×

ขับรถบ้านลุย Road Trip สุดมันใน “ดินแดนแห่งฝุ่นทราย” ใจกลางออสเตรเลีย (ตอนต้น)

จารุวรรณ ชื่นชูศรี | Writer | 21 November 2018


 

"When I admire the wonders of a sunset or the beauty of the moon, my soul expands in the worship of the creator."... Mahatma Gandhi

ทันทีที่รู้ว่ารุ่นพี่ผู้มาใช้ชีวิตอยู่ ณ ประเทศออสเตรเลียในช่วงเวลาเดียวกันกำลังจะออกเดินทางอีกครั้งโดยมีพาหนะคือ Campervan หรือที่รู้จักกันในชื่อ “รถบ้าน” ท่องผ่านดินแดนแห่งฝุ่นทรายโดยมีจุดหมายปลายทางคือ Uluru หรือ เจ้าหินขนาดมหึมาใจกลางออสเตรเลีย จิตวิญญาณด้านการผจญภัยที่สงบนิ่งมาเป็นเวลานานก็ลุกขึ้นมาร่ำร้องให้ติดตามไปกับทริปนี้ด้วย หลังจากคิดคำนวณความเป็นไปได้ของเงินและเวลาในใจ ในที่สุดกายเนื้อก็ต้องยอมพ่ายแพ้ โบกมือลาเมืองเล็กๆ ในรัฐควีนส์แลนด์อันเป็นที่รักและบินมาสมทบกับคนอื่นๆ ที่ซิดนีย์

แม้เมื่อดูจากแผนที่แล้วการเดินทางไปยังเจ้ากองหินมหึมานี้จะมีระยะทางสั้นเสียยิ่งกว่าบินกลับไปจิบชานมไข่มุกที่ไทย แต่ที่น่าแปลกใจคือ การเดินทางโดยเครื่องบินจากเมืองใหญ่อย่างซิดนีย์หรือเมลเบิร์นไปยังสถานที่นั้นกลับมีค่าใช้จ่ายหนักหน่วงไม่แพ้บินไปต่างประเทศเลย (เฉลี่ยราว 250-450 ดอลลาร์ออสเตรเลีย) ยิ่งไม่ต้องคิดถึงการบินจากเมืองเล็กๆ ที่ราคาอาจพุ่งไปถึงราว 700 ดอลลาร์ออสเตรเลียได้ เพราะฉะนั้นวิธีการเดินทางที่ประหยัดที่สุดในการไปเยือนหินประวัติศาสตร์แห่งนี้จึงหนีไม่พ้นการขับรถ ซึ่งก็จะประหยัดเข้าไปอีกหากมีผู้ร่วมเดินทางหลายคน และใช้รถบ้านเป็นพาหนะ

รถ + บ้าน = ไปด้วยกัน ไปได้ไกล
สำหรับคนที่ยังไม่เคยเดินทางด้วยรถบ้านมาก่อน เชื่อเถอะว่าการมาเริ่มต้นที่ประเทศออสเตรเลียเป็นอะไรที่ง่ายสุดๆ แล้ว ขอเพียงสมาชิกอย่างน้อยหนึ่งคนในทริปมีใบขับขี่สากลก็สามารถเลือกจองรถบ้านผ่านทางเว็บไซต์ได้ทันที ด้วยความที่ออสเตรเลียเป็นหนึ่งในประเทศยอดนิยมของการโร้ดทริป รถบ้านให้เช่าของที่นี่จึงมีหลากหลายขนาด หลากหลายออปชั่นความสะดวกสบาย ตั้งแต่รถตู้ขนาดสองคนที่มีแค่ที่นอนกับอุปกรณ์ครัวไปยันรถขนาดใหญ่ไซซ์ครอบครัวที่มีห้องน้ำในตัว

Tip: การจองรถบ้านให้ได้ราคาที่ดีที่สุดควรลองเปรียบเทียบราคาหลายๆ เว็บไซต์ บางครั้งเช่าจากเมืองหนึ่งแล้วไปคืนอีกเมืองหนึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายถูกกว่า หรือกระทั่งระยะเวลาในการเช่า ยิ่งเช่านานยิ่งราคาถูก (ส่วนตัวพบว่าการเช่า 5 วันและ 7 วันบางทีอาจมีราคาเท่ากันเลยด้วยซ้ำ)



