ธีรดา มูลศิริ | Editorial Manager | 03 October 2018
ก่อนอื่นต้องมาทำความเข้าใจก่อนว่า Villa Musee ไม่ใช่แค่ตัวตึกพิพิธภัณฑ์บ้านเรือนไทยหลังเดียวโดดๆ แต่ทั่วทั้งอาณาบริเวณแห่งนี้เป็นที่ตั้งของเรือนปั้นหยาชั้นเดียว เรือนปั้นหยาสองชั้น เรือนชิโน-โปรตุกีส เรือนไทยหมู่ เรือนไทยมอญ และเรือนไทยแฝด ซึ่งคุณโอ๊คได้ชะลอ (ชะลอ คือ การลากเลื่อนหรือเคลื่อนย้ายสิ่งของหนักๆ) มาจากหลายๆ พื้นที่ในประเทศไทย ทั้งกรุงเทพฯ สุพรรณบุรี ราชบุรี จนมารวมกันเป็นจำนวน 7 หลังในปัจจุบันที่เขาใหญ่
คุณโอ๊คเล่าเรื่องราวเบื้องหลัง Villa Musee ให้เราฟังว่า “ผมอยากให้ทุกคนที่เข้ามาใน Villa Musee รู้สึกว่าได้ย้อนกลับไปในช่วงประมาณรัชกาลที่ 4 ถึงต้นรัชกาลที่ 6 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยเราได้รับการเปลี่ยนแปลง รับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามา แต่เราก็ยังมีความเป็นไทยอยู่ เป็นขนบไทย เป็นประเพณีไทย เพราะของสะสมส่วนใหญ่ของผมเองก็เป็นของจากยุคนั้น”
“ผมอยากให้คนที่เข้ามาได้สัมผัสกับกลิ่นอายอดีต การอาศัยของคนสมัยนั้นในหน้าตาของบ้านที่เป็นลักษณะแบบนี้ เพราะหลายบ้านที่ผมชะลอมาก็พยายามสร้างให้มีลักษณะเหมือนเดิมทุกประการ คือย้ายมาก็เพื่อเอามาประกอบให้เหมือนเดิมครับ ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายเพราะว่ายากกว่าการสร้างใหม่”
เรือนที่เราสามารถเข้าชมได้มีทั้งหมด 3 เรือน เราแนะนำให้เริ่มจาก “เรือนประเสนชิต” เรือนไม้สักทองทรงปั้นหยาสีเขียวไข่กาที่คุณโอ๊คจำลองบรรยากาศให้เป็นดั่งเรือนขุนนางหนุ่มโสดที่เพิ่งเรียนจบจากเมืองนอกเมืองนาแล้วกลับมารับราชการที่บ้านเกิด
ในเรือนประเสนชิตนี้จะมีทั้งห้องนั่งเล่น ห้องนอน ห้องน้ำ ห้องทำงาน ซึ่งของทุกชิ้นในบ้านหรือแม้กระทั่งตัวบ้านเองก็เป็นของสะสมของคุณโอ๊คทั้งนั้น สิ่งที่เราสนใจเป็นพิเศษคือบรรดาภาพถ่ายเก่าที่จัดแสดงอยู่ จึงอดสงสัยไม่ได้ว่าคุณโอ๊คไปเสาะหาภาพเหล่านี้มาได้อย่างไร
“พวกเอกสารและภาพถ่ายโบราณของไทยส่วนใหญ่ไปตกค้างอยู่ที่ยุโรป เพราะในสมัยรัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 ประเทศเราได้ส่งคณะราชทูตออกไป หรือแม้กระทั่งเวลาที่พระราชอาคันตุกะมาเยี่ยมเยือนต่างก็มักให้ภาพถ่ายโบราณเป็นของขวัญแก่กัน แล้วภาพเหล่านี้ก็ไปอยู่ที่ยุโรป พอวันดีคืนดีลูกหลานไม่เอา ส่งประมูลไปบ้างอะไรบ้าง ตัวเรามีเพื่อนในวงการประมูลอยู่บ้างเขาก็ส่งข่าวมาบอก ความจริงแล้วของเหล่านี้ราคาไม่ถูกเลยนะ เพราะเป็นของที่คนต่างชาติสะสม ไม่ใช่ของที่คนไทยสะสม หลายครั้งเลยที่ฝรั่งประมูลได้แต่คนไทยไม่ได้”
