ณวดี ปัตเมฆ | Writer | 04 February 2020
จัยปูร์ หรือ ชัยปุระ เป็นหนึ่งใน Safe Zone ของคนที่อยากลองไปเที่ยวอินเดียดูสักครั้ง เพราะเมืองสีชมพูแห่งนี้มีอะไรดีๆ ให้ทัวร์ริสต์ได้ไปทำความรู้จักเพียบ ไหนจะมากมายทั้งประวัติศาสตร์เข้มข้น สืบค้นข้อมูลถอยไปได้กว่า500 ปี มีป้อมปราการ และพระราชวังสวยอลังการให้สะบัดส่าหรีถ่ายรูปได้แบบรัวๆ มีงานคราฟท์แจ่มๆ ให้ช็อปเป็นของฝากกลับบ้านละลานตา
ชัยภูมิหลักๆ ของการมาเที่ยวจัยปูร์หนีไม่พ้นแหล่งท่องเที่ยวใน Pink City ที่มีทั้งพระราชวังสายลม หรือ ฮาวามาฮาล, พระราชวังหลวง City Palace และหอดูดาวจันทาร์มันทาร์ (JantarMantar) ที่อยู่ในละแวกเดียวกับบาซาร์ต่างๆ ซึ่งขายของกันไม่อั้นวันยันค่ำ แต่เราอยากชวนคุณไปยังป้อมปราการด้วยกันมากกว่า เพราะบนนั้นมีอะไรๆ ให้ดูชมไม่แพ้กัน
ห่างจากใจกลางเมืองสีชมพูไปเพียง 11 กิโลเมตร เป็นอาณาเขตของป้อมปราการที่คอยอารักขาเมืองชัยปุระในอดีตถึง 3 ป้อมด้วยกัน ได้แก่ ป้อมนาฮาการ์ (Nahagarh Fort) ป้อมชัยคฤห์ (Jaigarh Fort) และ ป้อมอาเมร์ (Amer หรือ Amber Fort) เมื่อขึ้นไปยังป้อมนาฮาการ์จะได้เห็นภาพมุมสูงของกลุ่มบ้านเรือนในตัวเมืองชัยปุระ ส่วนถ้าเขยิบไปเที่ยวป้อมอาเมร์ก็จะเห็นทั้งป้อมชัยคฤห์ซึ่งตั้งตระหง่านอยู่เคียงคู่กัน เก๋ไปกว่านั้นคือ ทั้งสองป้อมมีทางเชื่อมใต้ดินให้สามารถเดินทางไปหากันได้ และในอดีตใช้เป็นเส้นทางนี้ก็ถูกใช้เป็นทางลับให้บรรดาเชื้อพระวงศ์หลบหนีในกรณีที่ป้อมอาเมร์ถูกยึดครอง ส่วนถ้ามองจากป้อมอาเมร์ลงไป ก็จะเห็นเขตเมืองเก่าอาเมร์และกำแพงเมืองทอดยาวคดเคี้ยวไปตามเทือกเขาอะราวัลลี คลับคล้ายกำแพงเมืองจีนไม่มีผิด
มองแค่กำแพงเมืองก็ว่าอลังการแล้ว การได้เข้าไปสัมผัสบรรยากาศภายในป้อมอาเมร์นั้นอลังการยิ่งกว่า เพราะที่นี่เคยเป็นพระราชวังที่ประทับของเหล่าราชปุต คือ กษัตริย์ มหาราชา และพระราชวงศ์ของอาเมร์ในอดีต บริเวณนี้จึงมีทั้งหมู่พระที่นั่ง ซึ่งสร้างจากทั้งหินทรายสีแดง และหินอ่อนสลักเสลาได้อย่างอ่อนช้อยงดงาม ส่วนห้องหับก็มากมายและวิจิตรไม่ว่าจะเป็นท้องพระโรง หรือห้องลับ แม้แต่สวนฤดูร้อนก็งดงามเสมอในทุกฤดูกาล ภายในป้อมอาเมร์มีรายละเอียดต่างๆ น่าดูชมมากมาย แนะนำว่าใครที่หลงใหลในประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมต้องเผื่อเวลามาอ้อยอิ่งที่นี่สักครึ่งวันถึงจะพอ
