไม่จำเป็นต้องทำให้มันโบราณ ก็เอามาตีความ เอามาเล่นแบบนี้ได้ บันไดอีกฟากก็จะมีตัวเรียง (แม่พิมพ์ตัวอักษร) ที่ใช้กับเครื่องพิมพ์สมัยก่อน อุ้มรื้อมาได้จากกองขยะ รื้อขึ้นมาเจอตัวเรียงตกใจเลย สาเหตุที่มันยังรอดอยู่เนี่ยเพราะยุคเดิมเขาใช้เหล็กจริงๆ แต่เหล็กถูกขายไปหมดแล้ว เขาเอาไปหล่อขาย ที่ตัวเรียงนี้รอดเพราะว่าเขาผสมยาง ซึ่งเอาไปหล่อไม่ได้ ก็เลยรอดมาถึงมืออุ้ม เราสามารถแกะดูไทโปกราฟีได้เลยว่าหัวบางกอกก็ถูกเปลี่ยนตามยุค พวกดอกจันอะไรต่ออะไรเปลี่ยนตามยุคหมด ตอนที่โกยจากกองขยะก็มีแต่คนบอกว่าบ้าหรือเปล่า โกยขยะอยู่ได้ อุ้มก็แบบ...คอยดูแล้วกัน

“สมัยก่อนการทำไทโปฯ คือการขึ้นกราฟิก ทำเวกเตอร์เอง เป็นงานละเอียดมาก สมัยก่อนเขามีพิมพ์ 4 สีด้วยนะ ก็ผสมสีเอง คือบางกอกออกทุกอาทิตย์ แล้วทุกอาทิตย์เขาเปลี่ยนสีไม่เคยซ้ำกันเลย ต่อให้เป็นเขียวเขาก็จะเปลี่ยนแพนโทนเขียวไปเรื่อยๆ ส้มก็เปลี่ยนแพนโทนส้ม คือเป็นเล่มเดียวในยุคนั้นที่เล่นสีสนุกมากและยังมีความล้ำ”

เราเดินตามทางไปเจอกับห้องสมุดที่ไม่ได้มีแค่สมุดแต่ยังเก็บสะสมสารพัดเรื่องราวของโรงพิมพ์บางกอกเอาไว้ ไกด์อุ้มเปิดตู้ให้ดูภาพประกอบในสมัยก่อนจนเราลูกทัวร์ล้วนตาโตไปพร้อมๆ กัน

“ตู้พวกนี้ถ้าใครสนใจเรื่องสิ่งพิมพ์นะ รื้อออกมาคือบ้าไปเลย อย่างอันนี้เป็นภาพประกอบที่ค่อนข้างแอบสแทรกต์ในสมัยก่อน พวกนิยายที่มีตัวละครเยอะแยะน่ะ เวลาวาดเขาก็วาดแยกแล้วเอามาแปะคอลลาจจริงๆ ก่อนนำไปพิมพ์ ที่จริงทัวร์ในโรงแรมนี้เราใช้เวลาเดินชั่วโมงกว่าๆ นะคะ แต่จริงๆ แล้วสนใจตรงไหน จะอยู่กับตรงไหนนานเท่าไรก็ได้ บางคนไม่ออกไปไหนเลย ก็จะอยู่ห้องนี้เปิดโน่นดูนี่ เปิดออกมากางแล้วถ่ายรูปไปทีละรูปๆ เลยก็มี” เราสรุปเดี๋ยวนั้นเลยว่าไกด์อุ้มไม่ใช่แค่ไกด์ (เธอเป็นไกด์จริงๆ นะ เพราะหลายครั้งเธอเป็นคนพาแขกเดินดูพิพิธภัณฑ์ด้วยตัวเอง) ผู้เป็นทั้งเจ้าของโรงแรม เป็นภัณฑารักษ์ เป็นนักวาดภาพประกอบ แต่เธอยังเป็นคนใจกว้างที่ตั้งใจสร้างและดูแลโลกของสิ่งพิมพ์จนเผื่อแผ่มาถึงคนอื่นๆ ได้อย่างไม่หวงของอีกด้วย

 

ห้องนอนก็ต้องเอาไว้พักผ่อนสิ

เราจบการทัวร์ที่ห้องสมุดลับไปแล้ว อุ้มเปลี่ยนโหมดจากไกด์มาเป็นเจ้าของโรงแรมแล้วพาทัวร์ห้องพักต่อ และก็ตามหัวข้อเลย เธอบอกว่าเมื่อขึ้นมาถึงห้องนอนแล้วก็โบกมือลาสิ่งพิมพ์ต่างๆ ไปได้เลย

