×

Very Good Morning ที่บ้านมณีพฤกษ์ ถิ่นกาแฟเกอิชากิโลกรัมละ 8,000 บาท

วีรวัฒน์ อัจจุตมานัส | Writer | 19 February 2021

บ้านมณีพฤกษ์ อดีตพื้นที่สีแดงในจังหวัดน่าน แต่ปัจจุบันคือแหล่งท่องเที่ยวที่มีดอยผาผึ้งยอดเขาสูงจากระดับน้ำทะเล 1,600 เมตรจากระดับน้ำทะเลเป็นไฮไลต์ ในขณะเดียวกันก็เป็นแหล่งปลูกกาแฟล้ำค่าหายากอย่างกาแฟเกอิชาสร้างรายได้ระดับที่เราได้ยินต้องร้องว้าว! เลยทีเดียว



ทริปการเดินทางสู่หมู่บ้านมณีพฤกษ์ของผมทำให้นึกถึงคำว่า Serendipity หรือความบังเอิญที่แสนดี เพราะมันเริ่มต้นจากการเห็นเพื่อนขึ้นไอจีรูปดอยผาผึ้งและเช็คอินที่หมู่บ้านนี้ ขณะที่ผมกำลังอยากหาที่พักอีกสักคืนที่น่านหลังจากวางแผนเที่ยวสะปันเรียบร้อยแล้ว เสิร์ชข้อมูลไปมาเลยได้รู้ว่าที่นี่คือแหล่งปลูกกาแฟเกอิชาที่คอกาแฟขนานนามว่าเป็น ‘นางฟ้ากาแฟ’ ระดับรางวัล ซึ่งมันทำให้หมู่บ้านมณีพฤกษ์น่าทำความรู้จักมากขึ้นไปอีก



บ้านมณีพฤกษ์อยู่ที่ไหน? กาแฟเกอิชาดียังไง? ก็ยังไม่ค่อยรู้ แต่มือก็เสิร์ชหาวิธีจองที่พักในหมู่บ้านไปเรียบร้อยแล้ว โดยได้เบอร์คุณกล้วยหัวหน้าชุมชนจากเฟซบุ๊คกลางของหมู่บ้าน  ซึ่งเขาก็ได้ส่งต่อไปให้คุณพิ้งค์ที่เป็นภรรยาดูแลจัดการเรื่องที่พักและอาหาร โดยที่นี่จะเป็นที่พักแบบโฮมสเตย์ นอนค้างคืนกับชาวบ้านที่มีผู้ร่วมโครงการประมาณ  7 หลัง แต่ครั้งนี้ผมไปกรุ๊ปใหญ่เลยได้เข้าพักที่บ้านกระท่อมหลังเล็กที่ออกมาจากหมู่บ้านอีกทีหนึ่ง 



การเดินทางไปหมู่บ้านบ้านมณีพฤกษ์จะว่าง่ายก็ง่ายเพราะถนนลาดยางตลอดเส้นทาง แต่จะว่ายากก็ยากเพราะอยู่สูงเหนือระดับน้ำทะเลถึง 1,400 เมตร เรื่องความคดโค้งของเส้นทางก็ไม่น้อยหน้าเส้นทางไปอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอนเลยทีเดียว

อดีตพื้นที่สีแดง และที่มาของชื่อมณีพฤกษ์​ 


ตอนแรกที่ได้ยินชื่อบ้านมณีพฤกษ์ ผมแอบคิดว่าเขาคงเห็นว่ากาแฟมีค่าแบบอัญมณีแล้วมาอยู่ในป่าเลยตั้งชื่อหมู่บ้านแบบนี้ แต่ความจริงก็คือเมื่อก่อนบ้านมณีพฤกษ์มีชื่อว่าฉงผ้า มีชาวม้งอพยพจากประเทศจีนมาตั้งรกรากจนกระทั่งมีนายทหารชื่อ พ.ท.อนัน พฤกษ์ และนายตำรวจชื่อมณี มาปราบคอมมิวนิสต์จึงใช้ชื่อของนายตำรวจและนามสกุลของนายทหารทั้งสองท่านมารวมกันเป็นชื่อหมู่บ้าน ‘มณีพฤกษ์’ ตั้งแต่ปี 2527 โดยปลูกขิงและกะหล่ำปลีเป็นหลัก แต่ก็ต้องบุกรุกถางป่า ซึ่งพื้นที่ของหมู่บ้านก็เป็นแหล่งต้นน้ำทำให้มีการริเริ่มให้ชาวบ้านปลูกกาแฟเพราะเป็นไม้ที่ต้องการร่มเงา จึงไม่ต้องตัดต้นไม้ใหญ่ และกาแฟของบ้านมณีพฤกษ์ก็เป็นกาแฟออแกนิคทำให้ไม่มีสารเคมีปนเปื้อนไปสู่แม่น้ำลำธารสู่คนพื้นราบด้วย ปัจจุบันที่นี่มีทั้งชาวม้งและชาวลัวะอาศัยอยู่ ซึ่งถ้าหากไม่พักโฮมสเตย์ยังมีทางเลือกเป็นลานกางเต้นท์ชื่อน่ารักๆ ทั้ง ลานกางเต้นท์เดอม้งวิว และลานกางเต้นท์ลัวะพาเลาะ