มีโอกาสได้มาเยือนนครเก่าแก่ทั้งที เราเลยเดินซอกแซกไปยังอีกหนึ่งจุดหมายอย่าง Stepwell ที่ชื่อ Panna Meena Ka Kund ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเขตเมืองเก่าอาเมร์ โดยในอดีตนั้น เมืองต่างๆ ในอินเดียนิยมสร้างอ่างเก็บน้ำที่มีบันไดเรียงรายลดหลั่นลึกลงไปถึงก้นบ่อ เพื่อให้ชาวบ้านได้เดินลงไปตักน้ำมากินใช้โดยถ้วนทั่วในทุกฤดูกาลนานวันเข้า สถาปัตยกรรมรูปทรงสวยงามแปลกตา ที่มากด้วยประโยชน์ใช้สอยแห่งนี้ก็ได้กลายมาเป็นเป้าหมายในการถ่ายภาพของนักท่องเที่ยวยุคต่อมาไปโดยปริยาย
ที่นี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางนอกแผนที่ของฉัน เมื่อหนุ่มน้อยนาม Alekh ปรี่เข้ามาขายของฝากจำพวกร่มและหมวกแขก แต่แทนที่ฉันจะยอมซื้อดีๆ กลับจ้อจี้คุยกับน้องไปเรื่อยๆ ถามไถ่จนได้ความว่า หลังจากเลิกเรียนตอนบ่าย 2 เด็กชายวัย 9 ขวบคนนี้จะรีบกลับบ้านไปเปลี่ยนเสื้อผ้า แล้วออกมาขายของกับนักท่องเที่ยว เพื่อฝึกภาษาอังกฤษ และถ้าเป็นไปได้ Alekh อยากเรียนสูงๆ เพื่อที่จะได้เป็นหมอในวันข้างหน้า
คุยไปคุยมา ทั้งร้อนและเหนื่อย ฉันเลยลองถาม Alekh เล่นๆ ว่า แถวนี้มีแลสซี่ให้กินไหม อยากกินแลสซี่เย็นๆ ให้ชื่นใจ ซึ่งแลสซี่ก็คือนมผสมโยเกิร์ต รสชาติหวานๆ เปรี้ยวๆ ที่ฉันยกให้เป็นเครื่องดื่มตัวท็อปประจำแดนภารตะ ดื่มได้ทุกวัน ทุกที่ไม่มีเบื่อบางเจ้าจะผสมผลไม้เพิ่มรสชาติหอมหวานเข้าไปอีก ไม่ว่าจะเป็นกล้วย มะม่วง หรือแม้แต่แลสซี่กุหลาบก็อร่อยกำซาบลิ้นมาก
ส่วนคำตอบของ Alekh ก็คือ “มี...แม่ทำไว้ที่บ้าน” เราทั้งคู่จึงไม่รอช้า ช่วยกันหอบสินค้าของ Alekh เต็มสองมือ แล้วรีบจ้ำอ้าวไปยังบ้านดินของครอบครัวเด็กน้อยที่อยู่ติดๆ กับ Panna Meena Ka Kund ที่จริงรอบๆ บริเวณนี้มีสิ่งก่อสร้างโบราณหน้าตาคล้ายวิหาร เจดีย์ หรือโบสถ์เก่าแก่อยู่เพียบ ลองนึกภาพเหมือนเราเดินดุ่มๆ ไปเที่ยวในหมู่เจดีย์เก่าแถวอยุธยา ที่มีบ้านเรือนผู้คนท้องถิ่นแทรกตัวอยู่อย่างกลมกลืน
