×

Humans of Phuket Old Town : "เมืองเก่าภูเก็ต" ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว

ชนานันทน์ สุนทรนนท์ | Features Editor | 29 August 2018

ไปภูเก็ตเมืองเก่าต้องมีเรื่องเล่ากลับมาเสมอ ทั้งเรื่องคัลเจอร์และบทสนทนากับคนใจดีที่นี่ ว่ากันตั้งแต่เรื่องอาหารเช้าที่กิน 7 วันได้ไม่ซ้ำ อาชีพที่ทำ อนาคตที่อยากเห็น ความสุขที่ชวนให้คิดถึงอดีต ไปจนถึงเรื่องเศรษฐกิจชุมชนที่ยั่งยืน



แอน-วาทินี และไข่-วีรวัฒน์ งามเรียบ
คู่รักเจ้าของร้านกาแฟแห่งซอยรมณีย์

ด้วยทำเลเมืองเก่าที่ถือเป็นย่านต้อนรับแขกเมือง อาคารพาณิชย์หลังนี้จึงเหมาะที่จะถูกดัดแปลงให้เป็นเกสต์เฮาส์สำหรับต้อนรับเหล่านักท่องเที่ยว จนช่วงปลายปี 2560 ทั้งคุณแอนและคุณไข่ก็เกิดไอเดียในการปรับพื้นที่ชั้นล่างของที่นี่ให้กลายเป็น Dou Brew Coffee & Craft เอาใจนักท่องเที่ยวและคนที่ชื่นชอบในกาแฟ สำหรับความชอบกาแฟนี้เริ่มต้นจากคุณไข่ที่หลงใหลการจิบกาแฟ และศึกษาเรื่องนี้มาสองปีแล้ว จนพร้อมที่จะเปิดบริการ กลายเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์กที่ต้องแวะในซอยรมณีย์

เมื่อถามถึงมุมมองต่อเมืองเก่าภูเก็ตที่ถึงวลาจะเปลี่ยนไป ทั้งคู่เห็นตรงกันว่าเมืองนี้ยังคงน่ารัก ทั้งตัวอาคารที่ได้รับการอนุรักษ์ อาหารการกิน ไปจนถึงนิสัยใจคอของคนภูเก็ตเอง ในเวลาเดียวกันทั้งคู่ยังภูมิใจในการได้ทำธุรกิจที่สนับสนุนการท่องเที่ยว แถมยังได้เสิร์ฟกาแฟหอมๆ รสชาติดีให้กับคนรักกาแฟ
 



โกคาร์ล-สมยศ ปาทาน
คนเมืองเก่าสู่นักพัฒนาย่านเมืองเก่าภูเก็ต

“คุณพ่อเป็นอีกหนึ่งคนที่อพยพมาเหมือนคนจีน เป็นชาวปากีสถาน แล้วก็มาตั้งรกรากในภูเก็ต” นั่นเป็นที่มาของชื่อคาร์ลในภาษาปากีสถาน ส่วนคำว่า “โก” หมายความว่าพี่ในภาษาจีน โกคาร์ลเป็นชาวภูเก็ตโดยกำเนิด จบด้านโรงแรมจากมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีชื่อเสียง ทำงานโรงแรมในเชียงใหม่ เปิดร้านอาหารที่กรุงเทพฯ ก่อนกลับมาช่วยธุรกิจครอบครัวท่ามกลางตึกทรุดโทรมของภูเก็ตในเวลานั้น จนเกิดความคิด “ต้องทำอะไรสักอย่าง ทำไมไม่พัฒนาบ้านของฉันเอง” 

ไม่ใช่แค่คิด เขาเป็นกำลังสำคัญในโครงการอนุรักษ์ตึกเก่า ติดไฟริมถนน นำสายไฟลงดิน ทำฟุตปาธ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ผู้บริหารเทศกาลนครเมืองภูเก็ตที่จ้างให้เกิดการศึกษางานวิจัยจากประเทศญี่ปุ่นและเยอรมนีเพื่อฟื้นฟูเมืองเก่า เขาก่อตั้งชุมชนท่องเที่ยวพร้อมขายแพ็กเกจที่นักท่องเที่ยวจะได้กินอาหารท้องถิ่น ดูสถาปัตยกรรม รวมถึงได้เจอน้อง “แอนนี่” นักดนตรีพรสวรรค์ลูกหลานชาวภูเก็ตบรรเลงกู่เจิงต้อนรับ เกิดเป็นรายได้ที่นำไปพัฒนาชุมชน โดยคิดอยู่ตลอดว่าต้องไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง และถ้าคุณยังอยู่ถึงวันอาทิตย์ เขาจะแนะนำถนนคนเดินที่มีคนเดินมากถึง 20,000 คน ถนนคนเดินแห่งเดียวในไทยที่บริหารจัดการในชุมชนกันเอง ไม่ต้องตั้งงบประมาณจากภาครัฐ ปัจจุบันโกคาร์ลเป็นรองประธานชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต รองประธานสภาวัฒนธรรมตำบลตลาดใหญ่ และเลขานุการเครือข่ายท่องเที่ยวชุมชนจังหวัดภูเก็ต
 



