×

“Walking with Giant” กิจกรรมเดินป่าที่จะทำให้เข้าใจช้างบ้านมากยิ่งขึ้น

Traveller's Companion | Traveller's Companion | 15 October 2019



คนไทยผูกพันกับช้างมาเนิ่นนาน และปัจจุบันในประเทศไทยเองมีช้างบ้านอยู่ประมาณ 4,200 เชือก และช้างป่าอีกราว 3,500 เชือก ซึ่งช้างทั้ง 2 ประเภทก็มีปัญหาที่แตกต่างกันออกไป เพื่อสร้างความเข้าใจในช้างไทยโดยเฉพาะช้างบ้านให้มากยิ่งขึ้น เพื่อนเดินทางจึงขอชวนคุณเก็บเสื้ออุ่นๆ ตีตั๋วขึ้นเหนือ จองที่พักท่ามกลางป่าเขาและความหนาวในรูปแบบของแคมป์ช้าง เพื่อที่จะเข้าไปเรียนรู้และเข้าใจช้างบ้านให้มากยิ่งขึ้น



แต่...อย่าเพิ่งคิดว่าแคมป์ช้างนั้นต้องบุกป่าฝ่าดงไปแสนยากลำบาก เพราะแคมป์ช้างที่ว่า ได้แก่ “อนันตรา สามเหลี่ยมทองคำ แคมป์ช้าง แอนด์ รีสอร์ท” โดยมูลนิธิโกลเด้น ไทรแองเกิ้ล เอเชียน เอเลเฟนท์  หรือที่หลายคนรู้จักในนาม “อนันตรา แคมป์ช้าง เชียงราย” ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำรวกบริเวณชายแดนสามเหลี่ยมทองคำอย่างพอดิบพอดี




แม้ “อนันตรา แคมป์ช้าง เชียงราย” ไม่ได้เป็นแคมป์ช้างแบบซาฟารีดิบๆ หรือเป็นเต็นท์แคมป์ขึงผ้าเต้นท์หรูกลางป่า แต่ทันทีที่คุณเข้าไปในพื้นที่รีสอร์ท คุณจะได้ยินเสียงช้างทักทายมาแต่ไกล โดยห้องพักของที่นี่หันหน้าออกสู่ริมแม่น้ำ มีผืนป่าขนาดใหญ่กั้นกลาง และใต้ผืนป่านั้นเองที่ช้างร่วม 25 เชือกอาศัยอยู่



บอกเลยว่าคนที่รักชาติจะต้องร้องกรี๊ด ให้กับการเปิดประตูห้องออกมานอกระเบียง และเจอช้างเดินเล่นอยู่ไกลลิบๆ แต่ละตัวมีแอคชั่นที่น่ารักให้ได้นั่งมองตลอดวัน ที่สำคัญช้างเหล่านั้นสามารถเดินไปมาได้ตามอัธยาศัยจริงๆ บนเนื้อที่ป่ากว่า 400 ไร่

สำหรับ มูลนิธิโกลเด้นไทรแองเกิ้ลเอเชียนเอเลเฟนท์ (Golden Triangle Asian Elephant Foundation) หรือชื่อย่อ GTAEF เป็นมูลนิธิช้างที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2549 และทำงานช่วยเหลือช้างบ้านมาตลอด 20 ปี ซึ่งปัญหาหนึ่งที่ทางมูลนิธิพบก็คือคุณภาพชีวิตของช้างบ้านที่ไม่ได้ดีนัก อีกทั้งยังมีอัตราการเป็นช้างเร่ร่อนหากินตาท้องถนนค่อนข้างสูง คุณจอห์น โรเบิร์ตส (John Roberts) ผู้อำนวยการแคมป์ช้างจึงเกิดไอเดียการจ้างงานควาญช้างเพื่อให้นำช้างและครอบครัวมาอาศัยที่แคมป์ช้าง โดยมีค่าตอบแทนเป็นเงินเดือน ทั้งยังมีสวัสดิการในการรักษาพยาบาล อาหาร การศึกษาแก่ลูกๆ ควาญ และที่อยูอาศัยฟรี ซึ่งในรีสอร์ตมีการตั้งหมู่บ้านควาญช้าง มีศาลปะกำสำหรับทำพิธีเกี่ยวกับช้าง ไม่ต่างจากที่หมู่บ้านช้าง จังหวัดสุรินทร์ และที่สำคัญยิ่งกว่าคือการให้ความรู้แก่ควาญ โดยเฉพาะเรื่องการฝึกช้างแบบใหม่ Target Training ที่ไม่จำเป็นต้องใช้ขอสับอีกต่อไป