ค่ำไหน นอนนั่น
สำหรับคนที่ไม่เคยมีประสบการณ์เดินทางด้วยรถบ้านมาก่อนอาจเริ่มสงสัยว่า เอ๊ะ! แล้วพอตกกลางคืนฉันจะเอารถไปจอดที่ไหน อย่างที่เกริ่นไปตั้งแต่ต้นว่าออสเตรเลียเป็นหนึ่งในจุดหมายยอดนิยมของการเดินทางท่องเที่ยวแบบขับรถเที่ยว เพราะฉะนั้นจึงสามารถหา Camping Site หรือลานสำหรับจอดรถบ้านได้ในแทบทุกเมืองท่องเที่ยว ซึ่ง Camping Site ใหญ่ๆ นั้นเรียกได้ว่าแทบจะมีทุกอย่างครบครัน ทั้ง Powered Site หรือจุดจอดที่สามารถต่อไฟ ต่อน้ำเข้ารถ มีครัวกลาง ห้องนั่งเล่น ห้องน้ำ ห้องอาบน้ำ สนามเด็กเล่น สระว่ายน้ำ มินิมาร์ต ไปยันอุปกรณ์นันทนาการต่างๆ เราสามารถจอง Camping Site ล่วงหน้าได้ผ่านทางโทรศัพท์ เว็บไซต์ หรือวอล์กอินก็ได้ และยังสามารถซื้อออปชั่นเพิ่มอย่างเตาปิ้งบาร์บีคิวพลังถ่านสำหรับล้อมวงจิบเบียร์ให้ความอบอุ่นยามค่ำคืนได้อีกด้วย

Tip: ที่ออสเตรเลียมี Camping Site เจ้าใหญ่ที่ทำการตลาดคู่กับเอเจนซี่รถบ้านหลายเจ้าชื่อว่า Big 4 ซึ่งมักให้ส่วนลด 10% เมื่อนำกุญแจรถบ้านไปเช็กอิน ใครอยากประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ การเลือกพักที่ Big 4 ก็เป็นตัวเลือกที่ดีไม่น้อย



เริ่มออกเดินทางจาก Alice Spring ประตูสู่ดินแดนแห่งฝุ่นทราย

สำหรับคนที่เลือกเดินทางในเส้นทาง Northern Territory มุ่งหน้าลงใต้นั้นมักมีจุดเริ่มต้นการเดินทางอยู่ไม่กี่ที่ หากไม่เริ่มที่ Darwin ซึ่งอยู่เหนือขึ้นไปก็มักจะใช้ Alice Spring เมืองเล็กๆ ที่อยู่กึ่งกลางประเทศเป็นประตูผ่านสู่ดินแดนแห่งฝุ่นทราย ในครั้งนี้เราก็เลือกที่จะจับเครื่องบินจากซิดนีย์ไปตั้งต้นที่เมืองนี้เช่นกัน โดยมีแผนการคือรับรถที่เช่าไว้ ตุนเสบียง และให้คนขับได้พักผ่อนเต็มอิ่มก่อนเดินทางไป Uluru ในวันถัดไป



ใครที่อยากเดินทางในเส้นทางเดียวกันนี้อยากให้เตรียมตัวด้านการตุนเสบียงจากเมืองนี้เอาไว้ให้เต็มที่ โดยเฉพาะเบียร์ ไวน์ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทต่างๆ เพราะทันทีที่เดินทางพ้นจากเมืองนี้ไปสู่ Uluru แล้วเราจะไม่สามารถหาซื้อสินค้าเหล่านี้ในราคาสมเหตุสมผลได้อีก เพราะ Uluru มีบาร์ที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แต่ราคาแรงมาก หรือใครที่อยากซื้อกลับไปจิบนอนดูดาวบนรถบ้านก็จะต้องไปทำใบอนุญาตจากที่พัก แล้วนำไปซื้อที่บาร์ซึ่งราคาแพงกว่าที่ควรเป็นราว 2-3 เท่า



เรียกน้ำย่อยด้วย Simpson Gap

แม้ Alice Spring จะเป็นเหมือนแค่เมืองทางผ่านไปสู่ Uluru แต่ก็ใช่ว่าที่นี่จะไม่มีที่เที่ยวเสียเลย ในคืนก่อนที่จะลาจากเมืองแห่งนี้เราก็ได้พบนักท่องเที่ยวสามีภรรยาคู่หนึ่งที่แนะนำให้แวะไปยังแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่ห่างออกไปเพียง 18 กิโลเมตรจากที่พัก เพราะฉะนั้นในเช้าวันรุ่งขึ้นเราจึงได้มาเยือน Simpson Gap แห่งนี้