แอนนี่-อธิษฐ์รดา จันทร์ชูวณิชกุล
นักดนตรีกู่เจิงลูกหลานชาวภูเก็ตผู้พิการทางสายตาคนเดียวในประเทศไทย

ไพเราะ สวยงาม และพลิ้วไหว คือคำอธิบายการแสดงกู่เจิงของแอนนี่ หรือ “นางฟ้ากู่เจิง” หญิงสาวที่มีทัศนคติยอดเยี่ยม ความจริงแล้วเธอมองเห็นเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ตั้งแต่กำเนิด คุณพ่อผู้มีวิสัยทัศน์สนับสนุนให้เธอเล่นดนตรีหลายชนิดจนแอนนี่มาพบกู่เจิง และหมั่นฝึกฝนเครื่องดนตรีจีนปราบเซียนชนิดนี้ที่มีถึง 21 สาย “เป็นเครื่องดนตรีที่เราเคยเห็นตั้งแต่เด็กเพราะอากงอาม่าเคยเปิดในหนังจีนค่ะ และได้เห็นฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ทรงกู่เจิง ทำให้เราสนใจ ปาป๊าไปเมืองจีนก็ซื้อกลับมาให้เล่น ให้ฝึก และได้เป็นนักดนตรีมหาวิทยาลัย ช่วงทำงานที่กรุงเทพฯ (ทรู สยามพารากอน) ก็หาวันหยุดไปเรียนเพิ่ม ก่อนอาการทรุดและตัดสินใจกลับภูเก็ต” 

ที่ภูเก็ต ทีมอีเวนต์ตรุษจีนตามหาคนที่เล่นกู่เจิงได้ เป็นจังหวะให้เธอได้โชว์ฝีมือ และได้รับเสียงเชียร์ให้ทำเป็นอาชีพ “แอนเริ่มเล่นเปิดหมวกบนถนนคนเดิน จนทางชุมชนเห็นความสามารถชวนมาทำงานเล่นดนตรีต้อนรับนักท่องเที่ยว กลายเป็นความภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งจริงๆ ภูเก็ตเป็นเมืองที่เราภูมิใจมาตั้งแต่เด็กว่าไม่ได้มีแค่ทะเลนะ แต่ยังมีของอร่อย อาหารเช้า 7 วันไม่ซ้ำ มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีตึกสวยน่ารักอย่างที่หาไม่ใด้ที่อื่น ส่วนสิ่งที่อยากให้มีในอนาคต อยากให้ภูเก็ตมีสาธารณูปโภค มีการเดินทางที่สะดวกสำหรับนักท่องเที่ยว รวมถึงผู้พิการเอง ที่จะทำให้คนเข้าถึงภูเก็ตง่ายขึ้นค่ะ (ยิ้ม)”
 