ที่นี่ต่างจากปางช้างทั่วไปตรงที่ไม่ได้เน้นโปรแกรมช้างโชว์ความฉลาด แต่ทางรีสอร์ตได้ชวนนักท่องเที่ยวมาทำความเข้าใจและรู้จักช้างผ่านโปรแกรมเดินป่าระดับเบสิคแต่ลึกซึ้งด้วยเนื้อหา เรียกว่า Walking with Giant ซึ่งไม่ได้ให้เราขี่ช้างเที่ยวป่า แต่เราจะต้องตื่นมาพร้อมพระอาทิตย์ขึ้น จากนั้นเดินตามพี่ใหญ่เจ้าบ้านเดินเข้าป่าไปเรื่อยๆ พี่ใหญ่หยุดกินอาหารข้างทางเราก็หยุดดู พี่เขาอยากจะเล่นเราก็จะหยุดดูพี่เขาเล่น และก็มีอยู่หลายครั้งที่พี่ใหญ่ส่งเสียงทักทายช้างที่หากินอยู่ตามมุมต่างๆ ของป่า ไปจนกระทั่งลงเล่นน้ำในแม่น้ำรวก ซึ่งดูท่าแล้วช้างที่นี่จะชอบน้ำมากจนถึงขั้นที่พี่ควาญต้องลงไปตามจึงจะขึ้น




แม้ช้างที่นี่จะต้องลงมาเดินโชว์ตัวให้แขกได้ดูบ้าง ทว่าแต่ละตัวก็มีเวลาทำงานที่จำกัดไม่เกิน 3 ชั่วโมงต่อวันซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับแคมป์ช้างทั่วไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นทางแคมป์จะสังเกตจากนิสัยของช้างแต่ละเชือกเป็นหลัก ถ้าเชือกไหนไม่ชอบเจอะเจอผู้คนก็ไม่ได้บังคับ แต่จะปล่อยให้เดินเล่นในป่าด้วยตัวเอง เพื่อที่อย่างน้อยให้ช้างได้ออกเดินพื่อสร้างสมดุลย์กับอาหารที่กินเข้าไปประมาณ 300 กิโลกรัมต่อวัน ซึ่งทำให้ทางมูลนิธิต้องใช้เงินราว 600,000 บาทต่อปีสำหรับการเลี้ยงช้างหนึ่งตัว ไม่นับรวมโครงการอนุรักษ์ช้างป่าที่ทางมูลนิธิก็ร่วมด้วยช่วยกันไม่แพ้ช้างบ้าน




 

ข้อดีอย่างหนึ่งของอนันตรา แคมป์ช้าง เชียงราย คือการเป็นแคมป์ปิด ดังนั้นที่นี่จึงเปิดให้เฉพาะคนที่เข้าพักเท่านั้นจึงจะได้สิทธิ์ในการเข้ามาเรียนรู้พฤติกรรมช้างและชมความน่ารักของช้างที่ไม่ได้เน้นว่าจะต้องขี่หลัง  เพียงแค่ได้เฝ้าสังเกตพฤติกรรมไกลๆ ได้พูดคุยกับควาญก็จะทำให้เราสามารถเข้าใจควาญ และเข้าใจช้างบ้านของไทยมากขึ้นแล้วจริงๆ

 

FYI

•    www.anantara.com/th/golden-triangle-chiang-rai

•    หมู่ที่ 1 อ.เชียงแสน จ.เชียงราย

•    โทร. 0-5378-4084