เล่าโดยย่อ เจ้ากองหินขนาดย่อมที่มีน้ำไหลผ่านตรงนี้เป็นที่อยู่ของเหล่าพันธุ์ไม้และสัตว์พื้นเมืองต่างๆ แม้สถานที่อาจไม่ได้ใหญ่โตตื่นตาตื่นใจเหมือนในภาพถ่ายที่เพื่อนร่วมทริปคาดหวัง แต่การแวะมาเยือน Simpson Gap ก็ไม่นับว่าเสียเที่ยวสักเท่าไร เพราะโชคดีได้เห็นเจ้า Black Footed Rock Wallaby สัตว์เจ้าถิ่นตัวจิ๋วที่ซ่อนตัวอย่างเขินอายอยู่ริมซอกหิน เป็นการเรียกน้ำย่อยก่อนขับรถยิงยาวกว่าห้าชั่วโมงครึ่งสู่จุดหมายที่ทำให้พวกเราต้องออกเดินทาง...กองหินแห่งประวัติศาสตร์ Uluru

เมื่อ Uluru ต้อนรับด้วยแสงสุดท้าย
หลังจากหลับบ้าง นั่งเหยียดขากระเด้งกระดอนในเบาะหลังสุดบ้าง (ขอบอกว่าใครที่เดินทางด้วยรถบ้านขนาดใหญ่ การเลือกที่นั่งหลังสุดของรถเป็นความคิดที่ทั้งถูกและผิด ข้อดีคือเราจะได้ดูวิวแบบพาโนรามาจนจุใจ ข้อร้ายคือจะรู้สึกเหมือนเล่นไวกิ้งอยู่ตลอดเวลา) ในที่สุดรถบ้านของเราก็เลี้ยวเข้าประจำยังจุด Camping Site ที่จะเป็นที่อยู่ของเราในอีก 4 วัน 3 คืนข้างหน้า



เพราะว่ามีสมาชิกร่วมเดินทางจำนวนมากกว่าที่นอนที่มีในรถ เราจึงเตรียมอุปกรณ์เต็นท์มากางเพื่อให้ทุกคนได้มีพื้นที่นอนสบายๆ หลังจากจัดการปักหลักทั้งเต็นท์ โต๊ะ เก้าอี้เรียบร้อย ยกข้อมือดูนาฬิกาเห็นว่ายังน่าจะไปทันดูพระอาทิตย์ตกดิน ไม่รอช้าเราจึงมุ่งหน้าไปยังจุดชมวิวของ Uluru ในทันที

คงไม่สนุกนักหากจะไปเที่ยวสถานที่แห่งนี้ด้วยกันโดยไม่เล่าถึงความเป็นมาของหินขนาดมหึมาก้อนนี้กันเสียก่อน Uluru หรือ Ayers Rock คือหินทรายสีแดงขนาดใหญ่ที่คาดการณ์กันว่ามีอายุตั้งแต่เริ่มก่อตัวยาวนานกว่า 550 ปี ทั้งยังเป็นแหล่งอารยธรรมสำคัญทางประวัติศาสตร์ของมนุษย์ประจำถิ่นในสมัยก่อน อันที่จริง Uluru ไม่ใช่หินเพียงก้อนเดียวที่ตั้งอยู่โดดเดี่ยวเหงาๆ แต่ด้วยความที่มีขนาดใหญ่ บวกด้วยรูปทรงที่น่าสนใจและความเป็นมาด้านประวัติศาสตร์ Uluru จึงเป็นหินที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในหมู่ก้อนหินทั้งหมดของ Uluru-Kata Tjuta National Park จนได้รับยกย่องให้เป็นหนึ่งในมรดกโลกจากทาง UNESCO

การจะเข้าไปยังเขตแดนของ Uluru ได้นั้นนักท่องเที่ยวต้องจ่ายค่าตั๋วสำหรับผ่านแดน โดยมีจำหน่ายทั้งแบบรายวันและรายปี ใครมาเป็นครอบครัวก็มีราคาแบบแพ็กเกจให้เลือกสรร หลังจากชำระค่าตั๋วเรียบร้อยเราก็มุ่งหน้าไปยังจุดชมวิวที่ใกล้ที่สุด จากจุดนี้เราจะมองเห็นหิน Uluru ทั้งก้อนในมุมที่สวยที่สุด (แต่น่าเสียดายที่พระอาทิตย์ตกจากอีกฝั่ง)

