×

ชีวิตติด Name Label: หากเราต้องจากกัน จะต้องเขียนอะไร

สราลี อุรุพงศา | Editorial Manager | 08 October 2018


 

นอกจาก Baggage Tag (แท็กยาวๆ ที่มีบาร์โค้ดที่พนักงานเอามาห้อยกระเป๋าเรา) การแสดงตัวตนของเราฝากติดไปกับสัมภาระที่จะต้องแยกจากเราไปขึ้นเครื่องกันคนละประตูนั้นมีเพียงแท็ก (Name Label) ใบเล็กๆ ที่เราเขียนเองเท่านั้นที่จะทำให้อุ่นใจได้ แล้วแท็กใบนั้นที่เราพอจะฝากผีฝากไข้ได้มันต้องมีข้อมูลอะไรบ้างเล่า ถ้าใส่หมดเกลี้ยงแล้วชีวิตเราจะปลอดภัยมั้ย หรือมีอะไรที่ไม่ต้องใส่ก็ได้มั้ง

ปูเสื่อเลย เราจะเล่าให้อ่าน


 

เราเขียน Name Label กันไปทำไม 

นอกจากแสดงตัวตนว่านี่กระเป๋าของเรา (เผื่อใครหยิบผิดเมื่อมาถึงสายพาน) แล้ว การเขียน Name Label ยังมีประโยชน์มหาศาลกับการระบุตัวตนเมื่อกระเป๋าเจอปัญหา

ปัญหาแรกที่ใหญ่มากคือ ทันทีที่เธอกับกระเป๋าจากกัน กระเป๋าจะต่อแถวไหลไป (กับกระเป๋าอีกมากมาย) ตามสายพานจนมาเจอเลเซอร์มหัศจรรย์ที่จะดักจับหาบาร์โค้ดจาก Baggage Tag ที่ห้อยกับหูกระเป๋าเพื่อแบ่งแยกว่ากระเป๋าใบไหนต้องไปไฟลต์ไหน เมื่อเกิดข้อผิดพลาดเครื่องไม่สามารถหาบาร์โค้ดเจอ ทีนี้กระเป๋าของเราจะถูกแยกออกมาให้เจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบแบบแมนนวล ซึ่งจังหวะนี้มีเวลาจำกัดมาก เพราะถ้าเกิด Baggage Tag หายไป (สนามบินสุวรรณภูมิมีสถิติที่ Baggage Tag หายประมาณ 600 ใบต่อเดือน ซึ่งเดือนๆ หนึ่งมีกระเป๋าถูกโหลดออกจากสนามบินประมาณ 4,040,000 ใบเชียวนะ) การเขียน Name Label ที่ชัดเจนจึงสำคัญสุดๆ เพราะถ้าหาไม่เจอว่ากระเป๋านี้เป็นของใคร อยู่ไฟลต์ไหนในเวลาอันสั้น เครื่องนั้นอาจเทกออฟไปโดยที่ทิ้งกระเป๋าไว้เหงาๆ ที่เดิม

อีกเหตุผลที่ทำให้ Name Label สำคัญคือการตามหากระเป๋าของเรา พูดง่ายๆ ก็ตอนที่แลนด์ดิ้งแล้วหากระเป๋าตัวเองไม่เจอนี่แหละ จังหวะที่พุ่งตัวไป Lost and Found เธอจะต้องแจ้งข้อมูลของตัวเองให้ตรงกับ Name Label ที่เขียนติดไว้ในกระเป๋าเดินทาง เพราะฉะนั้นข้อความใน Name Label จึงเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้เธอและกระเป๋าหากันจนเจออีกครั้ง

แล้วตกลงว่าเราต้องเขียนอะไรบนนั้นบ้างล่ะ


กรอก 3 อย่าง

  1. ชื่อนามสกุลภาษาอังกฤษ

จงเขียน (หรือพิมพ์) ชื่อของตัวเองอย่างบรรจงด้วยตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งหมด ใช้หมึกที่จะไม่เปรอะเปื้อนและเลือนราง ทำยังไงก็ได้ให้อ่านง่ายและเห็นชัดที่สุด

ถามว่าเขียนแค่ชื่อนามสกุลได้มั้ย ก็ได้ แต่จะไม่ชัวร์ เพราะชื่อนามสกุลอาจซ้ำกันได้ และถ้าเธอมีแค่ข้อมูลนี้ เวลาระบบสแกนหา เปอร์เซ็นต์ที่จะแมตช์กระเป๋ากับตัวเธอก็จะน้อยลง แถมต้องใช้เวลาสแกนมากขึ้น