บ้านของ Alekh เป็นบ้านชั้นเดียวหน้าตาเรียบง่าย เหมือนจับเอากล่องสี่เหลี่ยมมาคว่ำลงกับดิน แล้วเจาะช่องประตู ฉลุหน้าต่าง เป็นอันเสร็จพิธี พอถึงบ้านปุ๊บ Alekh รีบกระวีกระวาดไปเปิดตู้เย็น หยิบแลสซี่โถรินใส่แก้วอลูมิเนียม เสิร์ฟให้อาคันตุกะ พร้อมรินน้ำเปล่าจากไหดินเย็นชื่นใจให้อีกแก้ว มีของแถมเป็นเค้กประจำถิ่นของราชสถานที่ชื่อ Ghevar อีกชิ้น ซึ่งก็คือ เค้กเคลือบน้ำตาลหวานๆ ด้านบน กินคู่กับแลสซี่โฮมเมดที่ไม่ได้หวานเจี๊ยบเหมือนตามร้านค้า เข้ากันดีไปอีกแบบ
สักพัก Alekh เริ่มนึกขึ้นได้ว่าตัวเองอู้งานมานานโข เลยอยากกลับไปขายของต่อ เขาจึงฝากฝังฉันไว้กับ Avineshพี่ชายวัย 10 ขวบของเขา ให้พาไปเดินเที่ยวบนกำแพงเมืองที่อยู่ไม่ไกลจากละแวกบ้าน เอาเข้าจริง ฉันเองก็รู้สึกสองจิตสองใจกับการเที่ยวแบบเตลิดออกนอกเส้นทางแบบนี้ แต่สัญชาตญาณลึกๆ ก็อดบอกตัวเองไม่ได้ว่า โอกาสแบบนี้ไม่ได้มีบ่อยๆ ว่ากันว่าในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวมาเยือนป้อมอาเมร์นับล้านคน แต่จะมีสักกี่คนที่ได้ขึ้นไปบนกำแพงเมืองจัย (ปูร์) แบบนี้
รู้ตัวอีกที ฉันก็เดินเป็นหมาหอบแดดตามอวิเนชเดินขึ้นบนปราการแห่งรัฐราชสถาน ท่ามกลางองศาเดือดของชายแดนที่ติดกับทะเลทรายในเดือนเมษายน (แนะนำว่าถ้าจะไปเที่ยวอินเดีย ไปช่วงหน้าหนาวจะสบายกายที่สุด อากาศหนาวเย็นพอๆ กับแถบยุโรปเลยทีเดียว ส่วนหน้าร้อนคือ ร้อนแล้งแสบผิวกายยิ่งกว่าเมืองไทยหลายเท่านัก) จนในที่สุดก็ได้ไปนั่งพักหายใจเข้าออกลึกๆ บนหอคอยระหว่างทาง พลางทอดสายตามองไปยังทิวเขาและหมู่บ้านน้อยใหญ่ที่ครั้งหนึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงอันเกรียงไกร
โดยส่วนตัว ฉันยังไม่เคยขึ้นไปเบียดเสียดกับผู้คนบนกำแพงเมืองจีน เลยไม่สามารถเปรียบเทียบความยิ่งใหญ่อลังการของปราการแห่งรัฐทั้ง 2 แห่งนี้ได้ แต่ฉันก็ได้ใกล้ชิดกับร่องรอยแห่งอดีตไปอีกขั้นได้จินตนาการถึงกาลครั้งหนึ่งเมื่อหลายร้อยปีที่แล้ว บนแนวกำแพงที่ทอดยาวไปตามสันเขาแห่งนี้ คงมีทหารคอยประจำการปกปักรักษาบ้านเมือง พิทักษ์ชาวบ้านให้สามารถทำมาหากินอย่างสงบสุขสบายใจโดยที่รอบตัวของฉัน ณ ขณะนี้ ได้ยินเพียงเสียงนก เสียงแตรรถ และสรรพเสียงของบ้านเมืองยุคใหม่แว่วอยู่ไกลๆ
การได้แอบไปเที่ยวหลังบ้านของหนึ่งในเมืองที่จ้อกแจ้กจอแจที่สุดในโลก มันสงบสุขต่อใจแบบนี้นี่เอง