×

ปีนัง อดีตที่เต็มไปด้วยสีสัน: เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์

Traveller's Companion | Traveller's Companion | 12 January 2018

คงไม่มีเมืองไหนในภูมิภาคนี้ที่มีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ชาติไทยและยังคงมีความผูกพันกันอยู่ทางด้านวัฒนธรรมแม้จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศเพื่อนบ้านของเราไปแล้วอย่างปีนัง หรือปูเลาปีนัง (Pulau Pinang) ในภาษามาเลย์ ปัจจุบันปีนังเป็นรัฐหนึ่งที่ตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศมาเลเซีย ที่ผู้คนทั่วโลกปักหมุดเป็นจุดหมายปลายทางในการท่องเที่ยว เช่นเดียวกับพลอย-เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์ ที่ร่วมออกเดินทางทำความรู้จักกับปีนังให้มากขึ้นไปพร้อมกันกับเรา

เมื่อพูดถึงเรื่องราวในอดีตที่เกี่ยวข้องกันระหว่างปีนังกับสยาม ปัจจุบันยังมีถนนชื่อโลรองบางกอก (Lorong Bangkok) ด้านข้างวัดไชยมังคลาราม หรือวัดไทยในปีนังที่มีชื่อเสียง โดยโลรอง หมายถึง ซอย ภาษาถิ่นทางภาคใต้บางที่เรียกซอยว่า ลุรง ซอยบางกอกนี้ยังมีร้านหมี่โกแรง (ก๋วยเตี๋ยวแกง) อร่อยน่าลอง มีทั้งร้านอาหาร ร้านกาแฟ ใครมาวัดไทยก็อย่าลืมมาเดินเล่นกันที่ซอยนี้ สำหรับวัดไชยมังคลารามสร้างขึ้นใน พ.ศ. 2388 โดยบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษในนามของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ผสมผสานศิลปะไทย พม่า และจีน มีพระนอนองค์ใหญ่ที่สุดของมาเลเซีย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดลุยเดชพระราชทานนามว่า พระพุทธชัยมงคล เมื่อเสด็จประพาสปีนังเมื่อ พ.ศ. 2505 และที่ปีนังยังเป็นสถานที่ที่ครอบครัวมหิดลนั่งรถไฟจากกรุงเทพฯ มาลงเรือเมื่อต้องไปประทับที่เมืองโลซานในช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศไทย นอกจากนี้ในปีนังยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกคือ Kek Lok Si หรือ Temple of Supreme Bliss เป็นวัดพุทธที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ภายในมีหอที่มีพระพุทธรูปเป็นหมื่นองค์ และวัดที่เป็นที่นิยมมาตั้งแต่อดีตคือ วัดงู (Snake Temple) ที่สร้างเมื่อ ค.ศ. 1850 เพื่อรำลึกถึงพระจีน Chor Soo Kong 

ปีนังในปัจจุบันได้ปรับโฉมกลายเป็นเมืองฮิปด้วยกราฟฟิตีหรือสตรีตอาร์ต (Street Art) โดยศิลปินชาวลิทัวเนีย Ernest Zacharevic ที่ทำให้นักท่องเที่ยวประทับใจ ถ่ายรูป และโพสต์กันในโซเชียลมีเดียเมื่อพบผลงานของเขาปรากฏอยู่ตามผนังอาคารบ้านเรือนในย่านเก่าแก่ของเมืองจอร์จทาวน์ (George Town) เมืองหลวงของรัฐปีนัง และขอพูดถึงจอร์จทาวน์สักนิด ปัจจุบันเมืองนี้ได้รับเลือกให้เป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโก (UNESCO World Heritage) เป็นเมืองท่องเที่ยวที่เป็นไฮไลต์สำคัญของปีนังที่คุณไม่ควรพลาด และยังมีถนนอาร์เมเนียน (Armenian Street) ที่มีทั้งร้านกาแฟและร้านขนมเอาใจนักท่องเที่ยวในแบบแช่มช้า (Slow Life)

