×

“ยิ่งอายุสั้น ยิ่งต้องเที่ยว” บทเรียนจากไฟไหม้ในโอมาน เดินไม่ได้ 4 เดือน

ชนานันทน์ สุนทรนนท์ | Features Editor | 25 August 2018

เกือบ 20 ปีแล้วที่เรารู้จัก “นิ่ม-กรกฎ พัลลภรักษา” ในฐานะนักเดินทางรอบโลกผ่านบทความและเรื่องเล่าที่เธอเขียน พูดได้ว่ายุคที่ไกด์บุ๊กท่องเที่ยวเฟื่องฟู ชั้นหนังสือต้องมีชื่อเธอคนนี้ ผู้หญิงที่เชื่อว่าการเดินทางคือการเรียนรู้ แน่นอนว่าเธอยังสนุกกับงานเขียนที่มาพร้อมกับการเป็น “ผู้ดำเนินเดินทาง” รายการท่องเที่ยว Journal Journey รวมถึงเป็นผู้จัดการกองถ่ายและโปรดิวเซอร์สารคดีต่างประเทศอิสระที่ทำให้เธอได้ออกไปสูดอากาศ ออกไปดูโลกกว้าง รวมถึงเจอเหตุการณ์เกือบเอาชีวิตไม่รอดที่กลายมาเป็นบทเรียนชั้นดี


เกือบเอาชีวิตไม่รอดแต่ไม่เข็ด
ระหว่างไปทำรายการ Journal Journey ที่เมืองมัสกัต ประเทศโอมาน ขณะที่กำลังกินอาหารที่ชั้นสองของร้าน ทันใดนั้นก็มีไฟไหม้ขึ้นมาจากชั้นหนึ่ง ร้านที่ไม่มีทางหนีไฟแถมหน้าต่างปิดแน่น สิ่งที่เธอคิดท่ามกลางความโกลาหลคือ ความพลาด ที่ไม่เคยเทรนเรื่องการเอาตัวรอดอย่างจริงจังทั้งที่เดินทางมาตลอดชีวิตไปพร้อมกับนึกถึงภาพพระเอกหนังแอ็กชั่นไล่มาตั้งแต่บรูซ วิลลิส, เมล กิบสัน, อาร์โนลด์ ชวาร์เซเนกเกอร์ ว่าพวกเขาจะเอาตัวรอดกันยังไง สิ่งที่เธอและเพื่อนร่วมทีมทำได้ในเวลานั้นคือ คลานต่ำเพื่อเข้าถึงออกซิเจน ที่ในที่สุดก่อนหายใจไม่ออกก็มีคนเปิดหน้าต่างช่วยทุกคนออกมานอกหน้าต่างได้ ก่อนจะพบว่าข้างร้านอาหารคือปั๊มน้ำมันที่เป็นเชื้อเพลิงอย่างดี (ไม่มีอะไรจะพีกไปกว่านี้อีกแล้ว!)

เธอบอกกับตัวเองว่าจะตายที่นี่ไม่ได้ แต่ยังลงจากชั้นด้านนอกหน้าต่างไม่ได้ ถ้ากระโดดลงไปก็ต้องมีส่วนใดส่วนหนึ่งหัก ถือเป็นทางรอดที่ต้องเสี่ยง ดีกว่าตกลงไปแบบไม่มีทิศทาง จังหวะนั้นมีคนเรียกให้เธอกระโดดแล้วเขาจะช่วยรับที่ด้านล่าง แต่ด้วยจังหวะที่ยากทำให้รับพลาด ส้นเท้าขวาเธอกระแทกกับพื้น ส้นเท้าแตก 9 ส่วน เดินไม่ได้นาน 4 เดือน แต่นั่นไม่ใช่อุปสรรคในการเดินทางทริปถัดไป