และแล้วก็มาถึงกระท่อมที่พัก ความจริงแล้วมีชื่อเรียกว่าบ้านสวนเกชาอยู่บนสวนกาแฟของชาวบ้านอีกทีสนนราคาอยู่ที่คนละ 500 ต่อคืนแลกกับวิวระดับร้อยล้าน แค่เดินจากหน้าบ้านก็เห็นทะเลหมอกตอนเช้า มีต้นกาแฟปลูกอยู่รอบๆ กระท่อม ผมอดไม่ได้ที่จะถามคุณพิ้งค์ว่าต้นไหนคือกาแฟเกอิชา


 

“ตรงนี้มีต้นเดียวตรงนั้นค่ะ” เธอชี้ไปที่หลังบ้าน ความรู้สึกของผมคือมันเป็นต้นกาแฟที่ขี้เหร่มาก ในขณะที่ต้นอื่นๆ มีใบหนาสีเขียวเข้ม เมล็ดแน่นเต็มก้าน แต่ต้นกาแฟเกอิชามีใบบางเบา และเมล็ดก็โหว่แหว่งอยู่ห่างๆ กัน

“เกอิชาจะเป็นแบบนี้ ให้ผลผลิตน้อย มันก็เลยแพง บางคนจองกันข้ามปีเลย”

“กิโลละเท่าไรครับ” ผมถาม

“ 8,000 บาทค่ะ” โอ้โห...รู้ว่ากาแฟดีแต่ไม่คิดว่าจะแพงขนาดนี้ ผมรีบออดอ้อนขอลองชิมในเช้าวันพรุ่งนี้ เธอไม่รับปากเพราะผลผลิตมีน้อยต้องกลับไปค้นที่บ้านว่าพอจะมีเหลือหรือเปล่า

แสงเช้าสวยประหารที่ดอยผาผึ้ง

 



“ดอยผาผึ้งทะเลหมอกน้อยนะครับ ที่หน้าบ้านมีเยอะกว่า” คนขับรถรีบบอกเมื่อได้ยินผมพูดถึงทะเลหมอกปังๆ ที่คาดว่าจะได้เห็นที่ดอยผาผึ้ง ทำให้แอบผิดหวังเล็กน้อยที่ต้องรีบตื่นตั้งแต่ตี 5 ยืนขโยกเขยกหลังรถกระบะที่วิ่งบนทางลูกรังขึ้นภูเขามากว่าจะถึงตีนดอย แต่เมื่อขึ้นไปถึงด้านบน ผมกลับดีใจเพราะมันสวยกว่าที่คิดไว้มากๆ

ดอยผาผึ้งเป็นภูเขาหินปูนสูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 1,600 เมตร เมื่อก่อนอุดมไปด้วยรังผึ้งเลยได้ชื่อผาผึ้งมา พอมองออกไปจะเห็นภูเขาสลับซับซ้อนของประเทศลาว ด้านข้างมีสันเขาให้เดินไปถ่ายรูปบนอีกส่วนของยอดดอย ไฮไลต์ของที่นี่ต้องยกให้แสงเช้าเมื่อพระอาทิตย์ขึ้นจะเป็นแสงสีเหลืองทองอร่าม และด้วยอุณหภูมิแสงระดับไม่เกิน 25 องศาแบบนี้ ภาพถ่ายบนดอยผาผึ้งก็ไม่ต่างจากการถ่ายภาพทุ่งหญ้าบนยอดเขาในต่างประเทศเลยทีเดียว สำหรับอินสตราแกรมเมอร์ใจกล้าก็อาจจะเลือกห้อยขาที่ริมผา แต่สำหรับผมไม่ดีกว่า เพราะหน้าผานี้ชันระดับ 90 องศา ขอเก็บชีวิตตัวเองไว้ไปกินกาแฟเกอิชาก่อนดีกว่า


กาแฟเกอิชา นางฟ้ากาแฟราคาแสนแพง



ในแพ็คเก็จที่พักของคุณกล้วยรวมอาหารเช้ากับกาแฟดริปเอาไว้ด้วย (แต่ไม่ใช่กาแฟเกอิชานะครับ) ซึ่งต้องไปทานที่ร้าน Kluay Hidden Cafe ในหมู่บ้าน  ซึ่งเป็นร้านกาแฟของคุณกล้วยนั่นแหละ อาหารเช้าก็เป็นเมนูง่ายๆ อย่างข้าวต้ม โดยระหว่างที่ทานอาหารเช้า คุณพิ้งค์ก็สาธิตการดริปกาแฟ และชงชาดอกกาแฟให้ชิมไปด้วย