ที่พลาดไม่ได้จริงๆ คือ บลูแมนชั่น (Blue Mansion) คฤหาสน์เก่าแก่แบบจีนที่สร้างขึ้นใน ค.ศ. 1880 ผู้สร้างคือเฉิงฟัตเจ๋อ (Cheong Fatt Tze) คหบดีชาวฮกเกี้ยนที่รักภรรยาคนที่ 7 สุดหัวใจ เมื่อรักมากก็ย่อมปรนเปรอมากทั้งบ้าน เครื่องแต่งกาย และของใช้ ซึ่งมากพอที่จะนำมาจัดเป็นนิทรรศการเวียนไปเป็นระยะๆ ในการก่อสร้างเจ้าสัวถึงกับระดมช่างฝีมือจากจีนมาสร้างเพื่อให้ถูกต้องตามหลักฮวงจุ้ยและการใช้งาน ตัวบ้านสีน้ำเงินยังโดดเด่นสะดุดตา โดยว่ากันว่าเป็นสีที่มาจากประเทศอินเดีย หลังสงครามบ้านนี้ตกอยู่ในกรรมสิทธิ์ของกลุ่มคนที่รวมตัวกันเพื่อบูรณะอาคารเก่าแก่ในปีนัง ที่ต้องใช้ทั้งเวลาและทุนทรัพย์ในการบูรณะ ทำให้คฤหาสน์แห่งนี้ได้รับรางวัล Most Excellent Project จาก UNESCO Asia-Pacific Awards for Cultural Heritage Conservation ใน ค.ศ. 2000 และ 2011 และได้ทำให้ตัวบ้านกลายเป็นโรงแรมเพื่อให้มีประโยชน์ในเชิงธุรกิจ เพราะตัวอาคารเก่านั้นต้องการการบำรุงอย่างสม่ำเสมอ เป็นตัวอย่างของการต่อลมหายใจสถาปัตยกรรมที่งดงาม หากสนใจเข้าชมสถานที่นี้ต้องย้ำก่อนว่าที่นี่เป็นโรงแรมและร้านอาหาร (เฉพาะมื้อกลางวันและมื้อเย็น) ไม่ได้เปิดให้บริการในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ แต่ก็เป็นที่ที่คนเที่ยวปีนังต้องมาชมให้ได้ นอกจากบลูแมนชั่นยังมีกรีนแมนชั่น (Green Mansion) ที่นักท่องเที่ยวควรไปเยี่ยมชมด้วย ที่นี่มีการจัดแสดงที่สมบูรณ์แบบ โดยจำลองบรรยากาศของคฤหาสน์ชาวจีน บาบ๋า- ย่าหยา (Baba-Nyonya) หรือวัฒนธรรมเปรานากัน (Peranakan) โดยเปิดเป็นรูปแบบพิพิธภัณฑ์ให้เข้าชม

เรื่องอาหารการกินในปีนังพูดได้ว่าไม่มีขาด มีร้านท้องถิ่นในราคาถูกกว่าบ้านเราเล็กน้อยทั้งร้านประเภทข้าวราดแกง ร้านข้าวมันไก่ ร้านอาหารมาเลย์แท้ๆ ที่มีให้เลือกมากมาย (ที่พลาดไม่ได้คือของหวานอย่างข้าวเหนียวหน้ากะทิทุเรียน) ไปจนถึงร้านอาหารชื่อดัง ได้แก่ ภัตตาคารในแมนชั่นแห่งแรกของปีนังที่มีประวัติยาวนานอย่างซัฟโฟล์กเฮาส์ (Suffolk House), ร้านอาหารมัมส์ยอนหยาควิซีน (Mum’s Nyonya Cuisine) ร้านอาหารเล็กๆ ที่คนมีชื่อเสียงระดับโลกอย่างจิมมี ชู (Jimmy Choo) ผู้ก่อตั้งแบรนด์รองเท้าหรู และผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไต้หวันที่มีชื่อเสียงอย่างอังลี (Ang Lee) ต้องมาชิมเมื่อมองหาร้านอร่อยฉบับเปรานากันแท้ๆ แบบแม่ทำ, ร้านอาหารเคบายา (Kebaya Restaurant) ที่หมายถึงชุดพื้นเมืองของสุภาพสตรีชาวอินโดนีเซีย มาเลเซีย และบรูไน ตั้งอยู่ในโรงแรมบูทีกสุดเก๋อย่างเซเว่นเทอร์เรซส์ (Seven Terraces) ของคริสโตเฟอร์ ออง (Christopher Ong) ซึ่งมีชื่อเสียงด้านรสนิยม และหากมองหาแหล่งซื้อของที่ระลึกประเภทของกิน สามารถแวะไปได้ที่ร้านซึ่งเปิดมานานกว่า 30 ปีอย่างลิมวาห์ไทย (Lim Wah Thai) ที่มีของดีเน้นคุณภาพให้เลือกครบ โดยหนึ่งในของฝากที่ขายดีสุดๆ ได้แก่ ขนมเต้าส้อสารพัดไส้ และยังสามารถซื้อเครื่องบักกุ๊ดเต๋ (Bak Kut Teh) ที่ขายเป็นกล่องพร้อมสูตรที่พิมพ์เป็นภาษาไทยมาลองทำดู 