“มีคนถามว่าเข็ดไปเลยสิ เราว่าเข็ดอะไร ชีวิตยิ่งสั้นยิ่งต้องเดินทางหนักขึ้น จากเหตุการณ์นั้นยิ่งได้เห็นว่าชีวิตไม่มีสูตร คุณอาจไม่รอดระหว่างที่คุณกินข้าวอยู่ แต่คุณไปปีนเขากลับไม่เป็นไร ถามว่าอุบัติเหตุหยุดเราได้หรือเปล่า หยุดไม่ได้ แต่ทำให้เราระวังมากขึ้น ดูทางหนีไฟ หาวิธีเอาตัวรอดในหลายสถานการณ์ ส่วนเรื่องส้นเท้าแตกตอนนี้เรามีสกรูเหล็กที่เท้า ทำกายภาพ ได้ร่างกายคืนมาทั้งหมด 95 เปอร์เซ็นต์จาก 100 เปอร์เซ็นต์ มันสนุกไปอีกแบบที่ได้เรียนรู้ว่าฉันจะเดินยังไง (ยิ้ม)”
 



บอกได้ไหม ทำไมไปไหนก็สนุก
เธอเล่าแบบไม่มีพิธีรีตองว่า “เรามีนิสัยไม่ดีอย่างหนึ่งคือ ไปที่ไหนก็ชอบ กินอะไรก็อร่อย เหมือนอย่างที่หลายคนบอกนั่นละ แต่เพราะเราเลือกมากินแล้วมันถึงอร่อย เราเลือกเดินทางแล้วเราถึงชอบ มองว่ามันคือ Choice หาเรื่องที่ชอบได้ในทุกที่ที่ทุกคนบอกว่าไม่มีอะไร อย่างเช่นไปไซ่ง่อนก็สนุกเกินค่าตั๋วเครื่องบินแล้ว จะไม่สนุกได้ยังไงล่ะ อาหารก็ไม่เหมือนเดิม ถนนก็ไม่เหมือนเดิม แถมข้ามถนน หลับตาข้ามยังได้ เพราะถึงลืมตารถก็ไม่จอดให้คุณอยู่ดี (หัวเราะ) คืออยู่ที่ไหนเราจะสร้างความสุขให้ตัวเองได้ ถ้าเราตั้งใจ ฝึกสนุก ไม่มานั่งบ่นโรงแรม ไม่เปรียบเทียบ ลองมองให้เป็นเรื่องตลก มองว่าเราจะได้แสวงหาอะไรใหม่ในสิ่งที่เราเจอ”
 

จุดหมายปลายทางสไตล์คุณเป็นแบบไหน
นิ่ม-กรกฎไม่ตื่นเต้นกับเมืองและเทคโนโลยี ในขณะที่พร้อมจอดรถเมื่อเจอคนท้องถิ่นหรือพบทุ่งดอกไม้ ไม่เกี่ยงถ้าจะต้องลำบากอีกนิด หรือถ้าต้องอยู่ในสถานการณ์ที่ “เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม” ท่ามกลางคนต่างวัฒนธรรมยิ่ง “ใช่” พูดได้ว่านี่คือทางของเธอ “แค่เราเดินเข้าไปบ้านคนญี่ปุ่น ไม่ยอมใส่รองเท้าที่เขาเตรียมไว้ให้ แล้วถูกป้าเจ้าของเกสต์เฮาส์ตบขาให้ใส่รองเท้าก็เป็นเรื่องตื่นเต้นอีกอย่าง เพราะทำให้เราได้เรียนรู้ ได้ปรับตัว และต้องพยายาม ที่ที่เราชอบไปต้องเป็นที่ที่เราชอบทำการบ้าน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบวัฒนธรรมหรือความลำบาก เพราะความสบายทำให้เราขี้เกียจ ขอเที่ยวแบบไม่เน้นสบาย”
 

การเดินทางของความคิด                                                                                            
นอกจากอุบัติเหตุสุดตื่นเต้นยังมีอีกหลายทริปที่ทำให้ความคิดของเธอเปลี่ยน ที่อาจเป็นแค่การได้อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ หรือการได้ปฏิสัมพันธ์กับผู้คน
 



