ศรัณยู นกแก้ว | Writer | 19 August 2019
16 สิงหาคมปีที่ผ่านมา มูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต ได้เปิดประตูบ้านหลังเล็กๆ อันร่มสงบในซอยเอกมัยอีกครั้ง หลังจากนายช่างเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ “จักรพันธุ์ โปษยกฤต” มิได้ทำการแสดงผลงานนิทรรศการมาตลอด 15 ปี
ชื่อของอาจารย์ช่าง จักรพันธุ์ โปษยกฤต นั้นมิได้หมายถึง 1 ใน 52 นายช่างเอกในรอบ 200 ปีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่มีเอกลักษณ์ด้านความอ่อนหวานประณีตในลายเส้นจิตรกรรมไทยประเพณีเท่านั้น แต่ชื่อนี้ยังเชื่อมโยงไปถึงการรื้อฟื้นคณะหุ่นกระบอกของไทยให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง เป็นหุ่นกระบอกคณะจักรพันธุ์ โปษยกฤตที่ขมวดรวมเอางานช่างทุกหมู่เข้าไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการทำเครื่องประดับ การเขียนลายไทย งานปักผ้า งานสถาปัตยกรรมไทย การสร้างกลไก การขับร้อง ดนตรีไทย และการร่ายรำ
สำหรับนิทรรศการครั้งแรกในรอบ 15 ปีของอาจารย์จักรพันธุ์ ถูกจัดขึ้นในปี 2561 พร้อมกับการขับเคลื่อนการสร้าง “พิพิธภัณฑ์จักรพันธุ์ โปษยกฤต เพื่อการเรียนรู้ทางศิลปะ” ซึ่งเป็นทั้งโรงหุ่นกระบอกและพิพิธภัณฑ์หุ่นกระบอกอย่างถาวรขึ้นเป็นครั้งแรกของไทย แม้ปัจจุบันโรงหุ่นกระบอกยังไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่ทางมูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต ก็ได้นำหุ่นมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ชั่วคราว ณ มูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต ซอยเอกมัย โดยในปีนี้จัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนเรื่อง “สามก๊ก” ตอน โจโฉแตกทัพเรือ ซึ่งเคยปรากฏบนเวทีการแสดงเพียง 15 รอบ ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อปลายปี พ.ศ. 2531 ถึงต้นปี 2532
หลังจากจบการแสดงครั้งนั้น หุ่นกระบอกกว่า 80 หุ่นที่ใช้ในการจัดแสดง “สามก๊ก” ตอน โจโฉแตกทัพเรือ ก็ถูกเก็บไว้ไม่เคยนำมาทำการแสดงอีก ไม่ว่าจะเป็นหุ่นกวนอู เล่าปี่ เตียวหุย หุ่นจิวยี่นายทัพใหญ่ จูล่ง หุ่นนางบิฮูหยิน ไต้เกี้ยว เสียวเกี้ยว ตลอดจนกลุ่ม นางระบำนางกำนัลที่ทรงเครื่องศิราภรณ์สวยงามมาก
นากจากตัวหุ่นแล้วในการแสดงหุ่นกระบอกเรื่องสามก๊กยังตราตรึงผู้ชมด้วยขบวนเรือมังกรโจโฉ เรือรบ เรือเสบียง เรือประทุน รวมทั้งหมด 6 ลำ เรือทุกลำมีการคิดค้นกลไกการเชิดไว้ได้อย่างสมจริงไม่เว้นแม้แต่ตอนที่เรือกำลังลุกไหม้จนท้องทะเลกลายเป็นทะเลเพลิง และแน่นอนว่าหุ่นกระบอกเหล่านั้นที่กล่าวมากำลังจะกลับมามีชีวิตอีกครั้งใน นิทรรศการหมุนเวียนครั้งที่ 2 ชุด “หุ่นกระบอก ตอนโจโฉแตกทัพเรือ” ซึ่งเปิดให้ได้ชม ณ มูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2562
ไม่เพียงหุ่นกระบอกที่หาชมได้ยากยิ่งแล้ว ในนิทรรศการครั้งนี้ยังจัดแสดงซุ้มประตูม่านปักลายมังกรหงส์ รวมทั้งเครื่องประกอบฉากทุกชิ้นที่ใช้ในการแสดงสามก๊กครั้งแรก รวมั้งขบวนม้า และฉากจิตรกรรมจีนขนาดใหญ่ที่อาจารย์จักรพันธุ์เขียนเองทั้งผืน ซึ่งบอกได้อย่างเต็มปากเลยว่าหุ่นกระบอกเหล่านี้เป็นงานศิลป์แห่งแผ่นดินที่ชาวไทยควรมีโอกาสมาชมให้ได้สักครั้ง
ภาพ: ชัชวาล จักษุวงค์
FYI