น้อง-เริงเกียรติ หงษ์หยก 
เจ้าของ i46 บ้านอาคารพาณิชย์โบราณย้อนอดีตภูเก็ต

การเปิด i46 บ้านโบราณให้นักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมและมีประสบการณ์ร่วมอย่างการได้จิบชาทำให้คุณน้อง-เริงเกียรติ หงษ์หยก คนภูเก็ตแท้ๆ ได้รู้จักภูเก็ตและตัวเองมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยคิด เขาเป็นทายาทรุ่นที่ 5 ของบรรพบุรุษเจ้าของบ้าน “ขุนนิเทศจีนารักษ์” เกิด โต และอินเลิฟก็ที่เมืองเก่าภูเก็ต คุณน้องเล่าว่าเคยอยากเรียนอักษรศาสตร์แต่จังหวะไม่อำนวย เลยใช้เวลาศึกษาจนได้เป็นมัคคุเทศก์ภาษาญี่ปุ่น หาโอกาสอบรมกับบริษัทญี่ปุ่นด้วยตัวเอง ทำงานเป็นไกด์ญี่ปุ่นราว 17 ปีก่อนแต่งงานกลับมาดูแลธุรกิจที่บ้าน และเปิดบ้าน i46 ในปัจจุบัน “บ้าน i46 ถือเป็นความภูมิใจ เหมือนกับเราได้เป็นตัวแทนของภูเก็ตเมืองเก่าที่มีเวลาเล่าเรื่อง ที่จริงๆ คนอื่นเขาก็ไม่ได้ละเลย แต่แค่เขาไม่มีเวลาครับ และเป็นโชคดีที่ได้รับหน้าที่นี้ในการสืบสานในการดูแลบ้าน เมื่อได้มาทำตรงนี้ผมก็ได้ค้นคว้า ได้เปิดดูรูปในกล่องแคร็กเกอร์เก่าๆ และได้ศึกษาประวัติ รากเหง้าของครอบครัวที่เราอาจละเลย”

หากพูดถึงเมืองเก่าภูเก็ต คุณน้องบอกเราว่ามีความทรงจำที่ดีมาก “ผมนึกถึงการได้ใช้เวลากับครอบครัวในสมัยก่อน หรือสมัยนี้ที่เราสามารถใช้เวลาแค่สิบนาทีพาครอบครัว พาคุณแม่ไปออกกำลังกายริมทะเลที่สวนสาธารณสะพานหิน ผมนึกถึงครั้งได้ไปดูสุริยา ชินพันธ์ุ, สายัณห์ สัญญา หรือได้จับมือพี่เบิร์ด-ธงชัยที่โรงหนังเพิร์ล (ปัจจุบันคือภูเก็ต ทริกอาย มิวเซียม) ไปโรงหนังสยาม (ตอนนี้ไม่มีแล้ว) ที่มีไฮไลต์เป็นเสียงพากย์ภาษาปักษ์ใต้โดยคุณเสริมศักดิ์ ละอองดาว ที่ถ้าคนดูถูกใจก็โห่สนุกกันทั้งโรง รวมถึงเจอภรรยาก็ที่ภูเก็ต แต่ถ้าถามว่าอยากเห็นอะไรในอนาคต เราคงปฏิเสธไม่ได้เรื่องความเปลี่ยนแปลง ก็อยากเห็นว่าจะมีความเก่าที่บูรณาการแล้วที่ดีกับลูกหลานที่เขาอยากกลับมาช่วยกัน แต่ยังคงเสน่ห์ของภูเก็ตโอลด์ทาวน์”
 



หนูนา-กาญจนา รักมิตร
เจ้าของร้านเช่าชุดท้องถิ่นสไตล์ย่าหยา

ตลอดสิบปีที่ผ่านมาผู้หญิงคนนี้ผ่านมาหลายเวทีการประกวด ทั้งงานจังหวัดและกองละครหลายเรื่อง นั่นเพราะเธอเปิดร้านเช่าชุดเครื่องนุ่งห่มแบบย่าหยาในวัฒนธรรมบาบ๋า ที่มาแล้วจะรู้ว่าร้านนี้ไม่ได้มีแค่ชุด แต่จะได้ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมการแต่งกายไปด้วย และยังมีคนช่วยจับคู่เรื่องแบบ สีที่ต้องแมตช์ เครื่องประดับที่ลงตัว “ถ้าอยากใส่ถ่ายรูปเล่นแบบสบายๆ ก็ได้ เพียงแค่ว่าแต่ละชุดต้องแต่งให้ตรงตามรูปแบบที่สวยงาม ตามที่เราได้ศึกษา และข้อมูลที่ผู้ใหญ่ให้ความรู้มาค่ะ” คุณหนูนาบอกเรา 