  1. ที่อยู่ทั้งแบบ Permanent และ Temporary เป็นภาษาอังกฤษ

ตอนซื้อตั๋ว ตอนกรอกข้อมูลสมาชิกสายการบินเธอกรอกที่อยู่อย่างไร จงกรอกด้วยชุดข้อมูลเดียวกันนี่แหละ จะได้ตรงกับข้อมูลทั้งหมดของเธอ ใส่ไปให้หมดเลยทั้งที่อยู่ถาวรในไทย ที่อยู่ชั่วคราว ถ้ามีที่พอ (เอ๊ะนี่ Name Label หรือแผ่นพับ :b) ให้ใส่ที่อยู่โรงแรมที่จะพักไปด้วยเลย และถ้าจะให้มั่นใจไปกว่านั้นให้ใส่นามบัตรของเธอเสียบเข้าไปใน Name Label เลยค่ะ อย่าได้เกรงใจ

  1. เบอร์โทรศัพท์

เธอให้เบอร์โทรศัพท์อะไรกับสายการบินก็ให้กรอกเบอร์นั้นลงใน Name Label เพราะเอาจริงๆ แล้วระบบติดตามสัมภาระ (WorldTracer) จะแมตช์ข้อมูลที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ของเจ้าของกับข้อมูลที่กระเป๋า เพราะข้อมูล 2 อย่างนี้จะไม่ซ้ำกับใครแน่นอน

กรอกเยอะขนาดนี้แล้วจะปลอดภัยไหม ปลอดภัยหรือเปล่า 

อย่าไปกลัวกับการกรอกข้อมูลส่วนตัวเยอะเพื่อใช้ในการโหลดกระเป๋าขึ้นเครื่องเลย มันจะเป็นประโยชน์ต่อการแสดงตัวตนของเธอมากกว่า (ทั้งในกรณีที่กระเป๋าหายตัวไป และเมื่อมีคนมาหยิบกระเป๋าของเธอไป) ให้กังวลอีกทีตอนที่กระเป๋าและ Name Label นี้ไปอยู่ในที่สาธารณะแล้วดีกว่า เช่น ไปงงๆ อยู่ล็อบบี้โรงแรม หรือไปยืนตั้งสวยๆ อยู่กลางสนามบิน เพราะฉะนั้นวิธีที่จะปกป้องข้อมูลของเธอคือออกจากเครื่องแล้วรีบไปรอที่สายพานเพื่อรับกระเป๋ามาไว้กับตัวให้เร็วที่สุด



แสดงความเป็นเจ้าของอย่างย้ำคิดย้ำทำ

จะโตแล้วหรือไม่โตเราก็สามารถติด Name Label กี่อันก็ได้ ติดไปเถอะ ตรงเคาน์เตอร์ตอนเช็กอินก็มี กรอกติดไปอีกทีก็ได้ ทำไมถึงต้องมีเยอะๆ เผื่อเหลือเผื่อขาดแล้วจะดีน่ะเหรอ จำที่เราเล่าตอนที่กระเป๋าไหลไปตามสายพานและไปตรงจุดสแกนเลเซอร์นั่นได้ไหม สายพานนี้ที่สุวรรณภูมิยาวถึง 22 กิโลเมตรเลยนะ! เพราะฉะนั้นกว่าจะไหลไปถึงเครื่องฯ กระเป๋าต้องผจญภัยไหลผ่านความคดเคี้ยวหนักมาก กว่าจะไปถึงเครื่องฯ Name Label อาจพับ งอ ติดขอบสายพาน หรือหายได้ (เหมือนกับ Baggage Tag นั่นแหละ) เพราะฉะนั้นจงแขวน Name Label เยอะๆ ตรงหูหิ้วทุกตำแหน่งของกระเป๋า (กันพลาดว่าหูหิ้วไหนขาดไปแล้ว Name Label ก็จะกระเด็นหายไปได้) รวมถึงแต่งตัวให้กระเป๋าเดินทางของเธอเดินเล่นบนรันเวย์สายพานได้อย่างโดดเด่นที่สุด ติดสติกเกอร์หรือริบบิ้นเพื่อยืนยันว่าอันนี้ของเธอไม่ใช่ของใคร ทีนี้ต่อให้เธอกับกระเป๋าต้องจากกันอย่างไรเดี๋ยวก็จะหากันจนเจอแน่นอน

 

ขอบคุณข้อมูลจาก: คุณพุทธพร ตามธรรม Ground Service Specialist ของ Thai Airways