สังเกตได้ว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่หากไม่นำเก้าอี้มาก็มักจะปีนไปนั่งบนหลังคารถยนต์เพื่อเฝ้ามองความเปลี่ยนแปลงของ Uluru จนตะวันลับขอบฟ้า หลังจากเหลียวมองความสูงของรถบ้านขนาดมหึมาของเรา สมาชิกผู้ร่วมเดินทางก็ตัดสินใจลองกันดูสักตั้ง หาวิธีปีนผ่านหน้าต่างจนขึ้นไปบนหลังคาจนได้ แล้วเราก็พบว่าคิดไม่ผิดเลยที่เลือกมาชมแสงสุดท้ายในวันนี้
 

เตาะแตะไปในแหล่งประวัติศาสตร์
น่าเสียดายที่ในช่วงที่เรามาเยือน Uluru ไม่มีคืนไหนที่ฟ้าเปิดจนเห็นดาวพราวเลยสักคืน เราจึงเลือกเข้านอนเร็วเป็นพิเศษ เก็บแรงเอาไว้สำหรับการเดินชมเจ้าหินสีแดงนี้ในวันรุ่งขึ้น ที่บอกว่าเก็บแรง เราหมายความตามนั้นจริงๆ เพราะเส้นทางที่เราเลือกคือการเดินชมวนรอบหินก้อนนี้ท่ามกลางแสงแดดอันโหดร้ายเต็มๆ หนึ่งรอบ รวมระยะทางราว 10.6 กิโลเมตร กินเวลาขั้นต่ำสามชั่วโมงครึ่ง (ที่เราใช้จริงๆ เกือบห้าชั่วโมง)

ด้วยเส้นทางนี้เราจะสามารถชมหิน Uluru ได้จากทุกมุม รวมถึงจุดสำคัญๆ ที่ชาวอะบอริจินโบราณอาศัยอยู่จริงๆ ไม่ว่าจะเป็นโซนพักอาศัย โซนทำอาหาร โซนพิธีกรรม ไปจนถึงร่องรอยของภาพเขียนที่ยังหลงเหลือมาจนทุกวันนี้ ระหว่างทางมีจุดให้แวะพักหลบร้อน เติมน้ำ เข้าห้องน้ำ หรือกดปุ่มฉุกเฉินเพื่อขอความช่วยเหลือเป็นระยะๆ แต่หากใครไม่สันทัดการเดินทางไกลจะเลือกเช่าจักรยานหรือ Segway ในการชมรอบ Uluru ก็เป็นทางเลือกที่ประหยัดแรงได้เช่นกัน

ชมงานศิลปะ ชอปงานภูมิปัญญาท้องถิ่น
แม้ที่นี่ไม่มีศูนย์การค้าใหญ่ให้เดินชอปปิงเหมือนเมืองอื่นๆ ในออสเตรเลีย แต่เรามีสถานที่ที่อยากให้ทุกคนแวะมานั่นก็คือ Wintjiri ARTS + MUSEUM พิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเกี่ยวกับความเป็นมาของ Uluru ตั้งแต่อดีต ทั้งยังบอกเล่าเหตุการณ์สำคัญๆ ตลอดจนจัดแสดงภาพเขียนงานศิลปะจากฝีมือคนท้องถิ่น คนที่สนใจเรื่องประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมโบราณ ทางพิพิธภัณฑ์มักจัดกิจกรรมเสวนา โดยเชิญนักวิชาการตลอดจนคนในพื้นที่มาร่วมสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

หลังจากเดินชมงานทั้งหมดเสร็จแล้ว ก่อนโบกมือบ๊ายบายพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไปใครที่อยากเลือกซื้อของฝากจากภูมิปัญญาท้องถิ่นที่คนพื้นเมืองเป็นผู้รังสรรค์ขึ้นก็สามารถแวะซื้อหากันได้ มีตั้งแต่เครื่องดนตรี บูมเมอแรง เนกไท จานชาม หินเพนต์ ผ้าลายสวยๆ ที่เพนต์ด้วยมือ ไปจนถึงของประดับตกแต่งบ้าน แม้ราคาอาจแรงเอาเรื่องอยู่บ้างแต่เงินส่วนใหญ่ที่ได้จากการขายสินค้าเหล่านี้จะถูกนำไปสนับสนุนช่วยเหลือครอบครัวชนพื้นเมืองในการใช้ชีวิต