ลาดักห์...ธรรมชาติยิ่งใหญ่ไม่เคยเปลี่ยน
เธอเปรียบตัวเธอและนักเดินทางเหมือนอุกกาบาตที่การเดินทางจะช่วยขัดความหยาบให้เรียบและมีมิติ พร้อมกับเล่าถึงทริปลาดักห์ที่อยู่ทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย อีกหนึ่งทริปที่ขัดเกลาความคิดระหว่างการเดินทาง

“ตอนนั้นเราไปกับกลุ่มเพื่อนด้วยรถจี๊ป มันไม่มีอะไรเลยนะนอกจากภูเขาสีช็อกโกแลต ฟ้าสีฟ้าที่แบบบรรยายได้ว่าเป็นฟ้าลาดักห์เท่านั้น การได้ไปอยู่ท่ามกลางภูมิประเทศและธรรมชาติที่กว้างใหญ่ทำให้เราตัวเล็ก เหมือนเม็ดทรายเล็กๆ ไม่มีอะไรเลย ไม่มีภาระอยู่บนหัวไหล่ และทำให้เราอยู่ด้วยความสบายมากๆ แล้ววันหนึ่งถ้าเกิดธรรมชาติต้องการอะไร ธรรมชาติเองจะเป็นคนพยศ ธรรมชาติจะเป็นคนที่คัดกรอง”
 



เรื่องเล็กจากสองซีกโลก...สู่ความคิดแบบผสมสี
“อีกตัวอย่างในการเดินทางที่สอนและเสี้ยมเราคือตอนที่ไปเมืองจีน ที่ไม่ว่าเราจะทำอะไรจะมีเด็กมากุลีกุจอ เอาดอกไม้มาทัดหูให้ จะถือกระเป๋าให้ แต่ก็มาเก็บเงินเรา! คือเราอกหักมากนะ เราถูกความอินโนเซนส์หักอกอารมณ์รักของเรา มันทำให้เราระวังตัว ใครจะทำอะไรให้เราไม่เอา เพราะเดี๋ยวเขาคิดเงินอีก ไม่อยากเสียใจ จนกระทั่งไปสวิตเซอร์แลนด์ แล้วไปนั่งอยู่ในสวนแห่งหนึ่ง ระหว่างนั้นมีคุณลุงคนหนึ่งหน้าตาเป็นศิลปินมองหน้าเราแล้วเริ่มสเกตช์ พอวาดไปสักครึ่งทางเราก็ไปบอกเขาว่า You don’t need to do that! เพราะฉันไม่มีเงินจ่าย ได้ยินแบบนั้นแล้วเขาก็หัวเราะ บอกเราว่าไม่เป็นไร เขาแค่อยากวาดเก็บไว้ จนตอนนี้รูปที่เขาสเกตช์รูปนั้นก็ยังอยู่กับเรา มันก็ยากนะ ด้วยความที่เราเคยเจอความรู้สึกว่าจะมีคนโกงอยู่ตลอด ความคิดที่ว่าเราจะไม่ยอมเสียค่าโง่ฝังอยู่ในหัว สิ่งที่ได้เรียนรู้จากสองซีกโลกคือ เราต้องระวัง แต่ไม่ใช่โลกสีเดียวตลอด เราต้องผสมสีของเรา อ่านและปรับตัวไปตามสถานการณ์”
 


กรีซ...ที่ที่มีน้อย ยิ่งเป็นที่พิเศษ
เธอเลือกไปเยือนประเทศกรีซในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ เพื่อเรียนรู้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นและเพื่อพิสูจน์ว่าภาพที่ได้เห็นผ่านสื่อไม่ใช่ทุกอย่าง ก่อนจะพบว่าที่ที่ยิ่งมีเงินน้อยคนยิ่งพิเศษ เพราะคนยิ่งใจกว้าง เมื่อได้รู้จักและพูดคุยกับผู้คน