เธอเติบโตมากับเรื่องความสวยความงามตั้งแต่เด็ก ที่แยกมาจากต้นตระกูลที่ค้าขายเนื้อสัตว์ในธุรกิจอาหาร “ที่บ้านขายพวกจิวเวลรีเพชรซีกโบราณค่ะ เริ่มแรกเลยคุณแม่ทำอยู่ก่อน ตอนนี้ก็ทำร่วมกับท่าน ส่วนที่เรามาทำเช่าชุดเปิดบ้านชินประชาก็อยากให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชม ได้เช่าชุดใส่กัน หรือบางทีใครจะไปออกงานรับโล่รับรางวัลเราก็ดีใจที่เขาแวะมาหาเรา ส่วนตัวภูมิใจมากเลยที่เราเป็นคนเล็กๆ ที่ได้ส่งต่อความรู้ ได้เผยแพร่วัฒนธรรมความเป็นอยู่ของคนภูเก็ตในวิธีที่เราถนัด ภูมิใจเวลาเราบอกว่ามาจากภูเก็ตแล้วคนรู้สึก 'ว้าว' ส่วนภูเก็ตในอนาคตที่อยากเห็นจริงๆ แล้วก็อยากให้ภูเก็ตเป็นเมืองวัฒนธรรมที่มีเสน่ห์เหมือนเดิม อยากให้เจริญ แต่รักษาวัฒนธรรมของเราเอาไว้แบบนี้ และอยากเห็นคนรุ่นใหม่มาช่วยกันสานต่อเรื่องวัฒนธรรมประเพณี อันนี้ไม่ได้ตอบแบบนางงามนะ (หัวเราะ)”
 



ฟิล์ม-จอมนาง คงรัตน์ (ซ้าย), ปอนด์-จักรณรงค์ ภักตรามุกข์ (ขวา) และหยุ๋น-ปัญญ์ชิตา ประสมทรัพย์ (กลาง)
เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ในภูเก็ต

ระหว่างเดินชมพิพิธภัณฑ์เพอรานากันนิทัศน์ภูเก็ตที่สี่แยกธนาคารชาร์เตอร์ (ถนนพังงาตัดถนนเทพกระษัตรี) หากจังหวะดีคุณอาจจะได้พบฟิล์ม-จอมนาง หัวหน้ามิวเซียม, ปอนด์-จักรณรงค์ เจ้าหน้าที่บริหารจัดการพื้นที่ และหยุ๋น-ปัญญ์ชิตา ผู้นำชมพิพิธภัณฑ์กำลังทำงานอย่างแข็งขัน ที่น่าสนใจคือทั้งสามคนไม่ใช่คนภูเก็ต แต่หลงรักภูเก็ตมากขึ้นเมื่อได้มาทำงานนี้

เริ่มต้นที่หยุ๋นหญิงสาววัย 26 ปีจากจังหวัดพังงา เธอเรียนที่ภูเก็ต มีบรรพบุรุษเป็นบาบ๋า หยุ๋นบอกเราว่าพังงาและที่นี่มีหลายสิ่งใกล้เคียงกัน แต่เมื่อลงลึกขึ้นในข้อมูลก็ทำให้ได้เรียนรู้เพิ่มขึ้นไปพร้อมนักท่องเที่ยว เปิดอีกโลกที่แตกต่างจากอาชีพเดิมคือนักโภชนาการ

สำหรับปอนด์เขาจบการศึกษาและสนใจเรื่องประวัติศาสตร์ โดยเริ่มจากสมัครงานที่เชียงใหม่ และไม่เคยนึกภาพการทำงานที่ภูเก็ต แต่ก็นับว่าโชคชะตานำพามาจากนครศรีธรรมราช ทำให้ได้ลงพื้นที่คลุกวงในเมืองเก่าอย่างเต็มตัว “การมาภูเก็ตเมืองเก่าเลยเหมือนยิ่งได้เปิดโลกในเมืองที่เต็มไปด้วยอาหาร ชื่อเพื่อนที่เราไม่เคยได้ยิน และเรื่องราวของผู้คน เราจะแอบดีใจทุกครั้งเวลาที่คนมาพิพิธภัณฑ์ร้อง 'อ๋อ' จากข้อมูล หรือพูดว่า 'เราน่าจะมาที่นี่ก่อนนะ' (ยิ้ม)” 

เช่นเดียวกับฟิล์มจากนครศรีธรรมราชที่ยิ่งได้เรียนรู้ยิ่งสนุกกับภูเก็ต “เราได้เห็นภูเก็ตในมุมใหม่ จากที่ผ่านมาเราเน้นเนื้อหาฝั่งอ่าวไทยมากกว่าอันดามัน จนได้มาเจอเรื่องเล่าท้องถิ่นเฉพาะหลายเรื่องของที่นี่ สามารถพัฒนาองค์ความรู้ได้อีกเยอะมาก โดยเฉพาะภูมิปัญญาท้องถิ่น ไปจนถึงความประทับใจที่เขามีความสามัคคี เหนียวแน่นในกลุ่มชน โดยเฉพาะชาวจีนฮกเกี้ยนที่รักพี่น้อง ไม่เคยพลาดงานบุญและงานส่วนรวม”