ปีนังที่เราไปเยือนในวันนี้คือปีนังที่ผสมผสานระหว่างความรุ่งเรืองในประวัติศาสตร์เมื่อครั้งอังกฤษเข้าปกครองในคริสต์ศตวรรษที่ 18 โดยสัญญาเช่าทางท่าเรือ และชนชาติสยามที่ตั้งรกรากอยู่ที่นี่มาช้านาน ข้อมูลน่ารู้เพิ่มเติมคือ อังกฤษได้สร้างท่าเรือและฐานทัพทางด้านการค้าในนามบริษัทอินเดียตะวันออก (The East India Company) ขึ้น และครั้งหนึ่งปีนังก็เคยถูกปกครองโดยมีเจ้าเมืองไทรบุรีหรือสุลต่านรัฐเกดะห์ขึ้นตรงต่อราชสำนักสยาม ชื่อในภาษามาเลย์ของปีนังยังแปลว่า หมาก ตามที่คนสยามเรียก เพราะเกาะแห่งนี้มีต้นหมากจำนวนมากนั่นเอง นอกจากนี้ปีนังยังเป็นจุดหมายของชาวจีนฮกเกี้ยนและชาวจีนโพ้นทะเลที่มาลงหลักปักฐานสร้างเนื้อสร้างตัวก่อนที่อังกฤษจะมาสนใจพื้นที่ส่วนนี้ด้วยซ้ำ ทั้งหมดเป็นที่มาของการผสมผสานเชื้อชาติและวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเปอรานากัน (Peranakan) หรือบาบ๋า-ย่าหยา (Baba-Nyonya) ซึ่งเป็นการผสมผสานเชื้อชาติระหว่างชาวจีนกับชาวพื้นเมืองดั้งเดิมของที่นี่ โดยวัฒนธรรมนี้มีจุดศูนย์กลางที่ 3 เมือง คือ ปีนัง มะละกา และสิงคโปร์ 

เกี่ยวกับที่พัก ในปีนังมีโรงแรมหลายระดับให้เลือกเข้าพัก รวมถึงโรงแรมอีสเทิร์นแอนด์โอเรียนเต็ล (Eastern & Oriental Hotel) โรงแรมห้าดาวที่มีทั้งประวัติยาวนานและมีชื่อเสียง หากเข้าพักที่โรงแรมแห่งนี้หรือสถานที่ใกล้เคียงไม่ควรพลาดประสบการณ์ทำสปาที่ปัญญ์ปุริ ออร์แกนิก สปา (Pañpuri Organic Spa) สปาแห่งแรกนอกประเทศไทยของแบรนด์ปัญญ์ปุริที่โด่งดัง ตั้งอยู่ในโรงแรมอีสเทิร์นแอนด์โอเรียนเต็ล ปีนัง ประเทศมาเลเซีย 

นอกจากเป็นเมืองที่มีสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ ปัจจุบันปีนังได้ปรับโฉมกลายเป็นเมืองฮิปด้วยกราฟฟิตีหรือสตรีตอาร์ต (Street Art) ที่นักท่องเที่ยวนิยมถ่ายรูปและโพสต์กันในโซเชียลมีเดียเพื่อบอกเล่าประสบการณ์สุดประทับใจในเมืองปีนัง

ขอบคุณเพื่อนร่วมเดินทาง
Model: Chermarn Boonyasak 
Photographer: Amat Nimitpark 
Stylist: Isariya Indra 
Hair Stylist: Phurinutthasut Surasen 
Clothes: LYN AROUND: available at The EmQuartier Tel. 0-2003-6115, Siam Center Tel. 0-2658-1536, CentralWorld Tel. 0-2646-1446, Central Plaza Ladprao Tel. 0-2541-1508, Central Plaza Pinklao Tel. 0-2884-6471, Central Plaza Rama 2 Tel. 0-2872-4201, Central Plaza Rama 3 Tel. 0-2673-6325, Central Plaza Grand Rama 9 Tel. 0-2108-3010, Central Plaza Bangna Tel. 0-2745-6384, Central Plaza Chaengwattana Tel. 0-2836-3066, Central Plaza Rattanathibet Tel. 0-2527-7028, Terminal 21 Tel. 0-2108-0664, Mega Bangna Tel. 0-2105-1287, Paradise Park Tel. 0-2746-0101, Fashion Island Tel. 0-2947-6112, The Mall Bangkapi Tel. 0-2704-7626, Future Park Rangsit Tel. 0-2958-0058, Central Plaza WestGate Tel. 0-2194-2815, Central Plaza Salaya Tel. 0-2429-6816, Central Plaza Chiangmai Airport Tel. 0-5327-7568, Central Festival Chiangmai Tel. 0-5328-8518, Central Plaza Chiangrai Tel. 0-5202-0818, Central Plaza Ubonratchathani Tel. 0-4542-2991, Central Plaza Udonthani Tel. 0-4292-1453, Central Plaza Khonkaen Tel. 0-4328-8239, Central Plaza Chonburi Tel. 0-3300-3206, Central Festival Pattaya Beach Tel. 0-3300-2902, Central Plaza Suratthani Tel. 0-7760-2756, Central Festival Hatyai Tel. 0-7433-9826, The Mall Korat Tel. 0-4439-3396, Laemtong Rayong Tel. 0-3802-3426, Bluport Hua Hin Tel. 0-3290-5307 
Special Thanks: Pañpuri / Thai Smile: Call Center 1181 / Eastern & Oriental Hotel Penang: Tel. +(6) 04 222 2000 

เรียบเรียงจาก: “Penang...The Colourful Heritage” เพื่อนเดินทาง ฉบับ 444 ธันวาคม 2016 เรื่องโดย: เศรษฐพงศ์ เผ่าวัฒนา และบางส่วนจากบทบรรณาธิการโดยกรองกาญจน์ พงศธร