×

เที่ยวไปในประวัติศาสตร์และจุดดำน้ำที่ดีสุดของโลก

ปัญญา ลีลาสุนทรกุล | Features Editor | 25 October 2018





ถ้าพูดถึงการดำน้ำแล้วละก็ หลายคนย่อมนึกถึงการแหวกว่ายในทะเลลึก ได้เห็นปะการังสวยๆ ไหนจะหมู่ปลาและสัตว์ทะเลน้อยใหญ่ที่เคลื่อนตัวไปมาอย่างเป็นอิสระ แต่รู้ไหมว่าการดำน้ำเริ่มต้นมาจากตรงไหน แล้วพัฒนามาสู่การดำน้ำในปัจจุบันได้อย่างไร ถ้าอยากรู้ รีบสวมชุดและหน้ากากดำน้ำ แล้วดำดิ่งสู่บรรทัดถัดไปกันเลย 

ว่ากันว่าการดำน้ำเริ่มต้นมาจากการล่าสัตว์และการเก็บทรัพยากรที่มีคุณค่าใต้ทะเล เช่น ไข่มุก ปะการัง เป็นต้น เพื่อเป็นสินค้าส่งออกหรือเครื่องประดับตั้งแต่ยุคกรีกและโรมันโบราณกันเลย นอกจากนั้นมีหลักฐานว่าการดำน้ำเป็นกิจกรรมสันทนาการด้วยการใช้หินถ่วงนักดำน้ำให้ดำดิ่งลงไปใต้ท้องทะเล 
 

ทว่าอุปกรณ์ดำน้ำได้รับการพัฒนาอย่างเป็นจริงเป็นจังในช่วงศตวรรษที่ 16 และ 17 โดยหนึ่งในอุปกรณ์ดำน้ำยุคบุกเบิกที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุดคือ Diving Bell มีลักษณะเป็นห้องโลหะขนาดใหญ่ ภายในเป็นพื้นที่โล่งสำหรับให้นักสำรวจนั่งข้างในและบรรจุอากาศสำหรับหายใจ เมื่อต้องการสำรวจตรงไหนก็จะวางทั้งห้องลงไปในน้ำ เท่าที่มีการจดบันทึกพบว่า Guglielmo de Lorena ได้ใช้ Diving Bell สำรวจทะเลสาบ Nemi ในปี 1535 และ Franz Kessler ได้พัฒนา Diving Bell เวอร์ชันใหม่ขึ้นในปี 1616

ในช่วงเวลาเดียวกันยังมีการพัฒนาและประดิษฐ์หน้ากากดำน้ำจากโลหะ และชุดดำน้ำซึ่งมีน้ำหนักมากและเทอะทะมาก ช่วงเวลานั้นยังเป็นช่วงเดียวกับการเริ่มต้นพัฒนาเรือดำน้ำอย่างง่ายๆ ขึ้นมา ส่วนชุดดำน้ำที่เป็นที่ยอมรับและถูกใช้งานอย่างกว้างขวางคือ Standard Diving Dress โดยหมวกดำน้ำหรืออีกชื่อหนึ่งคือ Smoke Helmet นั้นทำมาจากทองเหลือง ทองแดง และสัมฤทธิ์ ส่วนหนึ่งของหมวกต่อท่ออากาศสำหรับปั๊มอากาศเข้าไป ส่วนชุดดำน้ำทำจากแคนวาส ติดตั้งมีดสำหรับใช้งานในน้ำ และมีการเสริมน้ำหนักที่อก หลัง และขา เพื่อสร้างสมดุลตอนดำดิ่งลงในน้ำลึก

ในปี 1865 นักประดิษฐ์ชาวฝรั่งเศส Benoit Rouquayrol และ Auguste Denayrouse ได้จดสิทธิบัตรถังเหล็กสำหรับอัดอากาศและแบกไว้ด้านหลังนักดำน้ำซึ่งเป็นอุปกรณ์สำหรับดำน้ำลึก ส่วนอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ที่สำคัญไม่แพ้กันคือ นักวิจัยสหรัฐอเมริกาผสมก๊าซฮีเลียมผสมออกซิเจนสำหรับบรรจุในเรือดำน้ำ เพื่อส่งคนลงไปดำน้ำลึกจนเป็นผลสำเร็จ 
 

จากจุดนั้นจึงกลายมาเป็นต้นแบบในการพัฒนาชุดดำน้ำ อุปกรณ์สำหรับหายใจ และถังใส่ออกซิเจนรุ่นต่อมาให้มีคุณสมบัติในแง่น้ำหนัก วัสดุ ความทนทานต่อแรงดันน้ำ และอีกหนึ่งในอุปกรณ์ดำน้ำที่ได้รับการพัฒนาไปพร้อมกันคือ “นาฬิกาดำน้ำ” เนื่องมาจากความจุออกซิเจนในถังมีปริมาณจำกัด นักดำน้ำจึงต้องคำนวณเวลาให้สัมพันธ์กับปริมาณออกซิเจนที่เหลืออยู่ เพื่อให้มีเวลามากพอกลับขึ้นสู่ผิวน้ำ

นาฬิกาข้อมือสำหรับดำน้ำจึงต้องเพียบพร้อมไปด้วยคุณสมบัติมากมาย สำคัญที่สุดคือกลไกต้องทนต่อแรงดันในน้ำลึกได้และยังสามารถบอกเวลาได้เที่ยงตรง รองลงมาคือระบบกันน้ำเข้า ซึ่งนักออกแบบต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการปิดผนึกนาฬิกาทุกจุดจนน้ำไม่สามารถเล็ดลอดเข้าไปได้ และอีกเทคโนโลยีที่ขาดไม่ได้คือ Helium Release Valve ซึ่งมีไว้ปกป้องนาฬิกาจากอนุภาคฮีเลียมที่มีขนาดเล็กซึ่งเล็ดลอดเข้าไปในนาฬิกาจนทำให้นาฬิกาบิดเบี้ยวผิดรูปในที่สุด 

เมื่ออุปกรณ์ทุกอย่างพร้อมสำหรับการสำรวจทะเลลึกแล้ว ในช่วงศตวรรษที่ 19 จึงเกิดสถิติดำน้ำใหม่ออกมามากมาย หนึ่งในนั้นคือเหตุการณ์ที่ Frederic Dumas สามารถดำน้ำพร้อมถังออกซิเจนในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนได้ลึกถึง 93.5 เมตร หลังจากนั้นจึงมีการทำลายสถิติดำน้ำมาเรื่อยๆ 300 เมตร 500 เมตร 1,000 เมตร 1,200 เมตร และลึกลงไปเรื่อยๆ 

หลายคนคงพอซึมซับประวัติศาสตร์ดำน้ำกันไปพอสมควร ทีนี้มาดูกันว่าเมื่อทุกอย่างพร้อมขนาดนี้แล้ว มีจุดสวยๆ ที่ไหนในโลกที่เหมาะกับการดำน้ำกันบ้าง 
 

Barracuda Point ประเทศมาเลเซีย
อยู่ใกล้ๆ บ้านเรานี่เอง แหล่งดำน้ำที่นี่ก็ตามชื่อเลย คือมีปลาบาร์ราคูดาอาศัยอยู่มาก ทั้งยังมีเต่าและปลาขนาดใหญ่อยู่ไม่น้อย เนื่องจากที่นี่มีกระแสน้ำอุ่นไหลผ่านจึงมีแหล่งอาหารอุดมสมบูรณ์และมีปลาชุกชุมตามไปด้วย น่าไปนะเพราะอยู่ไม่ไกลจากเมืองไทยมากนัก



Blue Corner Wall ประเทศปาเลา
จุดเด่นของที่นี่อยู่ที่กำแพงปะการังขนาดใหญ่ ทำให้เป็นที่หลบภัยของเหล่าสัตว์ทะเลตั้งแต่ตัวเล็กไปจนกระทั่งถึงตัวกลางๆ ที่นี่นอกจากเป็นแหล่งหลบภัยแล้วยังเป็นแหล่งอาหารของปลาขนาดใหญ่ ว่ากันตั้งแต่ปลาฉลาม ปลาบาร์ราคูดา ปลากระเบน และปลาที่อาศัยอยู่ตามแนวปะการัง 
 

The Yongala ประเทศออสเตรเลีย 
ยองกาลาเป็นชื่อที่ได้มาจากซากเรือดำน้ำของ Adelaide Steamship Company ที่จมลงบริเวณนี้เมื่อปี 1911 ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งดำน้ำที่ได้รับความนิยมมากเนื่องจากมีทั้งปะการังและปลาน้อยใหญ่ที่ใช้ซากเรือเป็นที่หลบภัย ทั้งยังไม่ได้อยู่ลึกเกินไป คือจากผิวน้ำลงไปไม่ถึง 30 เมตรเท่านั้น เป็นส่วนหนึ่งของเสน่ห์ที่ดึงดูดให้นักดำน้ำมาที่นี่ เพราะมีปลาชุกชุมตั้งแต่ปลาฉลาม งูทะเล ฉลามสีน้ำเงิน ไปจนถึงหมึกยักษ์ 



Thistlegorm ทะเลแดง ประเทศอียิปต์
ที่นี่ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในห้าสถานที่ดำน้ำสุดยอดของโลกก็เพราะมีซากเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ที่จมลงเมื่อช่วงต้นศตวรรษที่ 20 แล้วดูเหมือนทุกอย่างก็ยังคงอยู่ในสภาพเดิมแบบนั้น มีซากให้เราเห็นตั้งแต่มอเตอร์ไซค์ไปจนถึงอุปกรณ์ก่อสร้างทางรถไฟ จึงกลายเป็นแหล่งดำน้ำและแหล่งอนุรักษ์พันธุ์ปลาที่ใหญ่ที่สุดของทะเลแดง 
 



Great Blue Hole ประเทศเบลีซ
ตามชื่ออีกนั่นเลย คือเป็นหลุมขนาดลึกกว้างและล้อมรอบด้วยแนวปะการัง ที่นี่สามารถดำน้ำลงไปได้ลึกพอที่จะเห็นแสงจนถึงระดับประมาณ 30 เมตร หลังจากนั้นก็จะค่อยๆ มืดลง บริเวณนี้มีปลาฉลามและปลาทูน่าอาศัยอยู่มาก และว่ากันว่าถ้าลงไปลึกเกินกว่า 25 เมตรเราจะได้พบสิ่งมีชีวิตแบบดึกดำบรรพ์ที่ยังอาศัยอยู่ในนี้ ถือเป็นประสบการณ์การดำน้ำที่แตกต่าง แต่แน่นอนว่าเบลีซไม่ได้เป็นแหล่งดำน้ำที่ไปถึงได้ง่ายๆ และคุณอาจต้องมีเงินในกระเป๋าประมาณหนึ่ง