“พอเข้าห้องพักอุ้มจะ Delete สิ่งพวกนี้ออกหมดเลย คือให้แยกไปว่าพอเข้ามาคือบ้าน คือห้องนอน ตอนแต่งห้องต่างๆ คืออุ้มสะสมภาพที่มีทั้งหมดเอามาพิงที่ระเบียงทุกชั้น อุ้มใช้วิธีขึ้นไปชั้น 4 แล้วมองลงมา แล้วชี้ว่าภาพไหนควรอยู่ตรงไหน ก็มีน้องสาวสแตนด์บายทุกชั้นเลย ด้วยความที่เราจบปริญญาตรีหลักสูตรสองปริญญา Film Production กับ Fine Art Drawing แล้วไปต่อปริญญาโท Art ปรัชญาที่เมลเบิร์น การตกแต่งที่นี่ทั้งหมดเลยมาจากศิลปะ แล้วแม่อุ้มจบ Interior มา อุ้มก็เกาะแม่ เห็นการทำงานของมัณฑนากรมาตลอดก็จะซึมซับมา อย่างในห้องน้ำเราก็แอบออกแบบแพ็กเกจจิ้งให้ล้อกับสิ่งพิมพ์ อันนี้เป็นสมุดโน้ต เป็นแฟ้ม พวกของใช้อย่างครีมอาบน้ำจะทำเป็นสีดำให้เหมือนหมึกพิมพ์หมดเลย เราใช้คาร์บอน แขกตกใจทุกคน แต่ก็ซื้อกลับบ้านนะ (หัวเราะ) เขาก็ชอบกัน”

 

แอบหยอดความสนุกแบบคนอยู่ไม่สุข

“CI (Corporate Identity) ที่บรีฟทีมงานทุกคนคือ Elegant, Intellectual, Creativity และ Mysterious เป็นหลัก ทุกอย่างเราทำตามสิ่งนั้น แต่จะขี้เล่น มีความสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นตัวตนของเราซ่อนอยู่ เราเป็นคนติงต๊อง บางทีรู้สึกว่าในความขลังมันมีความอึดอัดอยู่ ในห้องนอนบางห้องจะเห็นว่ามีหมอนปลาทู มีหมอนกุ้งย่างซ่อนอยู่ จริงๆ ต้องใช้คำว่าซุกไว้ในห้องนะ (หัวเราะ) คนไทยเห็นแล้วอาจเฉยๆ แต่ฝรั่งเห็นแล้วแบบ เฮ้ย ทำไมมีสิ่งนี้ เราอยากให้รู้สึกเหมือนอยู่บ้านสบายๆ แบบนั่งพื้นได้ แขกซื้อของ ซื้อเคเอฟซีขึ้นมานั่งกินในห้องได้เลย พยายามทำให้เป็นบ้านคนธรรมดา ให้รู้สึกว่าตื่นมาแล้วไม่เหมือนโรงแรม เหมือนไปนอนบ้านเพื่อน

“อย่างพื้นที่ข้างล่างอุ้มก็คิดแล้วคิดอีกนะว่าจะเอาตู้เกมอาร์เคดมาลงดีไหม กลัวจะไปเปลี่ยนมู้ดแอนด์โทนทุกอย่างเลยหรือเปล่า เลยกลายเป็นว่าก็ต้องแอบเนียนๆ แทรกไปกับโต๊ะให้มีฟังก์ชันใช้เป็น Coffee Table ได้ด้วย (หัวเราะ) เหมือนเติมฟังก์ชันเข้าไป ให้ได้รู้สึกว่าในวันอากาศร้อนๆ แขกขี้เกียจออกไปข้างนอก ก็นั่งเล่นกัน”

ไม่ใช่แค่ความบ้านๆ ก็อยากมี พิพิธภัณฑ์ก็ขาดไม่ได้ แต่เธอยังคิดมากไปถึงกระทั่งกลิ่นเฉพาะตัวของโรงแรม อุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศ ไปจนถึงเพลงที่เปิด ตอนเช้าที่นี่จะเปิดทีวีให้มีความเคลื่อนไหวบางอย่างเหมือนบ้านคน ส่วนช่วงบ่ายจะมีเพลงเปิดที่ต้องเป็นอีกอารมณ์หนึ่ง

“แต่สี่ทุ่มทุกอย่างต้องเงียบแล้วนะ ที่นี่เป็นบ้านคนแก่ (หัวเราะ)” อุ้มหัวเราะตบท้ายเมื่อจบเรื่องเล่าว่าด้วยเรื่องของโรงแรมที่ไม่มีวันจบ กล่าวคือ เธอมองว่าโรงแรมยังพัฒนาได้ ยังมีบริการที่ดีกว่านี้ได้ มีอาหารที่ดีกว่านี้ได้ จนเธอมองไม่เห็นจุดจบของมัน

และเราว่าทัศนคตินี้จะทำให้ทั้งโรงแรมและพิพิธภัณฑ์ในโรงแรมนี้ของเธอจะยังถูกส่งต่อความรู้ รอยยิ้ม และแรงบันดาลใจแบบไม่มีวันจบเช่นกัน

Bangkok Publishing Residence
31 ถนนหลานหลวง แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
โทร. 08-1780-6229



ถ่ายภาพ: ดลนภา รามอินทรา