เรือนต่อมาคือเรือนไทยมอญที่ชะลอมาเป๊ะๆ ทั้งตัวบ้าน บรรยากาศ และความเชื่อ เห็นได้ชัดจาก “เขามอ” ด้านหน้าเรือนที่เป็นตัวแทนของการออกไปสัมผัสผืนป่าผืนเขา เพราะคนมอญสมัยก่อนโดนกักอยู่ในบ้าน ไม่ได้มีโอกาสไปเที่ยวมากนัก
“คือตอนรื้อนี่ก็ยากแล้ว เพราะเราต้องถ่ายรูป มาร์กจุดไว้ทุกอย่างว่าไม้ชิ้นนี้อยู่ตรงไหนอะไรยังไง ตอนแกะก็ต้องใช้ช่างที่ชำนาญการเรื่องงานไม้ เพราะว่าแกะไม่ดีมีสิทธิ์หักเยอะ แล้วจริงๆ บ้านเก่าพวกนี้ รื้อจริงๆ นี่อาจเอามาใช้ได้ประมาณสัก 70% เพราะว่าหลายๆ อย่างมันกรอบหมดนะครับ อย่างคิ้วนี่ยิ่งบางยิ่งกรอบ แต่เราก็หาวัสดุทดแทนที่เหมือนเดิม แล้วช่างที่ประกอบก็ต้องเป็นช่างที่ถนัดงานพวกนี้ด้วย”
เรือนสุดท้ายที่เราเข้าชมได้ก็อยู่ข้างๆ กันนี่เลย “เรือนอนุรักษ์โกษา” อาคารสไตล์ชิโน-โปรตุกีสหลังนี้มาพร้อมกับบรรยากาศสุดคลาสสิก แน่นอนว่าเต็มไปด้วยของสะสมของคุณโอ๊คเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือชุดโต๊ะ-เก้าอี้สไตล์เปอรานากันอายุเหยียบร้อยปีสภาพดีเยี่ยม ซึ่งผู้เยี่ยมชมสามารถนั่งได้จริงๆ นอกจากนี้ยังมีศาสตราวุธจากยุคต่างๆ จัดแสดงด้วยเช่นกัน
“หลังนี้ผมพยายามทำให้เป็นสไตล์ชิโน-โปรตุกีส พวกเก้าอี้เปอรานากันก็มีอายุอย่างน้อย 80-100 ปี บันไดวนนี่มาจากอินเดีย หรืออย่างข้างนอก บานหน้าต่างเก่าทั้งหลายมาจากพม่า เอามาประกอบกันเอง คือก็สร้างตามใจเราเอง”
ความน่ารักของ Villa Musee ที่เราประทับใจสุดๆ คือเขาเสิร์ฟชุดน้ำชายามบ่ายมาพร้อมกับขนมไทยชิ้นเล็กพอดีคำ ไม่ว่าจะเป็นทองม้วน ทองหยิบ ทองหยอด หรือแม้กระทั่งขนมพระพายจากสมัยรัชกาลที่ 2 ให้เราได้กินร่วมกับการจิบชาร้อนๆ จากอินเดียอีกด้วย ที่สำคัญที่สุดคือทุกอย่างนี้รวมอยู่ในราคาเข้าชมเพียง 400 บาทเท่านั้นเอง
เพื่อนเดินทางขอส่งท้ายด้วยข้อคิดดีๆ จากคุณโอ๊ค “ผมภูมิใจใน Villa Musee และของสะสมทุกชิ้น อย่างน้อยผมก็สามารถส่งต่อให้คนไทยรุ่นหลังได้เห็น ไม่อย่างนั้นของเหล่านี้ก็จะอยู่ในโกดัง ผมก็ได้ดูแค่คนเดียว แน่นอนว่าทำเป็นโมเดลธุรกิจนั้นไม่มีทางคุ้มค่ากับเงินที่ลงทุนไปหรอกครับ แต่ว่ามันได้คุณค่าทางจิตใจ”
Villa Musee
111 หมู่ 2 ถ.ธนะรัชต์ จ.นครราชสีมา
เปิดวันศุกร์-อาทิตย์ ทั้งหมด 4 รอบ เวลา 09.00, 11.00, 14.00 และ 16.00 น.
*ต้องนัดหมายเข้าชมล่วงหน้า*
บัตรเข้าชมราคา 400 บาท (นักเรียน-นักศึกษา 100 บาท)
โทร. 0-2671-6611 หรือ 06-3225-1555
www.villamusee.com
ดลนภา รามอินทรา : ถ่ายภาพ