“สิ่งที่เราประทับใจคือความใจกว้างใจดีของคนที่นี่ รวมถึงคุณลุงอายุ 90 กว่าปีที่เป็นทั้งเจ้าของร้านกาแฟ ทำกาแฟเอง เสิร์ฟเอง จนเป็นที่สนใจของนักข่าวที่นั่น แต่ช่วงที่เราไปเป็นช่วงที่เขากระดูกหัก เดินไม่ไหว แต่ก็ยินดีนั่งเล่าเรื่องราวตั้งแต่สมัยทหารเติร์ก (ตุรกี) มาใช้สถานที่ตรงนี้เป็นฐานทัพ พาเราไปรู้จักแผ่นดินนั้นในหลายมิติผ่านกาแฟแก้วเดียว


กรุงเทพฯ...เป็นนักท่องเที่ยวในบ้านตัวเองก็สนุกได้
“เรื่องเที่ยวกรุงเทพฯ นี่ตลกมากเลยนะ เราอาจรู้จักกรุงเทพฯ น้อยกว่านักท่องเที่ยวที่อยู่คนละที่กับเราก็ได้ หลายครั้งที่เราพาชาวต่างชาติไปเที่ยวแล้วเจอเรื่องตื่นเต้น ทำให้เราเป็นนักท่องเที่ยวในบ้านของตัวเอง ได้ไปเห็นในสิ่งที่ไม่เคยเห็น ได้ไปอัปเดตสิ่งใหม่ๆ ซึ่งเราคิดว่าการสำรวจตัวเองเป็นเรื่องสำคัญ แล้วในระยะหลังเรื่องเที่ยวกรุงเทพฯ โดยเฉพาะเรื่องเที่ยวชุมชนเป็นเรื่องที่เราสนใจ อย่างการเข้าไปเที่ยวในชุมชนนางเลิ้ง ย่านตลาดน้อย ชุมชนบ้านบุ ชุมชนหัวตะเข้ ที่ทำให้ได้เที่ยวและเห็นหลายมิติของเมือง”
 

พื่อนเดินทางที่นิ่ม-กรกฎอยากชวน (และเป็นใครก็ได้)
“ครอบครัวของเราที่เขาไม่มีชีวิตอยู่แล้ว อยากพาคุณพ่อ อยากพาคุณยาย อยากพาลุง คืออยากพาคนในครอบครัวไปเดินทางด้วย เพราะเราอยากรู้ว่าในสิ่งที่เราชอบคือการเดินทาง และสิ่งที่รักคือครอบครัว เราคงจะเดินทางสนุกขึ้นนะ แต่ถึงแม้ตอนนี้เราก็ยังเดินทางกับพวกเขาอยู่นะ เราจะมีรูปลุง รูปคุณยายเดินทางไปกับเราด้วย มีสถานที่พิเศษที่เราจะมีไดอะล็อกกับเขา คือเพื่อนเดินทางหายากนะ เราว่าเพื่อนเดินทางที่ถูกใจคือที่อยู่ในใจ”



เรื่องอยากบอกคนที่ชอบการเดินทาง
นิ่มบอกกับเราว่า สำหรับทุกคนแล้วเธอไม่อยากให้การเดินทางเป็นยา ไม่อยากให้การเดินทางเป็นวิตามินที่ต้องเติม “สำหรับเราเราให้การเดินทางเป็นน้ำ ร่างกายต้องการตลอด โดยที่เราไม่จำเป็นต้องหาเวลาไปเติม นั่นแปลว่าอยู่ที่ไหนคุณก็เดินทางได้ ไม่ว่าจะออกเดินทางผ่านหนังสือที่อ่าน ออกไปเที่ยวชุมชนใกล้บ้าน เที่ยวต่างจังหวัด หรือเดินทางไกล เพราะสำหรับเราแล้วมันคือการปรุงชีวิตให้สดชื่น ทำให้ได้เจอเรื่องสนใจ แล้วในวันที่ไม่ว่าคุณจะเจอเรื่องไหน ก็จะมีเรื่องนี้แหละที่ทำให้ได้ปล่อยใจไปกับมัน”


ขอบคุณ: ร้านอาหาร Sonny’s สี่พระยา บางรัก 
เฟซบุ๊ก: Sonny’s 
โทร. 08-6516-2965