ความจริงต้นกาแฟทำประโยชน์ได้หลายอย่าง ก่อนหน้านี้ผมเคยกินใบอ่อนกาแฟทอดกรอบมาแล้วที่ ชุมชนบ้านห้วยมะเกลี้ยงในเชียงใหม่ รสชาติอร่อยดี มีคาเฟอีนอ่อนๆ ด้วย แต่ชาดอกกาแฟนี่เพิ่งเคยลองที่นี่ มีกลิ่นหอมอ่อนๆ อารมณ์ชาผลไม้อะไรแบบนั้น ยิ่งดื่มหลังจากดื่มกาแฟจะได้รสหวานชุ่มคอ


 

ผมทวงถามถึงกาแฟเกอิชาที่อยากชิม คุณพิ้งค์เดินไปหยิบถุงซึ่งมีเมล็ดกาแฟอยู่แค่ 1 กำมือออกมา

“นี่เป็นล๊อตสุดท้ายของผลผลิตในปี 2563 แล้วค่ะ” เธอบอก ถือเป็นโชคดีของผม (ผมเดินทางไปช่วงเดือนธันวาคม 2563) เพราะคนที่เดินทางไปเที่ยวที่นี่หลังจากนี้ก็อาจจะไม่มีโอกาสได้ชิม (แต่พอมีความหวังอ่านได้ที่ Travel Info )

กาแฟเกอิชาหรือกาแฟเกชาเป็นกาแฟสายพันธุ์อราบิก้า ได้ชื่อมาจากแหล่งกำเนิดคือชื่อหมู่บ้านในเอธิโอเปีย (ไม่ใช่ญี่ปุ่นอย่างที่คิด) ก่อนกระจายตัวไปสู่อเมริกากลางและมีชื่อเสียงจากสวนกาแฟในปานามาช่วงยุค 1960  เลยทำให้มีคนสับสนว่ากาแฟเกอิชาเป็นกาแฟปานามา

รสชาติของกาแฟเกอิชาคือมีรสขมอมเปรี้ยว คล้ายส้มสายน้ำผึ้งและพืชตระกูลซีตรัส มีกลิ่นหอมอ่อนๆคล้ายดอกมะลิ สำหรับคนที่ชอบกาแฟรสเข้มก็อาจจะไม่ถูกปาก เพราะกาแฟเกอิชานิยมคั่วอ่อนเพื่อจะได้ไม่เสียรสชาติที่แท้จริงของกาแฟ



นอกจากจะมีกาแฟให้ดื่มทางคุณพิ้งค์และคุณกล้วยยังทำแบรนด์กาแฟของตัวเองร่วมกับลูกพี่ลูกน้องในชื่อ Coffee de Mhong ให้ได้ซื้อติดไม่ติดมือกลับบ้านไปด้วย มีทั้งแบบคั่วอ่อน คั่วปานกลาง และคั่วเข้ม ทั้งสายพันธุ์จาวาและคาติมอร์ ส่วนเกอิชาต้อจองล่วงหน้า สามารถสั่งซื้อทางออนไลน์หน้าเพจ Coffee de Mhong ได้ มีบริการจัดส่ง

สำหรับผมประสบการณ์ 2 วัน 1 คืนที่บ้านมณีพฤกษ์เป็นสิ่งที่คุ้มค่าเพราะได้รู้ถึงวิถีชีวิตอันเรียบง่าย อากาศหนาวเย็นที่สัมผัสได้น้อยครั้งต่อปี วิวทิวทัศน์สวยๆ และเรื่องราวแสนเซอร์ไพรส์ ไม่ใช่สิ…ผมเรียกว่าโชค น่าจะดีกว่า

บ้านมณีพฤกษ์ ต.งอบ อ.ทุ่งช้าง เทศบาลเมืองน่าน จังหวัดน่าน



Travel Information

-ติดต่อห้องพักได้ที่ https://www.facebook.com/baanmaneepruek, https://www.facebook.com/coffeedehmong  หรือ คุณกล้วย โทร.063-562-6696

- สำหรับผู้ที่อยากลองดื่มกาแฟเกอิชาสามารถดื่มเป็นแก้วได้ที่ร้าน Coffe de Hmong ที่ด้านหน้าทางเข้าหมู่บ้าน ราคาชุดละ 300 บาท และมีกาแฟเกอิชาแบบถุง 100 กรัม ราคา 800 บาท แนะนำให้สอบถามทางร้านก่อน

-เครื่องทำน้ำอุ่นมีเฉพาะโฮมสเตย์บางหลังเท่านั้น 

-บริการรถนำเที่ยวขึ้นดอยผาผึ้งราคาเหมาคัน 10 คน 700 บาท เกินจากนั้นคนละ 100 บาท

-ทางโฮมสเตย์มีบริหารอาหารท้องถิ่นแบบขันโตกราคาชุดละ 500 บาท ทานได้ 5 ท่าน

- นอกจากดอยผาผึ้ง ยังมีถ้ำผาผึ้งและน้ำตกน้ำเปิน และตลาดม้งด้านหน้าร้าน Kluay Hidden Cafe

 

 




 

Tags: